เมื่อวาน (23 มิ.ย. 2009) เเวะไปหาหมอประจำตัวของลูกชายมาอีกเเล้ว เนื่องจากเมื่ออาทิตย์ที่เเล้ว (14 มิ.ย. 2009) ลูกชายเริ่มเป็นหวัด คัดจมูก ไอเเห้งๆ เหมือนจะมีไข้ ...กลัวเป็นไข้หวัดสายพันธ์ใหม่ ก็เลยไปตรวจซะ ...... อาทิตย์นึงผ่านไปหวัดก็ไม่หายซักที กลับมีนำ้มูกมากขึ้น + ไอมีเสมหะมากขึ้น
คุณหมอส่องจมูก เเล้วพบว่ามีนำ้มูกเหนียวๆ ข้นๆ ในโพรงจมูกมาก ก็เลยอยากให้ X-Ray ดู ปรากฏว่าพบนำ้มูกอยู่ในโพรงไซนัสข้างซ้ายเป็นจำนวนมาก หมอเเทงว่าเป็น 'ไซนัส' ครับท่าน
ลูกชายเลยต้องทานยาเพียบ โดยเฉพาะยาเเก้อักเสบที่ต้องทานนานกว่าเป็นหวัดปกติมาก + คุณเเม่ต้องเรียนรู้วิธีล้างจมูกด้วยนำ้เกลือ (เค็มปี๋) เพื่อเอานำ้มูกเหนียวๆออกจากโพรงไซนัส ด้วยการฉีดนำ้เกลือ 15cc ผ่านรูจมูกน้องทีละข้าง โดยน้องต้องกลั้นหายใจ เพื่อนำ้เกลือจะได้พานำ้มูกเหนียวๆออกมาจากจมูกอีกข้างนึง ต้องล้างจนกว่านำ้มูกจะใส ถึงเปลี่ยนข้างได้.... ลูกน่าสงสารมากๆ เก่งจริงๆค่ะ น้องไม่บ่นเลย อยากหายไวๆ ประมาณกลัว .... ก็ดีค่ะ จมูกน้องจะได้โล่ง สบาย หายไวๆค่ะ
เเนทก็เลยเเวะมาเตือนเพื่อนๆน่ะค่ะว่า พยายามให้น้องสั่งนำ้มูก (ห้ามเก็บไว้เด็ดขาด) + สั่งเสมหะทิ้งด้วย มิฉะนั้นอาจเป็นสาเหตุของการเกิดโรคนี้ได้ ...ส่วนเด็กเล็กคงทำไม่ได้ ให้ใช้ลูกยางดูดออกเเทนก็น่าจะใช้เเทนกันได้ค่ะ
***** คุณพยาบาลได้สอนวิธีสั่งนำ้มูกที่ถูกวิธีให้ด้วยค่ะ คือให้สูดลมหายใจให้เต็มปอด เเล้วสั่งออกมาทีเดียวเลย อย่าค่อยสั่งนะคะ เพราะนำ้มูกมันจะออกมาไม่หมด *****
คำว่า ไซนัส ไม่ใช่ชื่อโรค แต่เป็นชื่อของ ช่องว่างหรือโพรงอากาศของกระดูกใบหน้าบริเวณโหนกแก้มรอบโพรงจมูก รอบตาและฐานของกระโหลกศีรษะ ถึงแม้ว่าโพรงอากาศนี้จะเป็นที่ว่างเปล่า แต่ภายในโพรงนี้จะบุด้วยเยื่อเมือกบาง ๆ ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับเยื่อบุโพรงจมูก และเจ้าตัวไซนัสนี้ไม่ใช่ช่องว่างที่ไม่มีประโยชน์ เรายังเชื่อกันว่าโพรงไซนัส มีประโยชน์คือ เป็นตัวทำให้เสียงพูดของคนเรามีความก้องกังวาน ไพเราะมากขึ้น และเป็นตัวช่วยปรับสภาพของอากาศที่หายใจเข้าไป ให้มีสภาพความชื้น, อุณหภูมิ และความบริสุทธิ์ ที่เหมาะสมกับร่างกายของเราและเนื่องจากโพรงไซนัสเป็นช่องว่าง ดังนั้น มันจึงเปรียบเหมือนกับ โช๊คอัพช่วยลดแรงกระแทกต่าง ๆ ที่จะเข้าไปทำความกระทบกระเทือนกับสมองส่วนในได้อีกด้วย แต่ในปัจจุบัน มีนักวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์บางท่านไม่เชื่อในความจริงเหล่านี้ กลับให้ความเห็นว่าโพรงไซนัสนี้ไม่มีประโยชน์กับร่างกายของมนุษย์เลย แล้วตัวท่านจะเลือกเชื่ออย่างไรดี
ไซนัสอักเสบเกิดขึ้นได้อย่างไร
ขั้นตอนการเกิดไซนัสอักเสบ มักเริ่มมาจากการอุดกั้นรูเปิดของไซนัส ทำให้การระบายของเมือกในโพรงอากาศไซนัสทำได้ไม่ดี และนำไปสู่การติดเชื้อในโพรงอากาศไซนัสต่อไป ดังนั้นผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้ หรือโรคแพ้อากาศ และปล่อยปละละเลย ไม่ทำการควบคุม ก็จะทำให้รูเปิดไซนัสอุดตัน นำมาสู่การเกิดไซนัสอักเสบตามมาได้ นอกจากนี้ ยังอาจมีสาเหตุอื่นๆที่ทำให้รูเปิดไซนัสอุดตันได้เช่น ริดสีดวงจมูก หรือเนื้องอกในช่องจมูก ดังนั้นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งเพื่อทราบว่าเป็นไซนัสอักเสบก็คือ จะต้องหาสาเหตุที่แน่ชัดว่าเกิดจากอะไรแน่ ซึ่งสามารถทำได้โดยการส่องกล้องตรวจในช่องจมูก
ขั้นตอนอื่นๆ ที่อาจนำมาสู่การเกิดไซนัสอักเสบ เช่น การมีฟันผุ โดยเฉพาะฟันบน การติดเชื้ออาจลุกลามเข้าไปในโพรงอากาศไซนัสที่โหนกแก้มได้ หรือการมีความดันสูงย้อนกลับเข้าไปในโพรงอากาศไซนัสจากการดำน้ำลึก หรือกลับตัวขณะว่ายน้ำ
ไซนัสอักเสบคืออะไร
ไซนัสอักเสบ คือการอักเสบของโพรงอากาศไซนัส โดยมักมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือเชื้อรา
อาการของไซนัสอักเสบ
- ปวดศีรษะ หลังจากผู้ป่วยมีอาการของโรคหวัดแล้ว จะมีอาการ ปวดบริเวณโพรงอากาศที่อักเสบ เช่น ปวดแก้ม, ปวดบริเวณหัวตาทั้งสองข้าง, ปวดบริเวณหน้าผาก หรืออาการปวดในกระบอกตาทั้งสองข้างอาการปวดเหล่านี้ จะเป็นอาการปวดแบบหนักๆ ตื้อ ๆ บางครั้งจะมีอาการ มึนศีรษะ
- คัดจมูก แน่นจมูก ผู้ป่วยจะเป็นตลอดเวลาถึงแม้ว่าจะทานยารักษาโรคหวัดแล้วก็ตามอาการนี้จะยังไม่หายไป บางครั้งคัดจมูกมาก จนต้องหายใจทางปาก
- น้ำมูกมีสีเขียวเหลืองไหลออกทางจมูก
- อาการไอ มีผู้ป่วยบางส่วนมักมีอาการที่กล่าะร่วมกับอาการปวด และจะมีอาการปวดมากขึ้นเมื่อผู้ป่วยก้มศีรษะลง วมาไม่มากนัก แต่จะมีอาการไอเรื้อรังเป็นเวลานาน บางครั้งอาการหวัดหายไปแต่ยังมีอาการไออยู่ และเป็นอาการไอแบบมีเสมหะขันร่วมด้วย
- เสมหะไหลลงคอมีสีเขียวสีเหลือง
- ในผู้ป่วยเด็ก มักมีอาการไม่ชัดเจนเท่าในผู้ใหญ่ แต่อาการที่น่าคิดถึงไซนัสอักเสบในเด็ก คืออาการหวัดเรื้อรัง เป็นเวลานาน ๆ, อาการไออย่างรุนแรง และลมหายใจมีกลิ่นเหม็น นอกจากนี้เด็กที่มีอาการของหูอักเสบเรื้อรังและหอบหืด ก็ควรนึกถึงโรคไซนัสอักเสบร่วมด้วย เมื่อมีอาการที่กล่าวมาควรจะทำอย่างไร
- อ่อนเพลีย
ชนิดของไซนัสอักเสบ
ไซนัสอักเสบ อาจเริ่มมาจากการเป็นหวัดธรรมดา หรือการเป็นโรคภูมิแพ้ หรือเยื่อบุจมูกอักเสบจากการได้รับสารระคายเคืองจากมลพิษ ต่อมาเมื่อมีการติดเชื้อแทรกซ้อนจากเชื้อแบคทีเรีย จึงทำให้เกิด ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ก็จะเกิดอาการอักเสบซ้ำๆ หรือมีการอักเสบเป็นระยะเวลานาน หากมีการอักเสบเกินกว่า 3 เดือน ก็จะกลายเป็น ไซนัสอักเสบเรื้อรัง ได้
การรักษาไซนัสอักเสบ
ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน
การรักษาเป็นการรักษาด้วยการใช้ยา โดยเฉพาะการใช้ยาปฏิชีวนะซึ่งจำเป็นต้องใช้ยา 7-14 วัน แพทย์อาจพิจารณายาเพื่อช่วยลอดารอักเสบ และช่วยการระบายของเยื่อเมือกจากโพรงอากาศไซนัส ซึ่งอาจเป็นยารับประทาน หรือเป็นการใช้ยาพ่นเฉพาะที่
ไซนัสอักเสบเรื้อรัง
การรักษาเป็นการรักษาด้ายการใช้ยา ร่วมกับการรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งอาจใช้การผ่าตัดด้วยวิธีผ่าตัดธรรมดา หรือการใช้บอลลูนในการรักษา
การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ
เป็นการล้างเอาคราบน้ำมูกที่อาจอุดตันรูเปิดของไซนัส ชำระล้างเอาสิ่งสกปรกและเชื่อโรคออกจากจมูกทำให้โพรงจมูกสะอาดน้ำมูกไม่ข้นเหนียว บรรเทาอาการคัดจมูก และเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่จมูก สามารถทำได้เป็นประจำทุกวันวันละ 2 เวลา เช้า เย็น ในช่วงเวลาแปรงฟันและสามารถล้างเพิ่มระหว่างวันได้ ถ้ามีน้ำมูกมากหรือคัดจมูก
ขั้นตอน
1. ดูดน้ำเกลือ (0.9% normal saline solution) ประมาณ 5 ซีซีเข้าในกระบอกฉีดยา (ที่ไม่มีเข็ม) หรือขวดยาพ่นจมูก
2. ก้มหน้าลงเล็กน้อย หายใจเข้าเต็มที่แล้วกลั้นลมหายใจไว้ อ้าปากเล็กน้อย
3. สอดปลายกระบอกฉีดยาหรือหลอดพ่นยาเข้าในโพรงจมูกข้างใดข้างหนึ่ง
4. ฉีดหรือพ่นน้ำเกลือเข้าในรูจมูกช้าๆ จนหมด (ขณะนี้ยังกลั้นลมหายใจไว้)
5. หายใจออก พร้อมสั่งน้ำมูก หากมีน้ำมูกหรือมีน้ำเกลือไหลลงคอให้กลั้วคอบ้วนทิ้ง ถ้ายังไม่โล่งก็ทำซ้ำอีกได้
6. ทำซ้ำข้อ 1 - 5 กับรูจมูกอีกข้าง
7. เก็บอุปกรณ์ไปทำความสะอาดและผึ่งให้แห้ง น้ำเกลือที่เทออกมาจากขวดแล้วเหลือให้ทิ้งไป
สำหรับในเด็ก ผู้ปกครองจะตั้งคำถามว่าจะสำลักไหม ปกติเด็กที่ยังไม่เคยล้างให้เริ่มปริมาณน้อยๆ ก่อน เช่น 1 ซีซี แล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้นก็จะไม่สำลัก
ไม่แนะนำให้เอาน้ำต้มมาผสมเกลือเพื่อจะเป็นน้ำเกลือ เพราะว่าเราไม่สามารถวัดเปอร์เซ็นต์ความเข้มข้นของเกลือได้ ถ้ามากไปจะทำให้เกิดการระคายเคืองของเยื่อบุได้
สำหรับผู้ที่ชอบว่ายน้ำ ดำน้ำหรือต้องขึ้นเครื่องบินขณะที่ป่วยอยู่ควรงดภารกิจดังกล่าวชั่วคราวจนกว่าอาการคัดจมูก ปวดแก้ม น้ำมูกมากหมดไป
ไม่อยากเป็นไซนัสอักเสบต้องรู้วิธีป้องกัน
ความจริงในโพรงจมูกของคนเรามีเชื้อโรคอยู่แล้วตามธรรมชาติ เพราะเราหายใจเข้า - ออกอยู่ตลอดเวลา และเชื้อเหล่านี้ก็จะไปติดอยู่ตามเยื่อบุต่างๆ ซึ่งในภาวะที่ร่างกายแข็งแรง หรืออวัยวะของคนคนนั้นเป็นปกติ ไม่มีจุดอ่อน (แพ้สิ่งต่างๆ) ไซนัสจะสามารถขับเชื้อโรคทั้งหลายออกมาได้ เพราะฉะนั้น วิธีป้องกันที่จะไม่ให้เป็นไซนัสอักเสบ หลักสำคัญอยู่ที่การทำร่างกายให้แข็งแรงเช่น
- ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค
- พักผ่อนให้พอ อย่าอดนอน หรือนอนดึกบ่อยๆ เพราะถ้าร่างกายอ่อนแอเมื่อไรโอกาสที่จะติดเชื้อต่างๆ ก็เกิดขึ้นได้ง่าย
- พยายามดูแลตัวเองอย่าให้เป็นหวัด เพราะผลจากการเป็นหวัดร้อยละ 2 - 5 สามารถเป็นไซนัสอักเสบได้
- กินอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบหมวดหมู่
- งดการดื่มเหล้า และสูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ หากดูแลสุขภาพและปฏิบัติตัวเองได้ครบถ้วนตามที่กล่าวข้างต้นทุกคนก็จะห่างไกลจากโรคไซนัสอักเสบแน่นอน
สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับโรคไซนัสอักเสบ
1. ไซนัสอักเสบเป็นโรคที่พบได้ทุกฤดูกาลตลอดปี โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศชื้น และเป็นได้ทุกเพศทุกวัย
2. ไซนัสอักเสบอาจจะเป็นเพียงซีกเดียว หรือจุดใดจุดหนึ่งก็ได้
3. ไซนัสอักเสบเป็นโรคเฉพาะตัวส่วนบุคคล จึงไม่ติดต่อแม้จะกินอาหารร่วมกันหรืออยู่ใกล้ชิดกัน
4. คำว่า “เฉียบพลัน” หมายความว่า เมื่อร่างกายติดเชื้อแล้วจะเกิดอาการของโรคนั้นทันที
5. การติดเชื้อไวรัส น้ำมูกหรือเสมหะจะไม่เป็นหนอง แต่ถ้าเป็นเชื้อแบคทีเรียจะทำให้น้ำมูกข้นและเป็นหนอง
6. การแยกอาการระหว่างโรคหวัดกับไซนัสอักเสบ ถ้าเป็นหวัดผู้ป่วยควรจะหายภายใน 5 - 7 วัน แต่ถ้าถึงวันที่ 5 - 6 แล้วยังไม่หายและกลับเป็นมากขึ้น เช่นไอมากขึ้น ปวดหัว ปวดแก้ม เสมหะลงคอมากขึ้นหรือบ้วนออกมาเสมหะเป็นสีเขียวข้น แสดงว่าอาจเป็นไซนัสอักเสบ ควรรีบไปพบแพทย์
7. ถ้าเป็นหวัดคัดจมูก ให้สั่งน้ำมูกทีละข้าง อย่าสูดเข้าไป เพราะด้านหลังของจมูกจะติดกับช่องระหว่างหูชั้นกลางกับหลังจมูก จะทำให้หูอื้อ และเป็นการทำให้เชื้อโรคเข้าไปสู่ไซนัสได้ง่ายขึ้น
8. บางตำรา (แพทย์) จะห้ามไม่ให้ผู้ป่วยไซนัสอักเสบว่ายน้ำในสระ เพราะสระว่ายน้ำส่วนใหญ่จะใส่คลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อโรคในน้ำ แต่ปัจจุบันสระว่ายน้ำบางแห่งมีสระน้ำเกลือ จึงไม่น่าเป็นอันตรายสำหรับผู้ป่วยไซนัส เพราะจะทำให้ผู้ชอบว่ายน้ำมีทางเลือกในการออกกำลังกาย แต่ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยที่เป็นไซนัสอักเสบระยะเฉียบพลัน
บทความโดย : นพ.สมศักดิ์ หวานกิจเจริญ
You need to be a member of หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ to add comments!
Join หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้