ประชาชาติ วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4104
คอลัมน์ จับกระแสตลาด
สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของพ่อแม่ต่อการเลี้ยงลูกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทุก ฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงต้องทำความเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนให้พ่อแม่ ได้เลี้ยงดูลูกอย่างดีที่สุด เพื่อให้เด็กเติบโตเป็นคนที่มีคุณภาพในสังคมต่อไป
"สุภาวดี หาญเมธี" ประธานกรรมการบริหาร "รักลูก กรุ๊ป" บอกว่า ศูนย์วิจัย รักลูกได้ศึกษาประเด็นเรื่องของครอบครัว ที่มีลูกวัย 3-9 ปีอย่างต่อเนื่อง โดยงานวิจัยชิ้นนี้ได้รวบรวมจากงานวิจัยจำนวน 4 งานในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ปี 2550-2552 ด้วยจำนวนกลุ่มตัวอย่างกว่า 2,780 ครอบครัวทั่วประเทศ พบแนวโน้มตลาดกลุ่มพ่อแม่และเด็กหลักๆ 4 ประเด็น คือ เรื่องผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กที่มาจากธรรมชาติและมีความปลอดภัย,
การ เปลี่ยนแปลง โครงสร้างอำนาจการต่อรองภายในครอบครัว, พ่อแม่มีความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกมากขึ้น, อิทธิพลของเทคโนโลยีที่มีต่อเด็ก ทำให้การเลี้ยงดูลูกวัย 3-9 ปี
และพบว่าพฤติกรรมการเลี้ยงดูลูกของครอบครัวไทยนั้นจะเน้นให้ทุกนาทีเป็นการเรียนรู้ร่วมกันเพื่อสร้างห้วงเวลาที่มีคุณภาพของครอบครัว
ด้วย สภาพเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทำให้ครอบครัวลดกิจกรรมนอกบ้านลงและเพิ่มกิจกรรมที่ ทำในบ้านแทน พื้นที่ในบ้านจึงกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญที่สุด แต่พ่อแม่ส่วนใหญ่ก็มักประสบปัญหาไม่รู้ว่าจะทำกิจกรรมอะไรกับลูกดีที่จะ สามารถสร้างให้ลูกมีพัฒนาการทางด้านร่างกายและอารมณ์ที่เหมาะกับวัย
และ แม้ว่าบรรดาลูกจะมีสิทธิต่อการตัดสินใจซื้อมากขึ้น แต่สุดท้ายพ่อแม่ก็ยังเป็นคนตัดสินใจครั้งสุดท้าย โดยจะพิจารณาจากคุณค่า (value) ของสินค้าเป็นหลัก
โดยประเด็นที่กลุ่มพ่อแม่คำนึงคือ มีประโยชน์ (58%) ไม่เป็นอันตราย (21%) คุ้มค่า ราคาไม่แพง (21%) คุณภาพดี (16%) และลูกชอบ (12%) ขณะที่เด็กจะพิจารณาจากแบรนด์ที่เพื่อนใช้ ดูจากโทรทัศน์ แพ็กเกจจิ้ง สีสันสดใสเป็นหลัก ส่งผลให้สินค้าที่ลูกยังมีอิทธิพลต่อการซื้อจึงเป็นสินค้าระดับพื้นฐานเป็น หลัก
"สุภาวดี" บอกว่า จากแนวโน้มดังกล่าวนี้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่ากลุ่มพ่อแม่ยุคนี้มีเงินในกระเป๋า น้อยลง จึงต้องเลือกซื้อสินค้าและบริการที่มีคุณค่าและมีประโยชน์มากที่สุด โดยกลุ่มพ่อแม่บางคนบอกชัดเจนว่า เลือกซื้อนมแบรนด์ที่ถูกกว่าที่เคยใช้ แต่มีคุณค่าใกล้เคียงกัน หรือหากจะซื้อหนังสือหรือของเล่นก็จะเลือกจากคุณประโยชน์เป็นหลัก
" ในวิกฤตครั้งก่อนหรือในช่วงปี 2 ปีก่อน แม้ว่าเศรษฐกิจจะไม่ดี แต่พ่อแม่ก็ยังให้ความสำคัญกับการเรียนรู้และความเป็นอยู่ของลูก แต่วิกฤตรอบนี้ภาพการตัดลดค่าใช้จ่ายในด้านการเรียนรู้และความเป็นอยู่เริ่ม เห็นชัดเจนขึ้น ซึ่งจุดนี้เป็นอะไรที่อันตรายมาก หากพ่อแม่เลือกตัดค่าใช้จ่ายในสิ่งที่มีคุณค่าแล้วส่งผลกระทบต่อการพัฒนา เด็ก"
สอดรับกับ "ขวัญชนก ภควลีธร" ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด เอชคอน (ไทยแลนด์) ผู้จัดงานมหกรรมสินค้าแม่และเด็กในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ที่บอกว่างานในปีนี้ได้รับความสนใจจากผู้ผลิตสินค้าแม่และเด็กแบรนด์ดังรวม ถึงผู้ส่งออกเข้าร่วมงานมากกว่าในครั้งที่ผ่านมา
เนื่องจากยอดขาย ผ่านช่องทางห้างสรรพสินค้าเติบโตไม่เป็นไปตามเป้าหมาย การจับจ่ายของผู้บริโภคอยู่ในภาวะชะลอตัวอย่างมาก ทำให้ผู้ผลิตต้องปรับแผนการขายผ่านช่องทางจำหน่ายพิเศษ เช่น การออกงานแฟร์ ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสการขายโดยไม่ต้องผ่านคนกลาง
ที่สำคัญยังเป็นการระบายสต๊อกสินค้าอีกทางหนึ่งด้วย
ขณะที่กลุ่มผู้ส่งออกหลายรายก็หันมาปรับแผนการขายด้วยการหันมาทดลองทำตลาดในประเทศมากขึ้น
เช่น เดียวกับ "เวิลด์เด็กซ์ จี.อี.ซี." ผู้จัดงานแสดงสินค้าที่ได้เตรียมจัดงาน Kids of the World 2009 ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าเกี่ยวกับเด็กในช่วงต้นเดือนตุลาคมนี้ ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี เพื่อช่วยผู้ประกอบการระบายสต๊อกสินค้าด้วยเช่นกัน
ขณะ ที่ "ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล"ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าเด็กอ่อน "อองฟองต์" ยอมรับว่า ผู้บริโภคยุคนี้ใส่ใจในเรื่องคุณภาพของสินค้ามากขึ้น
และเพื่อกระตุ้นการขายในปีนี้ให้เพิ่มมากขึ้น ทางไอ.ซี.ซี.ฯได้เตรียมงบฯการตลาดไว้ถึง 20 ล้านบาทสำหรับจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอย่างต่อเนื่องทั้งปี
จึงเป็นที่แน่นอนว่าตลาดสินค้าสำหรับแม่และเด็กก็ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจไม่ต่างจากธุรกิจอื่นๆ เช่นกัน