|
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต |
|
|
วันนี้ (4 ก.ย.) นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รอง นายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีผลการจัดอันดับโดย World Economic Forum (WEF) - The Global Information Technology Report 2013 ระบุระดับคุณภาพการศึกษาไทยอยู่ในลำดับที่ 8 ในภูมิภาคอาเซียน โดยรองจากประเทศเวียดนาม และกัมพูชาว่า ที่ผ่านมาการศึกษาไทยได้ถูกประเมินในระดับนานาชาติหลายครั้ง และก็เห็นได้ว่าผลการประเมินในระดับนานาชาตินั้นเรายังทำได้ไม่ดีจริง เพราะฉะนั้น แม้ว่าผลที่ออกมาอาจไม่ตรง 100% ว่าประเทศไทยอยู่ลำดับนั้นจริงหรือ แต่อย่างน้อยผลมันบอกได้ว่าการศึกษาของเรามีปัญหาเยอะและเราจะต้องช่วยกันทำ อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ตนย้ำว่าการที่จะยกระดับคุณภาพการศึกษาได้ของสำคัญอยู่ที่หลักสูตรและคุณภาพ ผู้สอน ถ้าหลักสูตรดี คุณภาพผู้สอนดี รู้ว่าจะสอนอะไร สอนอย่างไร ตรงนั้นเราพัฒนาได้แน่นอน ก็ขอให้เน้นความสำคัญสองจุดนี้ เชื่อว่าสามารถไล่ตาม และแซงหน้าประเทศต่างๆ หลายประเทศได้ “เราเห็นได้ว่าผลการ ประเมินระดับนานาชาตินั้นเรายังทำได้ไม่ดีหรอก ขณะที่บางประเทศยกตัวอย่างเวียดนาม ซึ่งเพิ่งเข้ารับการทดสอบคณิตศาสตร์ระดับนานาชาติ ก็ยังดูว่าเขาก็ไปได้ดีกว่าเราเยอะ เพราะฉะนั้นเราจะอยู่และคิดว่าเราดีแล้วคงเป็นไปไม่ได้ เรายังไม่ดีแน่นอน ต้องทำต่อไป” นายพงศ์เทพกล่าว นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า โดยส่วนตัวเข้าใจว่ารายงานของ WEF จะประเมินโดยวิเคราะห์ระบบการศึกษาในฐานะของการผลิตกำลังคน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ มองการศึกษาว่าเป็นการลงทุนอย่างหนึ่งเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นจะมีการเปรียบเทียบเม็ดเงินที่ใช้ลงทุนและผลที่ได้รับกลับมา ซึ่งประเทศไทยมีสัดส่วนการลงทุนด้านการศึกษาต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือจีดีพี ที่สูงแต่ได้ผลตอบแทนที่ต่ำ เลยทำให้อันดับอยู่ต่ำกว่าประเทศที่ลงทุนต่อจีดีพีต่ำกว่า แต่ได้คุณภาพที่สูง ทั้งนี้ เข้าใจว่า WEF จะมอง 3 ส่วนหลัก ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อการผลิตกำลังพลที่มีคุณภาพ ประเด็นแรก คือ มองที่การศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งปัจจัยสำคัญในการชี้วัดความสำเร็จคือคุณภาพและสมรรถนะของครู ในส่วนของประเทศไทยมีการลงทุนเกี่ยวกับบุคลากรที่สูงโดยเฉพาะเงินเดือน แต่ไม่สัมพันธ์กับคุณภาพของการศึกษาที่ได้รับกลับคืน ซึ่งตรงนี้สอดคล้องกับผลการวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ รมว.ศึกษาธิการ ให้ความสำคัญมีนโยบายที่จะเพิ่มคุณภาพและสมรรถนะของครู รวมทั้งปรับการประเมินครู ให้เป็นการประเมินที่สัมพันธ์กับคุณของผู้เรียน ประเมินจากผลการสอนจริง ส่วนที่ 2 น่าจะดูจากทักษะของนักเรียน โดยให้ความสำคัญกับทักษะในศตวรรษที่21 โดยหลักประกอบด้วย 3 สมรรถนะหลัก คือ สมรรถนะทางด้านการคิด สมรรถนะทางด้านภาษา และสมรรถนะทางด้านไอซีที อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน สพฐ.พยายามที่จะเติมคุณลักษณะในศตวรรษที่ 21 ให้แก่นักเรียนอยู่ ส่วนที่3 การประเมินของ WEF น่าจะประเมินจากอัตรากำลังคนทางด้านอาชีวะ ซึ่งเป็นกำลังคนที่สำคัญมาในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศแต่ผู้เรียนสายอาชีวะ ของไทย ยังมีจำนวนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น และคุณลักษณะของผู้เรียนสายอาชีพก็ยังไม่ถึงระดับอินเตอร์เนชันนัล เพราะฉะนั้นจุดบกพร่องทั้ง 3 เรื่องนี้ของไทย โดยเฉพาะในเรื่องอัตรากำลังคนในสายอาชีวะ ทั้งนี้จะมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของ สพฐ.นำผลการจัดอันดับมาศึกษาวิจัย เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาต่อไป ด้าน รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ข้อมูลของ WEF มีความน่าเชื่อถือระดับหนึ่งอยู่แล้วและจากข้อมูลนี้ น่าจะทำให้ประเทศไทยเกิดการตื่นตัวว่าทำไมการจัดการศึกษาของเราถึงแพ้ประเทศ กัมพูชา ซึ่งเท่าที่ตนได้ศึกษาประเทศในกลุ่มอาเซียนพบใน 4-5 ปีที่ผ่านมาพบว่า ส่วนใหญ่จะเข้ามาศึกษาข้อมูลต่างๆ ในประเทศไทย และนำความรู้ต่างๆ กลับไปพัฒนาประเทศ ขณะที่ปัญหาการศึกษาของไทยเดินหน้าไปแทบทุกวัน แต่กระบวนการแก้ปัญหายังคงเดินถอยหลัง ติดหล่ม ไม่มีความต่อเนื่อง นโยบายเปลี่ยนบ่อยทุก 6 เดือน ไม่มีความต่อเนื่อง “อย่าง ที่เห็นว่าปัญหาการศึกษาของเรายังย่ำอยู่ที่เดิม เหมือนติดหล่ม เช่น ตอนนี้เรามีปัญหาเด็ก 1.6 ล้านคนอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นปัญหาเดิมที่เราพยายามแก้มาเมื่อ 20 ปีที่แล้ว แสดงให้เห็นว่ากลไกทางด้านการศึกษาของเราตายซาก นโยบายเปลี่ยนบ่อย ตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ก็เปลี่ยนบ่อย ขณะที่นโยบายด้านการศึกษาของประเทศเพื่อนบ้าน มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และมีเป้าหมายอยู่ที่เด็กและเยาวชน ซึ่งหากจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ รัฐบาลจะต้องดูแลเรื่องปัญหาเยาวชนให้มากขึ้น รวมถึงอาจจะต้องมีการกำหนดไว้ในกฎหมายเพื่อให้เป็นการบังคับไปในตัว โดยไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนเข้ามาจะต้องเดินหน้าพัฒนาการศึกษาให้เกิดความต่อ เนื่อง” รศ.ดร.สมพงษ์กล่าว ขณะที่ นายแทนคุณ จิตต์อิสระ ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเป็นห่วงกรณีองค์กรระหว่างประเทศจัดลำดับการศึกษาในอาเซียนไทยอยู่ อันดับ 8 อยากให้กระทรวงศึกษาธิการตื่นตัว กระตือรือร้นในการแก้ปัญหาสร้างการวิเคราะห์ คิด สังเคราะห์ แต่รัฐบาลนี้ไม่กระตุ้นให้เด็กใส่ใจการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากใช้ประชานิยมแจกแท็บเล็ตให้กับเด็ก ป.1 ที่มีผลวิจัยแล้วว่าไม่เหมาะที่จะใช้เพราะจะทำให้สมาธิสั้น อีกทั้งยังมีการเปลี่ยน รมว.ศึกษาธิการแล้วถึง 4 คน จึงขอเรียกร้องให้นายกและรมว.ศึกษาธิการ เอาใจใส่กับการศึกษาในทุกมิติ เพราะขณะนี้เยาวชนติดอันดับสองตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรของเอเชีย นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการยังบังคับให้บุคลากรรวมถึงนักเรียนไปอมรมทางพุทธศาสนากับ วัดธรรมกาย ที่ชาวพุทธมีความคลางแคลงใจต่อบทบาทของวัดแห่งนี้ และยังมีคำถามว่ามีประโยชน์ทับซ้อนเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคดี ก็มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับวัดดังกล่าว ทั้งนี้ตนอยากให้รัฐบาลทบทวนเรื่องการกระจายการศึกษาอย่างทั่วถึงเป็นธรรม เหมือนที่พรรคประชาธิปัตย์ทำมากกว่าการทำประชานิยม ไม่เช่นนั้นจะส่งผลเสียในระยะยาว
http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000111318
|