ไปอ่านเจอมาเห็นว่ามีประโยชน์เลยนำมาฝากค่ะ
ยาสมาธิสั้น ทำให้เด็กตายเฉียบพลันจริงหรือ
โดย นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร หน่วยจิตเวชเด็ก ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่มา
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01act030912...
จากการแถลงข่าวของ นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่า "การใช้ยาสมาธิสั้นมีความสัมพันธ์กับการเสียชีวิตอย่างเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุในเด็ก ซึ่งองค์การอาหารและยาสหรัฐ (USFDA) มีความวิตกกังวลกับเรื่องนี้มาก ถึงขั้นอาจห้ามใช้ยานี้" โดยอ้างถึงรายงานจากวารสารทางการแพทย์
ข้อมูลดังกล่าวสร้างความตื่นตระหนกกับผู้ปกครองจำนวนมากเพราะกลัวว่าบุตรหลานที่ทานยาอยู่จะได้รับอันตรายถึงตาย
ผู้เขียนจึงได้ไปอ่านบททวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องและขอเล่าให้ฟังดังนี้
วิจัยที่ว่านี้เป็นของ Madelyn Gould ซึ่งตีพิมพ์ใน American Journal of Psychiatry ฉบับเดือนมิถุนายน 2552 วิธีการวิจัย โดยสรุปก็คือผู้วิจัยรวบรวมข้อมูลย้อนหลังของเด็กที่ตายเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุ (unexplanied sudden death) ระหว่างปี 2528-2539 เด็กกลุ่มนี้สืบค้นต่อมาบางรายพบสาเหตุตายในภายหลัง สุดท้ายจึงเหลือเด็กที่ไม่พบสาเหตุตายจริงๆ อยู่ 564 คน
ผู้วิจัยไปหากลุ่มควบคุมมาเปรียบเทียบ โดยกลุ่มที่เลือกมาคือเด็กที่ตายจากอุบัติเหตุจราจรจำนวน 564 คน เท่ากัน
ผลการเปรียบเทียบคือกลุ่มที่ตายไม่ทราบสาเหตุ 564 คน มีอยู่ 10 คนที่มีประวัติกินยารักษาโรคสมาธิสั้นในกลุ่ม Stimulants
ในขณะที่กลุ่มที่ตายจากอุบัติเหตุมี 2 คนจาก 564 คนที่กินยานี้
จำนวนเด็กที่กินยาของ 2 กลุ่มแม้จะต่างกันแค่ 8 คน แต่โดยทางสถิติคำนวณออกมาแล้วปรากฏว่ามีนัยสำคัญ จึงสรุปผลการวิจัยว่ายาสมาธิสั้นมีความสัมพันธ์กับการตายแบบเฉียบพลันของเด็ก
วิจัยดังกล่าวเคยสร้างความตื่นตระหนกในสหรัฐมาพักหนึ่งในช่วงที่ลงตีพิมพ์ใหม่ๆ แต่พอฝรั่งตั้งสติกันได้ทุกอย่างก็สงบ
สิ่งที่ทำให้วิจัยดังกล่าวอาจไม่เป็นที่เชื่อถือนักเป็นเพราะวิธีการศึกษาที่ใช้การย้อนหลังไปเก็บข้อมูลในอดีต (Retrospective) ซึ่งอาจมีความคลาดเคลื่อนจากการจำผิดจำถูก (Recall bias) ได้สูง และที่สำคัญที่สุดคือตรรกะของผลที่ได้ เพราะการบอกว่า "เด็กตายมีประวัติกินยาสมาธิสั้น" ไม่ได้แปลว่า "เด็กกินยาสมาธิสั้นแล้วจะตาย"
กรณีวิจัยของ Gould นั้นสามารถสรุปผลได้เพียงว่าเด็กที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุนั้น มีคนที่กินยาสมาธิสั้นเยอะกว่าเด็กทั่วไป ซึ่งถ้าจะโต้แย้งกันจริงๆ แล้ว เด็กกลุ่มนี้อาจจะกินอย่างอื่นเยอะกว่าเด็กทั่วไปด้วยก็ได้ เช่น กินขนมถุง กินองุ่น กินเกาลัด กินกล้วยทอด ฯลฯ (แต่คงไม่กินทุกอย่างเหมือนนักการเมืองหรือผู้บริหารบางองค์กร) เพียงแต่ผู้วิจัยไม่สามารถเก็บข้อมูลได้ (เพราะคงไม่มีใครถามได้ครบว่าเด็กกินอะไรบ้าง)
แล้วคิดง่ายๆ ว่าถ้าวิจัยของ Gould เป็นจริง อัตราตายเฉียบพลันที่ได้จากวิจัยนี้คือ 1.8% ถ้านำไปคำนวณต่อเทียบกับปริมาณเด็กที่ใช้หรือเคยใช้ยานี้ซึ่งมีจำนวนมหาศาลทั่วโลก เราคงได้เห็นเด็กล้มตายกันเป็นเบือมาตลอด 50 ปีที่มียานี้ใช้มา
ซึ่งตรงข้ามกับความจริงที่เกิดขึ้นอย่างสิ้นเชิง
วิธีหาคำตอบว่ากินยาสมาธิสั้นแล้วตายจริงไหมที่ดีกว่าการศึกษาที่ อย.นำมาอ้างนั้นที่จริงมีคนทำมาก่อนแล้วเป็นคณะผู้เชี่ยวชาญที่ USFDA เชิญมาเป็นกรรมการ แถมยังตีพิมพ์ออกมาก่อนวิจัยของ Gould ซะด้วยซ้ำ
โดยข้อสรุปสำคัญที่สุดจากกรรมการชุดนั้นในปี 2550 ก็คือจากการติดตามเด็กที่ทานยาสมาธิสั้นนั้นพบว่าเด็กกลุ่มนี้ไม่ได้มีความเสี่ยงของการตายเฉียบพลันแตกต่างไปจากเด็กปกติแต่อย่างใด
(ซึ่งไม่ได้แปลว่าเด็กจะไม่มีโอกาสตายเฉียบพลัน แต่เด็กทั่วไป 100,000 คนมีโอกาสตายเฉียบพลันประมาณ 0.6-6 คน เด็กกินยาสมาธิสั้นก็โอกาสเท่ากัน)
ความตระหนกในสหรัฐเริ่มสงบลงเมื่อข้อมูลที่มีน้ำหนักมากกว่าเป็นที่รับทราบ ตัว USFDA เองก็เคยมีแถลงการณ์ตามมาว่าให้ระวังการแปลผลวิจัยของ Gould และผู้ปกครองที่มีลูกทานยาสมาธิสั้นอยู่ไม่ควรให้ลูกหยุดยาเพียงเพราะเชื่อผลวิจัยชิ้นนี้ (
http://www.medscape.com/ viewarticle/704421)
ในเมื่อต่างประเทศเขาลดความกังวลกับประเด็นนี้ไปแล้ว แต่เหตุใดทาง อย.ถึงเพิ่งนำวิจัยชิ้นนี้มากล่าว อ้างทั้งที่บทความก็ตีพิมพ์มาตั้งหลายเดือนแล้ว เหตุใดผู้บริหาร อย.จึงเพิ่งมาออกข่าวเพื่อสร้างความตระหนกกับสาธารณชน ผู้เขียนนึกย้อนเหตุการณ์ที่ผ่านมาก็ปะติด ปะต่อภาพได้ดังนี้
หลังจากที่มีการเปลี่ยนผู้บริหาร อย.ใหม่ มีเหตุการณ์ยาสมาธิสั้นขาดตลาดมาแล้ว 2 รอบ รอบละ 2-3 เดือน ครั้งแรกคือเมื่อต้นปี 2552 ครั้งต่อมาคือปลายปีคือช่วงปัจจุบันนี้ แต่ละครั้ง อย.เป็นผู้ต้องรับผิดชอบเต็มๆ เพราะทุกสถานพยาบาลต้องมาซื้อยาจาก อย.เท่านั้น ถ้า อย. บริหารสต๊อคไม่ดี โรงพยาบาลทุกที่ก็จะไม่มียาให้คนไข้ใช้
เมื่อยาขาดตลาดก็เริ่มมีกลุ่มผู้ปกครองที่เดือดร้อนร้องเรียนเข้ามาที่ อย.มีการพาเด็กสมาธิสั้นเข้าไปขอความเห็นใจให้ช่วยเหลือ แต่เมื่อยายังขาดอีกก็เริ่มมีการวิพากษ์วิจารณ์ (หรือจะเรียกว่า "ด่า" ก็คงไม่ผิด) อย.ตามสื่อต่างๆ มากมาย โดย อย.พยายามแก้วตัวว่ายายังมีทั้งที่ยาหมดลามไปทั่วประเทศแล้ว
เมื่อไม่สามารถหายากลบเสียงก่นด่าได้ทัน ยุทธวิธีที่น่าจะได้ผลก็คือทำให้ความต้องการลดลง คนจะได้เลิกเรียกร้องหายาเสียที เรื่องนี้จะดีไปกว่าการให้ข้อมูล "วิชาการ" กับสาธารณชน เราจึงได้เห็นผู้บริหาร อย.ให้สัมภาษณ์สื่อว่ายาสมาธิสั้นมีฤทธิ์เสพติดและตามมาด้วยการแถลงข่าววิจัยว่ายาทำให้เด็กตาย ถ้าทำให้คนเชื่อเรื่องนี้ได้ใครจะอยากเรียกร้องหายาอีก
ผลพลอยได้อีกอย่างก็คือ อย.จะเปลี่ยนจาก "ผู้ร้าย" กลายเป็น "พระเอก" ทันทีเพราะได้ทำหน้าที่อันยิ่งใหญ่ปกป้องสวัสดิภาพของเด็กๆ จากยาสมาธิสั้นอันชั่วร้าย
แต่พระเอกเรื่องนี้ดูจะมีวิจารณญาณในการอ่านน้อยไปสักหน่อย จึงไปเอางานวิจัยที่เขาไม่ให้ราคาแล้วมากล่าว อ้าง
ส่วนการให้ข่าวว่า USFDA กำลังพิจารณาว่าจะเพิกถอนยาชนิดนี้ยิ่งทำให้พระเอกของเราดูคล้ายจำอวดเข้าไปทุกที เพราะมีเด็กที่ทานยานี้เป็นล้านๆ คนในอเมริกา การจะระงับใช้ยานี้ต้องเป็นเรื่องใหญ่ระดับชาติ แต่ไม่ว่าผู้เขียนจะค้นหาข่าวนี้อย่างไรก็ไม่เจอ เขียนอี-เมลไปถามเพื่อนจิตแพทย์ทั้งไทย-เทศที่อยู่ในสหรัฐก็ไม่มีใครเคยได้ยินหรือแม้แต่เมื่อเดือนที่แล้วที่ผู้เขียนและเพื่อนแพทย์เดินทางไปประชุมสมาคมจิตแพทย์อเมริกันด้วยตนเองก็ไม่เห็นมีใครพูดถึง ทำไมเรื่องใหญ่ระดับชาติของสหรัฐอเมริกาแต่กลับมี อย.ไทยรู้อยู่คนเดียว?
ผู้เขียนยิ่งคิดยิ่งไม่เข้าใจว่าทำไม อย.ถึงต้องมาเปิดแนวรบอันไร้ประโยชน์ตรงปลายทางเช่นนี้?
ทำไม อย.ถึงไม่กลับไปที่จุดตั้งต้นของปัญหา แล้วทำภารกิจที่ อย.พึงกระทำ เป็นภารกิจที่ผู้บริหาร อย.ชุดก่อนหน้านี้ก็ทำได้ดีมาตลอดคือจัดซื้อยามาให้พอเพียง แล้วก็ขายยาให้สถานพยาบาลต่างๆ ไปจ่ายให้คนไข้ สถานพยาบาลส่งยอดมาก็ไปเตรียมซื้อยามาไว้ขายในรอบต่อไป ฟังดูก็เป็นงานที่แสนจะง่ายและตรงไปตรงมา
หรือเพราะว่าที่นี่เป็นองค์กรขนาดใหญ่ มีการซื้อการขายวงเงินมหาศาล มีเปิดการประมูล มีการเปิดซอง มีการเซ็นเอกสารเปิดออเดอร์ มีนักการเมืองมาเกี่ยวข้อง หรือมีอะไรสารพัดที่ทำให้ท่านทำงานกันตรงไปตรงมาไม่ได้
ถ้าทำไม่ได้จริงๆ ก็ให้คนอื่นที่เขาทำได้มาทำแทนเถอะ อย่ามัวแต่เล่นเกมโดยจับเอาประชาชนเป็นตัวประกันอย่างนี้ต่อไปอีกเลย