เว็บทั้งหมดจะย้ายไปที่ www.2pasa.com แล้วนะครับ ตามไปที่นั่นได้เลย
หน้าต่างแห่งโอกาสทองของการเรียนรู้ หรือ Window of Opportunity คือ การที่สมองมีช่วงเวลาที่เป็นโอกาสทองในการวางพื้นฐานการเรียนรู้ แต่ละเรื่องแตกต่างกันไป เป็นช่วงเวลาที่ประตูการเรียนรู้ในสมองเปิดกว้างเต็มที่ ถ้าเด็กไม่เรียนรู้ในช่วงเลานี้ การพัฒนาให้เต็มศักยภาพจะทำได้ยาก เพราะผ่านช่วงเวลาที่ดีที่สุดของการเรียนรู้เรื่องนั้นๆไปแล้ว เช่น การเรียนภาษาที่สอง เด็กจะเรียนรู้และพัฒนาการใช้ภาษาที่สอง โดยเฉพาะสำเนียง และโครงสร้างประโยคได้อย่างง่ายดายภายในอายุ 7 ขวบ ถ้าหลังจากช่วงโอกาสนี้ ความสามารถจะลดลง แม้หน้าต่างแห่งโอกาสนี้จะเกิดขึ้นตามวัยของเด็ก แต่เด็กจะไม่สามารถเปิดหน้าต่างเองได้ คุณพ่อคุณแม่คือ คนสำคัญที่จะต้องคอยสังเกต และคอยแง้มประตูแห่งโอกาสนี้ให้กับลูก เพื่อเบิกทางให้เขาก้าวไปสู่ความสามารถเฉพาะ ของตนเองในแต่ละด้าน ซึ่งหากเวลาล่วงเลยไปโดยไม่ได้รับการใส่ใจ หน้าต่างแห่งโอกาสจะค่อยๆปิดตัวลง และจะไม่หวนกลับมา (Enfa Smart Club. 2552 : 8) ซึ่งสอดคล้องกับ (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. 2553. เปลี่ยนพ่อแม่ยุคใหม่ เป็นครูสอนภาษาแก่ลูก) ที่ว่า นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน พบว่า ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศของมนุษย์ คือ แรกเกิด -7 ปี เนื่องจากเป็นช่วงที่สมองมีความสามารถพิเศษบางประการ ที่ช่วยให้การเรียนรู้เกิดขึ้นได้เร็วกว่าการมาเรียนภาษาที่สองเมื่อโตแล้ว
ดร.แพทริเซีย คัห์ล (Dr.Patricia Kuhl) แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน หนึ่งในทีมวิจัยกล่าวว่า การค้นพบเกี่ยวกับความมหัศจรรย์ของสมองเด็ก ที่สามารถเรียนรู้ภาษาได้มากกว่า 1 ภาษาตั้งแต่ช่วงแรกเกิด -7 ปีนี้ ด้วยรูปแบบเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละภาษา นักวิจัยค้นพบว่า เด็กทารกแรกเกิดมีความสามารถในการจำแนกความแตกต่างของเสียงเหล่านั้นได้ทั้งหมด แต่ความสามารถนี้จะเริ่มด้อยลงเรื่อยๆ เมื่อเด็กอายุมากขึ้น
พร้อมกันนี้ ดร.คัห์ลยังได้ยกตัวอย่างชาวอาทิตย์อุทัย ที่ไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างเสียง L กับเสียง R ของภาษาอังกฤษได้ ดังนั้น การออกเสียงคำว่า rake และ lake ของคนญี่ปุ่นจึงยากที่จะฟังให้แตกต่างกัน
เมื่อทีมนักวิจัยได้ทำการพิสูจน์เรื่องนี้กับเด็กอายุ 7 เดือนในโตเกียว และเด็กอายุ 7 เดือนที่อาศัยอยู่ในซีแอตเติล กลับพบว่า เด็กทั้งสองคนสามารถจับความแตกต่างของเสียง R และ L ได้ดีพอๆ กัน แต่เมื่อทำการทดสอบอีกครั้งเด็กมีอายุ 11 เดือนกลับพบว่า การจำแนกความแตกต่างระหว่างเสียง R และ L ของเด็กญี่ปุ่นด้อยลงอย่างมาก ช่วงแรกเกิด - 6 เดือนแรก เป็นช่วงที่สมองมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และหนึ่งในการพัฒนาเหล่านี้ก็คือ การสร้างโครงสร้างทางภาษาที่เหมาะสมสำหรับเด็ก ดังนั้น เด็กทารกสามารถเรียนรู้ภาษาได้มากกว่า 1 ภาษาโดยไม่จำเป็นต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด (แตกต่างจากผู้ใหญ่หลายๆ คนที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับภาษาที่สอง)
อย่างไรก็ดี เพื่อให้สมองของเด็กซึมซับภาษาใหม่ลงไป จำเป็นต้องเปิดโอกาสให้เด็กได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้เลี้ยงร่วมด้วย จะหวังพึ่งแต่ซีดีประกอบการเรียนรู้ หรือทีวีเพียงอย่างเดียวนั้นคงไม่สามารถทำได้ วิธีง่ายๆ ที่จะใช้สอนทารกก็คือการพูดกับเขา (พูดทั้งภาษาแม่ และภาษาที่สอง หรือสามกับเด็ก) และการสร้างสภาพแวดล้อมแบบสองภาษาจะทำให้สมองของเด็กมีความยืดหยุ่นได้มากกว่าด้วย โดยเฉลี่ยแล้ว เด็กที่เติบโตมากับสภาพแวดล้อมแบบสองภาษา หรือแม้จะแค่ภาษาแม่ภาษาเดียวก็ตาม จะเริ่มหัดพูดได้ในช่วงอายุประมาณ 1 ขวบเป็นต้นไป และอาจสามารถพูดได้ 50 คำเมื่ออายุ 18 เดือน
ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองเด็กได้เคยกล่าวไว้ว่า ด้วยความรู้และข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจพูดได้ว่า ไม่มีอะไรในจักรวาลนี้ที่จะมีความมหัศจรรย์และซับซ้อนมากเท่ากับสมองของมนุษย์? โดยเฉพาะสมองของลูกน้อย ซึ่งจะมีพัฒนาการที่สำคัญอยู่ 2 ช่วงใหญ่ๆ คือ ช่วงแรก สมองลูกจะมีการพัฒนาตั้งแต่ลูกยังอยู่ในครรภ์แม่ โดยเซลล์สมอง จะมีการพัฒนาเชื่อมต่อ ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานขั้นพื้นฐานทางด้านร่างกาย การกิน การขับถ่าย การเต้นของหัวใจ และการตอบสนองต่อความรู้สึก หรือปฏิกิริยาทั่วไป ส่วนพัฒนาการของสมองลูกในช่วงที่สอง คือ ตั้งแต่ลูกน้อยแรกเกิดไปจนถึงอายุ 3 ปี ซึ่งช่วงนี้จะเป็นช่วงที่เซลล์สมองเจริญเติบโต และขยายเครือข่ายออกไปอย่างรวดเร็ว มีพัฒนาการสำคัญในการทำหน้าที่ควบคุมดูแลด้านการเรียนรู้ ความคิด จินตนาการ รวมถึงควบคุมและมีผลต่อความฉลาด และพัฒนาการในทุกด้าน
ซึ่งจากผลวิจัยพบว่า ลูกน้อยแรกเกิดมีน้ำหนักสมองประมาณ 340 กรัม หรือประมาณ 30 – 40% ของผู้ใหญ่และจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 1,000 กรัม เมื่อเข้าสู่ขวบปีแรก นอกจากนี้เส้นใยประสาทในสมองของลูกจะมีการขยายวงจรเครือข่าย มีการพัฒนาและเจริญเติบโตอยู่ตลอดเวลา จนอายุประมาณ 3 ปี สมองของลูกจะมีน้ำหนักประมาณ 80% ของผู้ใหญ่ ซึ่งหลังจากนั้นสมองก็จะไม่พัฒนารวดเร็วรุดหน้าเหมือนช่วงแรกเกิด – 3 ปี ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาสมองลูกน้อย โดยเฉพาะลูกวัยแรกเกิดขึ้นไป ซึ่งถือเป็นช่วงโอกาสทองของการพัฒนา และเสริมสร้างศักยภาพสมองอย่างเต็มที่ (แผนกลูกค้าสัมพันธ์ มี้ด จอห์นสัน. 2551 : 8)
ยูทูเบบี้
Comment
© 2024 Created by ผู้ใหญ่บิ๊ก. Powered by
You need to be a member of หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ to add comments!
Join หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้