เว็บทั้งหมดจะย้ายไปที่ www.2pasa.com แล้วนะครับ ตามไปที่นั่นได้เลย

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ - สองภาษาดอทคอม

ทำอย่างไรให้ลูกสมองดี พ่อแม่และครูช่วยลูกได้

วันนี้บทความที่นำมาอาจจะยาวมากกกกกกไปหน่อย เเถมยังค่อนข้างวิชาการอีกต่างหาก
.... เเต่เอาเถอะค่ะ เพื่อลูกน้อยสุดเลิฟของพวกเรา
ขอให้คุณพ่อ-คุณเเม่มือใหม่ทั้งหลายเร่เข้ามาอ่านกันให้สนุกนะคะ

ENJOY! เด้อค่ะ

เเนท

***สนใจอ่าน blog อื่นๆเพิ่มเติมตามไปหาคุณพ่อน้องลูกโซ่เลยค่ะ***
http://clickkids.multiply.com/journal/item/291/291

พญ.จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ
นักวิชาการและวิทยากรอิสระ
“ทำไมลูกไม่ชอบเรียนหนังสือ ชอบเล่นเกม ดูทีวี” “ทำไมเด็กวัยรุ่นตีกัน รวมกลุ่มไปศูนย์การค้า เที่ยวกลางคืน” “ทำไมในหลายประเทศมีความรุนแรงรบราฆ่าฟันกันมาก” ทำไม ... ทำไม .... คำถามเหล่านี้คงมีอยู่ในใจพวกเราทุกคน หากวิเคราะห์สาวกันไปถึงที่มาที่ไปของปัญหาแล้ว อาจจะสรุปได้ว่า ต้นตอของปัญหาก็คือ ความบิดเบี้ยวของการพัฒนาสมองมนุษย์ ไม่น่าเชื่อว่า อวัยวะขนาดประมาณเท่ากับกำปั้น 2 ข้างของเราประกบกัน จะก่อให้เกิดเรื่องราวต่าง ๆ ทั้งทางสร้างสรรค์ และ ทำลาย ได้มากขนาดนี้ เพราะฉะนั้น เราควรมาทำความรู้จักอวัยวะที่สำคัญที่สุดของมนุษย์กัน

1. ส่วนของสมองที่ทำหน้าที่ในการเรียนรู้มีอะไรบ้าง?
“สมอง” เป็นอวัยวะสำคัญที่มนุษย์ต้องใช้ในการเรียนรู้ และแสดงถึงพัฒนาการอันซับซ้อนของวิวัฒนาการของสัตว์โลกนับมาล้านปี ตั้งแต่ยุคแรกเริ่มซึ่งมีเพียงเซลล์สิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ค่อย ๆ ก้าวหน้ามาถึงยุคสัตว์เลื้อยคลาน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และ “มนุษย์” ก็คือผลพวงของวิวัฒนาการของธรรมชาติที่ถือว่าซับซ้อนที่สุด ซึ่งปรากฏเป็นอัจฉริยภาพและความสามารถของมนุษย์ที่จะเข้าไปทำความเข้าใจกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ทางธรรมชาติ และนำมาประยุกต์ใช้ผลิตสินค้า เทคโนโลยี หรือแม้แต่ทำความเข้าใจจิตใจอันสลับซับซ้อนของตน

ความก้าวหน้าของการวิจัยสมองและระบบประสาทในปัจจุบันแบ่งการเรียนรู้ของสมองได้ 2 ระยะหลัก คือ
ระยะที่ทารกอยู่ในครรภ์มารดาจนถึงคลอด และ ระยะระหว่างคลอดจนถึงวัยรุ่น
สมองเริ่มเจริญเติบโตจากส่วนหลัง ซึ่งทำหน้าที่เรียนรู้เรื่องง่ายๆ ธรรมดาๆ และการดำเนินชีวิต แล้วค่อยพัฒนาไล่มาที่สมองส่วนหน้า ที่ทำหน้าที่คิด วิเคราะห์ หาเหตุผล ออกแบบสิ่งใหม่ๆ

องค์ประกอบสำคัญที่ทำหน้าที่ในการเรียนรู้ในสมองมนุษย์ มีดังนี้
ขอแนะนำสมองของเราทุกคนให้รู้จักกันอย่างคร่าว ๆ สมองแบ่งเป็น 4 ส่วนคือ (ก)สมองส่วนหน้า (Frontal lobe) ทำหน้าที่เสมือนผู้บริหารด้านการเรียนรู้ ความจำ การคิดขั้นสูง การวางแผน การตัดสินใจและการกำหนดทางเลือกต่าง ๆ (ข)สมองส่วนหลัง (Parietal lobe) ทำหน้าที่ในกระบวนการรับสัมผัส การรับรู้มิติ และการแก้ปัญหาบางอย่าง (ค)สมองส่วนท้ายทอย (Occipital lobe) ทำหน้าที่ด้านการมองเห็น จดจำสิ่งของ/คน รับรู้ทำความเข้าใจความหมายของข้อมูลใหม่ ๆ และทำความเข้าใจจากสิ่งที่มองเห็น (ง)สมองส่วนขมับ (Temporal lobe) อยู่ด้านข้างเหนือใบหู รับรู้ข้อมูลจากการได้ยิน ความจำบางส่วนและการพูดบางประเภท

โครงสร้างที่สำคัญ ๆ ภายในสมองของเราประกอบด้วย
(Journey into the inner world of your brain, Focus Education Australia Pty Ltd.)
1 อะมิกดาล่า (Amygdala) – มีรูปร่างเหมือนเมล็ดอัลมอนด์ อยู่บริเวณสมองส่วนกลาง (Mid brain) เป็นส่วนหนึ่งของระบบลิมบิค เป็นศูนย์กลางของ “อารมณ์” โดยเฉพาะความรู้สึกพื้นฐาน เช่น ความกลัว ความก้าวร้าวดุดัน ทำหน้าที่ในการจัดระบบข้อมูลด้านความรู้สึก เด็กวัยรุ่นจะพึ่งพาสมองส่วนนี้มากที่สุด ในขณะที่ผู้ใหญ่จะพึ่งพาสมองส่วนซีอีโอ (CEO) มากกว่า วัยรุ่นจึงแสดงออกอย่างรุนแรง และแสดงอารมณ์ออกมามากกว่าผู้ใหญ่ จึงมักมีผู้เรียกสมองวัยรุ่นว่า Emotional Brain
2 เบเซิ่ล แกงเกลีย (Basal Ganglia) – เป็นส่วนหนึ่งของระบบการให้รางวัลในสมองของเรา อยู่ลึกเข้าไปภายในสมองส่วนหน้าตรงกลาง ๆ ผู้หญิงมีสมองส่วนนี้ใหญ่กว่าผู้ชาย ทำหน้าที่เหมือนเป็นเลขานุการให้กับซีอีโอ (CEO) ของสมอง ช่วยจัดลำดับความสำคัญของข้อมูลที่รับเข้ามา ว่าจะเก็บอะไรไว้ และจะลบอะไรออกไป สมองส่วนซีอีโอ (CEO) กับสมองส่วนนี้เชื่อมโยงกันอย่างแน่นแฟ้น ทำงานเกือบพร้อมๆ กัน คือ เมื่อเส้นประสาทเชื่อมโยงกัน มันก็รีบขจัดส่วนที่ไม่ต้องการทิ้งทันที และยังมีบทบาทสำคัญในด้านพัฒนาการกล้ามเนื้อทั้งมัดเล็กและใหญ่ เด็กก่อนวัยรุ่นจึงต้องได้และมีประสบการณ์ด้านดนตรีและกีฬา เพื่อทำให้สมองส่วนนี้แข็งแรงและทรงประสิทธิภาพ
3 คอร์ปัส คัลโลซุ่ม (Corpus Callosum) – ทำหน้าที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาและความคิดสร้างสรรค์ มีลักษณะเป็นมัดของเส้นประสาทเชื่อมโยงระหว่างสมองซีกซ้ายและขวา และเส้นประสาทนี้จะยิ่งหนาขึ้นๆ และทำการจัดระบบข้อมูลได้ดีมากขึ้น เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ต้นๆ
4 พรีฟรอนทัล คอร์เท็กซ์ (Prefrontal Cortex) – เป็นซีอีโอ (CEO) ของสมอง เป็นส่วนที่สุขุมลุ่มลึก ทำหน้าที่คิดทบทวน เป็นส่วนที่มีพัฒนาการช้าที่สุด สิ่งนี้จึงใช้อธิบายได้ว่า ทำไมคนเราสามารถเริ่มเรียนรู้และทำความเข้าใจกฎเกณฑ์ต่างๆ ได้ดี ก็ต้องเข้าสู่วัยผู้ใหญ่เสียก่อน และทำไมเด็กวัยรุ่นจึงตกอยู่ในภาวะสับสนและลำบากในการตัดสินใจ ซึ่งก็เพราะสมองส่วนนี้จะเจริญเติบโตอย่างมากในช่วงก่อนวัยรุ่น เมื่อเส้นประสาทเชื่อมโยงกันมากขึ้นๆ ก็จะหดหายไปเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่
5 เซรีเบลลั่ม (Cerebellum) – เป็นส่วนของสมองน้อยอยู่ด้านหลังแถวท้ายทอย ที่เชื่อมประสานร่างกายของเรา ช่วยควบคุมสมดุล การเคลื่อนไหวของร่างกาย และยังควบคุมกระบวนการคิดของเรา ช่วยในการเรียนรู้เรื่องที่สลับซับซ้อน เช่น การคำนวณ ดนตรี และทักษะทางสังคมที่ซับซ้อน สมองส่วนนี้เปลี่ยนแปลงอย่างมากในช่วงเป็นผู้ใหญ่ และเป็นสมองส่วนเดียวที่มีการเจริญเติบโตไปจนหลังอายุ 20 ปี
6 ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) – อยู่ใกล้ ๆ อมิกดาลา อยู่ลึกเข้าไปในสมองส่วนขมับ ทำหน้าที่จัดกระบวนข้อมูลที่ปรากฎเป็นจริงรอบ ๆ ตัวเรา มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดเก็บข้อมูลจาก ความทรงจำระยะสั้น เข้าไปเก็บไว้ในระบบความทรงจำระยะยาว ซึ่งเป็นฐานการเรียนรู้ที่เราจะนำไปใช้ตลอดชีวิต
7 ก้านสมอง (Brain stem) – เป็นสมองส่วนเก่าแก่ที่สุดของมนุษย์ คือ ตกทอดมาจากบรรพบุรุษสัตว์เลื้อยคลาน (ก่อนที่จะเกิดสัตว์บก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม) มีหน้าที่หลักในการควบคุมอวัยวะต่างๆ เพื่อการมีชีวิต คือ ควบคุมหัวใจเต้น การหายใจ ฯ และยังเป็นศูนย์รวมที่รับสัมผัสต่าง ๆ จากทั่วร่างกาย (ยกเว้นการได้กลิ่น) ซึ่งบริเวณนี้จะมีส่วนของสมองที่ทำหน้าที่ “กรอง” ข้อมูลต่าง ๆ ก่อนจะผ่านเข้าไปยังสมองส่วนอื่น ๆ
8 ธาลามัส (Thalamus) – อยู่บริเวณสมองส่วนกลาง เป็นส่วนหนึ่งของระบบลิมบิค ทำหน้าที่ “กรอง"”ข้อมูลจากประสาทรับสัมผัสต่าง ๆ แล้วจัดการส่งต่อไปยังส่วนของสมองอย่างถูกต้อง เช่น เมื่อมองเห็นภาพ ข้อมูลจะส่งมาที่นี่ก่อนที่โอเปอเรเตอร์ที่ส่งต่อข้อมูลนี้ไปยังสมองส่วนรับภาพ

2. พัฒนาการทางสมองของเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา
เซลล์สมองจะถูกสร้างขึ้นอย่างมากมาย ตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์มารดา 3-6 เดือนแรก จนถึง 1 เดือนก่อนคลอด สมองบางส่วนที่ไม่จำเป็นจะถูกทำลายไป เรียกกระบวนการนี้ว่า พรูนนิ่ง (Pruning) กระบวนการเช่นนี้จะเกิดขึ้นอีกในช่วงเด็กเล็ก และอีกครั้งหนึ่งซึ่งสำคัญมากคือช่วงวัยรุ่น หากไม่เกิดการบาดเจ็บใดใด เซลล์สมองจะเกิดการเชื่อมโยงกันอย่างมากมาย กลายเป็นเครื่องจักรอันทรงประสิทธิภาพที่สุดของมนุษย์เรา
หลักการพัฒนาของเซลล์สมองที่สำคัญ คือ ต้นทุนที่ได้จากบรรพบุรุษ(พันธุกรรม) และการฝึกฝนหรือการใช้ประโยชน์ ยิ่งใช้มากก็ยิ่งเข้มแข็ง แข็งแรง มีประสิทธิภาพ ส่วนไหนที่ไม่ได้ใช้ก็ตายไป ในช่วงวัยรุ่น การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายก็มีผลต่อการพัฒนาของสมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่ควบคุมอารมณ์และความตื่นตัว/ตื่นเต้น คือส่วนลิมบิค ซิสเต็ม (limbic system)

จะสังเกตเห็นว่า วัยรุ่นต้องการพื้นที่ที่จะแสดงอารมณ์ที่รุนแรง เป็นตัวของตัวเอง เพราะสมองส่วนที่ควบคุมอารมณ์และตัดสินใจยังอยู่ระหว่างเจริญเติบโต และส่วนที่ควบคุมการคิด, วิเคราะห์, จัดอันดับความสำคัญ และตัดสินใจก็ยังเติบโตช้ากว่า วัยรุ่นจึงมักจะตีความสิ่งที่มองเห็นจากผู้อื่นผิดๆ และเป็นไปในทาง “โกรธ ก้าวร้าว” เช่นเมื่อเห็นคนกำลังกลัว กลับตีความว่า โกรธหรือสับสนอันนำมาซึ่งการท้าทายและใช้ความรุนแรงต่อกัน, หรือการที่วัยรุ่นมักตัดสินใจกระทำการที่เสี่ยง เช่น ขับรถฝ่าไฟแดง ขับรถเร็วผิดกฎหมาย ก็จะเกิดขึ้นขณะอยู่กับกลุ่มและมีการกระตุ้นอารมณ์ ดังนั้น จึงมีข้อแนะนำสำหรับผู้ที่อยากช่วยเหลือควบคุมพฤติกรรมของวัยรุ่น ว่าจะต้องใช้มาตรการที่มีผลในทันที มิใช่การคาดโทษหรือพูดถึงสิ่งที่จะเกิดผลในอนาคต ซึ่งจะไม่ค่อยมีผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของวัยรุ่นเท่าไรนัก

พฤติกรรมที่เป็นปัญหาในช่วงวัยรุ่นอีกประการคือ การมีวินัยในการเข้านอนแต่หัวค่ำและตื่นแต่เช้า การศึกษาสมองพบว่า สมองของวัยรุ่นหลั่งสารเมลาโธนิน (ที่ช่วยให้อยากนอนหลับ) ช้ากว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีการกระตุ้นด้วยแสงสีเสียง พูดง่ายๆ ก็คือ วัยรุ่นรับรู้เวลากลางคืนช้ากว่าผู้ใหญ่นั่นเอง

กระบวนการขจัดสมองบางส่วน (Pruning) เป็นกระบวนการสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ และการเกิดโรคบางชนิด (เช่น อาการกระตุก ขยิบตาบ่อยๆ โรคจิตเภทฯ) เนื่องจากสมองต้องจำกัดขอบเขตที่จะเก็บรับข้อมูลสำคัญเอาไว้ จึงจำเป็นต้องขจัดบางส่วนที่ดูเหมือนไม่จำเป็น หรือจำเป็นน้อยกว่าทิ้งไป

นอกจากนี้ สมองจะเติบโตเต็มที่เมื่ออายุ 25 ปีขึ้นไป ดังนั้นการที่กฎหมายอนุญาตให้เด็กขับขี่รถยนต์ได้ตั้งแต่อายุ 15 หรือ 18 ปี หรือให้มีสิทธิลงเสียงเลือกตั้งได้ ก็ต้องคำนึงถึงศักยภาพของสมองวัยรุ่นที่ยังอยู่ระหว่างเจริญเติบโต และมีความเสี่ยงหลายอย่าง เช่น มีความเสี่ยงต่อการขับขี่รถที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ หรือ อาจถูกชักจูงให้ลงเสียงเลือกตั้งในลักษณะที่ไม่เหมาะสมได้ง่าย เช่น การชักจูงด้วยการแสดงอารมณ์มันสะใจ หรือไม่ยี่หระ ซึ่งสอดคล้องกับอารมณ์ของวัยรุ่นที่ชอบท้าทายผู้ใหญ่

3. หน้าที่สำคัญของสมองที่ทำให้มนุษย์เรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้
ศักยภาพของสมองที่ทำให้มนุษย์เรียนรู้สิ่งต่างๆ และตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่เด็กจนโตเป็นผู้ใหญ่ แต่ละคนจะแตกต่างกันออกไปตามสภาพการพัฒนาและพื้นฐานการเรียนรู้ ก็คือ
(ก) การสร้างจินตนาการจากสิ่งที่มองเห็น (Creative Visualization) -ความสามารถในการมองเห็นของเรามีมากมายหลายด้าน ตั้งแต่การสังเกตเห็นรายละเอียดของสิ่งรอบตัว, ประมวลสิ่งที่มองเห็นเชื่อมโยงกับการเรียนรู้ภาษา/สัญลักษณ์ แปลออกเป็นรูปแบบต่างๆ, นำรูปแบบนี้เก็บเป็นข้อมูลไว้ในความทรงจำ และเมื่อถึงเวลาจำเป็นก็สามารถดึงความทรงจำที่เก็บไว้ออกมาใช้ประโยชน์ได้
(ข) การตอบสนองทางอารมณ์ –นักวิจัยสมองตรวจพบส่วนของสมองที่ดูแลเรื่องอารมณ์ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็กทุกอายุ ลองสังเกตตัวเองในเวลาที่เราผ่านพ้นสถานการณ์วิกฤตมาได้ เราจะจดจำได้เฉพาะสิ่งที่สร้างความเจ็บปวดหรือความสุข และลืมเลือนเรื่องอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นขณะอยู่ในภาวะนั้นๆ จึงถือว่า “อารมณ์ ความรู้สึก” เป็นรากฐานสำคัญของการทำงานของสมอง อาทิเช่น เมื่อเกิดเพลิงไหม้ ต้องหนีเอาตัวรอด แม้มีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมายระหว่างนั้น ภายหลังผ่านพ้นมาแล้ว เราจะมีความทรงจำเก็บไว้เพียงบางเรื่อง เช่น จำได้เฉพาะช่วงที่เรากระโดดหนีไฟ หรือ จำหน้าของเพื่อนบ้านที่เข้ามาช่วยเหลือเราได้เพียงคนเดียว
(ค) การวางแผนและตัดสินใจ -สมองส่วนหน้าของเรามีความสามารถในการคาดการณ์สิ่งต่างๆ เพื่อให้เราตัดสินใจในการดำเนินงานตามแผนหรือเป้าหมายที่วางไว้ และต้องได้รับการฝึกฝนด้วยการคิด,วางแผน, ตัดสินใจเรื่องต่างๆ ถ้าไม่ฝึกไม่คิด ไม่ทำงาน ปล่อยชีวิตเรื่อยเปื่อยไม่มีเป้าหมาย ไม่วางแผน ไม่ตัดสินใจ สมองส่วนนี้ก็จะค่อยๆ ฝ่อไปเอง แม้พยายามมารื้อฟื้นพัฒนาขึ้นใหม่เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ก็จะทำได้ยากมาก
(ง) ภาษาและการคำนวณ -พัฒนาการการพูดและภาษาตั้งแต่เด็กๆ ของเรา จะมีต่อเนื่องมาเกือบตลอดชีวิต การสื่อสารกันทุกวันทำให้ระบบการเชื่อมโยงของเซลล์สมองดำเนินอยู่ต่อเนื่อง ไม่ตายไป และสมองไม่เสื่อมก่อนวัยอันควร การคำนวณก็เช่นเดียวกัน คนทุกคนจะมีความสามารถด้านการคำนวณใกล้เคียงกัน เพียงแต่คนจำนวนมากผลักภาระเรื่องนี้ไปให้คนอื่น โดยข้ออ้างว่าไม่เก่งคำนวณ ต้องพึ่งพาอาศัยเครื่องคิดเลข ซึ่งเป็นการปล่อยให้สมองส่วนนี้ของเราค่อยตายไปอย่างรวดเร็ว และด้อยคุณภาพลงไปอย่างตั้งใจ
(จ) ความทรงจำและการเรียนรู้ -ความทรงจำเป็นกุญแจสำคัญของการเรียนรู้ของเรา สามารถเปลี่ยนประสบการณ์และสิ่งที่เราประสบรอบตัวเรา ไปเป็นรหัสที่เก็บไว้ในสมอง และเรียกมาใช้ได้เมื่อจำเป็น ทำงานได้อย่างเดียวกับเครื่องคอมพิวเตอร์ การเก็บข้อมูลเข้าเป็นรหัสในสมองนี้ เกิดขึ้นตลอดเวลา แม้ในยามที่เราหลับ
(ฉ) การมีปฏิสัมพันธ์กับสังคม -ซึ่งเราทำกันเป็นอัตโนมัติ จนไม่ค่อยรู้สึกว่าเป็นกระบวนการทำงานของสมองและจิตใจของเรา งานวิจัยสมองในปัจจุบันพบชัดเจนว่า ปฏิสัมพันธ์ในสังคมของมนุษย์เป็นรากฐานสำคัญของการเรียนรู้และสติปัญญา และต้องได้รับการฝึกฝนอย่างดี การมีปฏิสัมพันธ์ในสังคมอยู่ตลอดจะกระตุ้นและพัฒนาศักยภาพของสมอง และดำรงอยู่ต่อไปยาวนาน และสามารถป้องกันการเกิดสมองเสื่อมก่อนวัย
ผู้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้แก่เด็กและสังคม จึงจะต้องคำนึงถึงระบบการทำงานของสมองทั้งหมดนี้ในลักษณะเชื่อมโยงกัน จึงจะได้ผลดีตามที่มุ่งเป้าหมาย

องค์ความรู้เรื่องสมองและการเรียนรู้ในปัจจุบัน และสภาพปัญหา เพื่อชี้ทางออกสำหรับการพัฒนาเด็กและเยาวชนไทย
องค์ความรู้ที่จะชี้นำทางออก

ด้วยอัจฉริยภาพของสมองมนุษย์ จึงเกิดการพัฒนาและผลิตเครื่องมือตรวจสมองใหม่ ๆ ซึ่งทำให้นักวิทยาศาสตร์ของโลกสามารถศึกษาการทำงานของสมองในระหว่างที่มนุษย์มีกิจกรรมและเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ องค์ความรู้ด้านสมองกับการเรียนรู้ที่สำคัญต่อการออกแบบกระบวนการเรียนรู้มีดังนี้
1. ความแตกต่างระหว่างสมองของชายและหญิง
จำนวน - ผู้ชายมีจำนวนเซลล์สมองมากกว่าผู้หญิงประมาณ 4% และมีเนื้อสมองมากกว่าผู้หญิงประมาณ 1 ขีด แต่ผู้หญิงมีระบบการเชื่อมโยงของเซลล์สมองมากกว่าผู้ชาย
ขนาดของสมองส่วนคอร์ปัส คัลโลซุ่ม Corpus Callosum – ผู้หญิงมีขนาดของสมองส่วนนี้มากกว่า หมายความว่า ผู้หญิงมีความสามารถในการส่งข้อมูลระหว่างสมองซีกซ้ายกับขวา เร็วกว่าผู้ชาย ผู้ชายมักจะใช้สมองซีกซ้ายได้ดีกว่า แต่ผู้หญิงใช้ได้ดีทั้งสองข้าง

ภาษา – สำหรับผู้ชายใช้สมองซีกซ้ายสำหรับภาษา ในขณะที่ผู้หญิงใช้สมองทั้งสองข้าง เป็นผลดีอย่างมาก เช่น หากเกิดมีการทำลายสมองซีกซ้าย ผู้หญิงยังสามารถใช้สมองซีกขวาในการสื่อสารได้ แต่ผู้ชายทำไม่ได้หรือทำได้ช้ากว่ามาก
ขนาดของสมองส่วนลิมบิค (Limbic) (ส่วนสำคัญสำหรับอารมณ์ ความผูกพัน) – พบว่า ผู้หญิงมีความสามารถในการแสดงความรู้สึก อารมณ์ และสร้างความผูกพันทางอารมณ์ได้ดีกว่าผู้ชาย ทำให้ผู้หญิงเลี้ยงดูลูกได้ดีกว่าผู้ชายมาก จึงเห็นว่าทุกสังคมจึงมอบหน้าที่ดูแลลูกให้กับผู้หญิง และก็เพราะมีสมองส่วนนี้ใหญ่ ผู้หญิงจึงเกิดภาวะซึมเศร้าได้มากและบ่อยกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะในช่วงการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เช่น เข้าสู่วัยรุ่น วัยทอง การตั้งครรภ์ ซึ่งมีความตึงเครียดและมีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน ทำให้ผู้หญิงพยายามฆ่าตัวตายมากกว่าผู้ชาย แต่ผู้ชายมักฆ่าตัวตายสำเร็จเพราะไม่ค่อยมีความผูกพันกับคนอื่น

ช่วง 2 ขวบแรก เด็กเรียนรู้ด้วยวิธีการฝึกฝนระบบประสาทรับรู้และการทำงานของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ให้เชื่อมโยงและตอบสนองกันไปมา การคิดของเด็กขึ้นกับประสบการณ์ของร่างกายทุกส่วนร่วมกัน เด็กใช้คำ (ถือเป็นสัญญลักษณ์) แทนสิ่งของหรือคน แต่ยังไม่สามารถใช้คำในกระบวนการคิดเพื่อสื่อสารได้ จนเมื่อครบ 2 ขวบ เด็กจะมีความสามารถในการทำความเข้าใจพฤติกรรมของสิ่งต่างๆ ในโลก เช่น เด็กรู้ว่าสิ่งของ(หรือแม่)มีอยู่ แม้ว่าเด็กจะมองไม่เห็นหรือสัมผัสไม่ได้ รู้ถึงสาเหตุและผลแม้ดูเสมือนว่าไม่ได้เชื่อมโยงกันอย่างชัดเจนมากนัก เช่น เด็กรู้วิธีที่จะเลิกเล่นของเล่นโดยไม่ต้องมีใครแสดงให้ดู นอกจากนี้ เด็กสามารถพัฒนาทฤษฎีเกี่ยวกับผู้คนรอบข้างได้ เช่นรู้ว่าอะไรที่จะทำให้แม่โกรธ อะไรทำให้พ่อหัวเราะ จะมีวิธีเล่นกับพี่อย่างไร หรือแหย่ให้พี่โกรธได้อย่างไร

สิ่งสำคัญที่ต้องจดจำเสมอก็คือ เด็กเรียนรู้ได้ดีด้วยการฝึกฝนทักษะ การรับความรู้สึก รับรู้จากทุกส่วนประสานกัน และต้องมีประสบการณ์ตรงกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เรียนรู้ด้วยการซึมซับทั้งผ่านการมองเห็น การได้ยิน ลิ้มรส ดมกลิ่น และ ประสาทสัมผัสตามผิวหนัง พัฒนาการทางสติปัญญาก็เช่นเดียวกัน ต้องผ่านกระบวนการพัฒนา ความรู้สึก-กล้ามเนื้อ และเมื่อเด็กรู้จักใช้คำ (พัฒนาการภาษา) ในการทำความเข้าใจสิ่งรอบตัวและคิดได้ ก็จะต้องค่อยเรียนรู้ไปทีละขั้นตอน คือ ต้องทำความเข้าใจสิ่งที่เรียนรู้ได้ง่าย ๆ มาก่อน ขั้นต่อมามีประสบการณ์ใหม่เข้ามาก็จะทำความเข้าใจสิ่งที่ง่ายนั้นชัดเจนขึ้น และการเรียนรู้ในขั้นตอนเดิมจะมีผลต่อการทำความเข้าใจสิ่งใหม่ๆ ที่ยากและซับซ้อนขึ้น แต่ละขั้นตอนก็จะช่วยให้เด็กสามารถทำความเข้าใจโลกของความคิด รวบรวมความคิดเข้าด้วยกัน และสามารถเกิดความคิดใหม่ๆ ขึ้นได้
ปัจจัยอะไรที่กระตุ้น “ความคิด” ของเด็ก เด็กทุกคนถูกกำหนดมาตั้งแต่เกิดให้ “กระตือรือร้น” ที่จะทำความเข้าใจโลก ผู้คน สิ่งของ และความคิด แต่ละขั้นตอนของการเติบโต เด็กจะสร้างทฤษฎีของเด็กเอง ซึ่งแม้ว่าจะอธิบายให้ผู้ใหญ่ฟังไม่ได้ แต่ผู้ใหญ่สามารถเข้าใจเด็กได้ด้วยการสังเกต หรือผ่านงานศิลปะ ดนตรี และการเล่นของเด็ก เด็กจะเรียนรู้จากประสบการณ์ต่างๆ แล้วค่อยๆ ทิ้งทฤษฎีเก่า และสร้างทฤษฎีใหม่ขึ้นมา จนกว่าจะแน่ใจว่ามันเหมาะสมหรือถูกต้องกับการดำเนินชีวิตของตน

เด็กไม่ต้องการคอมพิวเตอร์หรือของเล่นวิลิสมาหราอะไรมากมาย สิ่งที่เด็กต้องการก็คือ “ผู้ใหญ่” ที่เข้าใจเขา เข้าใจความรู้สึกของเขาในแต่ละขั้นของการเจริญเติบโต ดังนั้น ผู้ใหญ่ทุกคน (ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ครูอาจารย์ แพทย์ฯลฯ) ก็สามารถเป็นผู้เชี่ยวชาญที่เข้าใจเด็กได้ ขอเพียงมีจิตใจที่เปิดกว้าง เปี่ยมด้วยความรัก และฝึกการสังเกตทีละเล็กละน้อย ทำความเข้าใจโลกความคิดของเด็กโดยไม่เอาความคิดของผู้ใหญ่เข้าไปตัดสินว่าผิด-ถูก ดี-เลว

2. กระบวนการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน มีความหมายอย่างไร
ถ้าหากเปรียบเทียบตัวเรากับเพื่อน ๆ รอบข้าง ก็อาจจะมองเห็นความแตกต่างของกระบวนการหรือวิธีการเรียนรู้ได้ชัดเจนบ้าง ไม่ชัดเจนบ้าง และเนื่องจากธรรมชาติสร้างมนุษย์ให้เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องเรียนรู้เพื่ออยู่รอด จึงจะสังเกตได้ว่า เด็ก ๆ เรียนรู้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา กระบวนการเรียนรู้ถือเป็นรากฐานสำคัญของความฉลาดทุกระบบในสมองของมนุษย์ เริ่มต้นง่ายๆ จากการรับข้อมูลหรือสิ่งที่สัมผัสได้จากทั้งภายนอกและภายในตัวเรา เช่น การได้ยินเสียง มองเห็น ได้กลิ่น ลิ้มรส รวมไปถึงการรับรู้ข้อมูลในสมองของเราเอง จินตนาการดึงข้อมูลเดิม ๆ ในสมองออกมาเพื่อนำไปสู่การเรียนรู้เรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ เมื่อรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสต่าง ๆ แล้ว สมองก็จะลำเลียงเข้าไปเก็บไว้ในฐานเก็บข้อมูลเพื่อจะนำกลับมาใช้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ถ้าข้อมูลใดเก็บไว้ไม่นำออกมาใช้ และไม่มีข้อมูลอะไรเพิ่มเติมใหม่ ๆ ที่จะตอกย้ำหรือเพิ่มคุณภาพมากขึ้น สมองก็จะกำจัดทิ้ง เหลือไว้แต่ข้อมูลที่ใช้บ่อย มีประโยชน์ในชีวิตของเรา การใช้ประโยชน์ข้อมูล (ดึงออกมาใช้ ฝึกหัดปฏิบัติ นำไปแก้ไขปัญหา รวมถึงคิดค้นเรื่องใหม่ ๆ บนฐานความรู้ข้อมูลเดิม) ก็จะทำให้สมองของเราเก็บข้อมูลเหล่านั้นไว้ในส่วนของ “ความทรงจำระยะยาว” จำไปนาน ใช้นาน จะเห็นว่ากระบวนการเหล่านี้ย่อมแตกต่างกันไปตามประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคน การเรียนรู้ของเราแต่ละคนจึงแตกต่างกัน

สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจและจดจำไว้เสมอ สำหรับพ่อแม่ ครู อาจารย์ และผู้จัดการเรียนรู้ให้แก่สังคมทั่วไป ก็คือ ทุกคนใช้กระบวนการเรียนรู้หลาย ๆ อย่างร่วมกัน อย่างไรก็ตาม มักสังเกตได้ว่า แต่ละคนจะถนัดใช้วิธีการเรียนรู้สัก 1-2 อย่างเป็นประจำ ซึ่งก็จะทำให้ง่ายที่เราอาจจัดกลุ่มคนที่ถนัดใช้วิธีการเรียนรู้คล้าย ๆ กัน เพื่อง่ายที่จะทำความเข้าใจ และ จัดการเรียนรู้ในส่วนหลัก ๆ ได้ง่ายขึ้น และหากสามารถทำความเข้าใจความถนัดของเด็กแต่ละคนแล้ว เราก็จะสามารถช่วยเหลือสนับสนุนให้เขาทำได้ดีขึ้นในส่วนที่เขาถนัด และ ช่วยให้เขาก้าวเข้าไปเรียนรู้ด้วยวิธีการอื่นๆ ที่เขาไม่ถนัด ค่อยเป็นค่อยไป ก็เท่ากับเราช่วยพัฒนาให้เขาฉลาดตั้งแต่ยังเล็ก ๆ

หลักการสำคัญ 12 ประการจากพื้นฐานความรู้เรื่องสมอง
1. สมองของแต่ละคนมีความเฉพาะของตน ไม่มีสมองของใคร(แม้แต่ฝาแฝด)เหมือนกัน
2. ภาวะเครียด และ อันตรายต่าง ๆ จะมีผลหยุดยั้ง สกัดกั้น การเรียนรู้ รวมไปถึงการทำลายเซลล์สมองด้วย
3. อารมณ์ความรู้สึกมีความสำคัญมากต่อการเรียนรู้ เพราะมันมีอิทธิพลในการสร้างแรงจูงใจ สมาธิ สุขภาพ การซึมซับ ตีความและทำความเข้าใจ และ ความทรงจำ
4. ข้อมูลถูกเก็บและนำออกมาใช้ โดยกระบวนการความทรงจำหลาย ๆ แบบ และความเชื่อมโยงของระบบประสาทหลายระบบในสมอง
5. การเรียนรู้ทุกชนิดอยู่บนพื้นฐานของ “จิตใจ-ร่างกาย” การเคลื่อนไหว อาหาร วงจรความสนใจ/สติ/สมาธิ ยาและสารเคมี ล้วนมีผลสำคัญต่อการกระตุ้นหรือขัดขวางการเรียนรู้
6. สมองเป็นอวัยวะที่ซับซ้อนและปรับตัวตลอดเวลา การจะเหนี่ยวนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ต้องการระบบที่ซับซ้อน ฉะนั้น หากต้องการเปลี่ยนชุดความเข้าใจหรือความเชื่อของเด็ก ไปสู่อีกชุดหนึ่ง ก็จะต้องออกแบบและจัดประสบการณ์หลากหลาย
7. รูปแบบ และ โครงสร้างต่าง ๆ จะกระตุ้นและจัดระบบความเข้าใจของเรา – ความฉลาดคือความสามารถในการรับรู้ เก็บ จัดระบบ และสร้างข้อมูลต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการใช้ประโยชน์
8. “ความหมายของการเรียนรู้” กระตุ้นความสนใจของสมองมากกว่า เนื้อหาของข้อมูลหรือข่าวสาร
9. การเรียนรู้เป็นกระบวนการที่เข้มข้น และ เกิดขึ้นภายใต้จิตสำนึก (ไม่ค่อยรู้ตัว) เราจะจัดการกับสิ่งที่เรียนรู้ทั้งในลักษณะที่เป็นชิ้น และ ที่เป็นองค์รวม อย่างต่อเนื่องเป็นกระบวนการเดียวกัน และอิทธิพลของสิ่งประกอบต่าง ๆ มีผลอย่างมากต่อกระบวนการเรียนรู้
10. สมองจะพัฒนาได้ดีมากเมื่อมันมีปฏิสัมพันธ์กับสมองอื่น ๆ หมายความว่า ความฉลาดจะมีคุณค่าในบริบทของการมีปฏิสัมพันธ์และอยู่ร่วมกันในสังคม
11. สมองพัฒนาการไปทีละขั้น แต่ละขั้นมีความจำเป็นต่อการพัฒนาในขั้นต่อไป เปรียบเหมือนเด็กฝึกหัดก้าวขึ้นบันได ต้องไปทีละขั้นเสมอ การก้าวกระโดดทีละหลายขั้นมักจะตกมาเจ็บตัว หรือไม่ก็กระท่อนกระแท่นไม่มีประสิทธิภาพ
12. การทำนุบำรุงสมองเกิดขึ้นได้ทุกอายุ สมองพัฒนาให้ดีขึ้นได้ด้วยกิจกรรมที่ซับซ้อน สนุก ท้าทาย และ การตอบกลับ พัฒนาการด้านความรู้ความเข้าใจ (สติปัญญา) จะดำเนินไปได้ดีกับดนตรี ศิลปะ การเล่น และการพัฒนาทักษะการใช้กล้ามเนื้อ

หลักการออกแบบกระบวนการเรียนรู้
1. สิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นความสนใจ กระตุ้นการเรียนรู้ - สี รูปทรง สถาปัตยกรรม สิ่งที่ผู้เรียนออกแบบกันเอง (ไม่ใช่ครูออกแบบให้) เพื่อให้ผู้เรียนจะรู้สึกมีส่วนร่วมและมีความเป็นเจ้าของ
2. สถานที่สำหรับการเรียนรู้เป็นกลุ่มร่วมกัน – ที่ว่าง ๆ สำหรับรวมกลุ่มเล็ก ซุ้มไม้ โต๊ะที่กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้เป็นกลุ่ม หรือ ปรับที่ว่างสำหรับกลุ่มให้เป็นห้องนั่งเล่นที่กระตุ้นการมีปฏิสัมพันธ์
3. เชื่อมโยงสถานที่เรียนในร่มกับนอกห้อง บริเวณภายนอกห้อง – การเคลื่อนไหว กระตุ้นให้สมองส่วนควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อกับสมองส่วนหน้า ให้สมองได้รับอากาศบริสุทธิ์
4. บริเวณเฉลียง ทางเชื่อมระหว่างตึก และสถานที่สาธารณะ ทำให้การเรียนรู้ไม่จำกัดอยู่เฉพาะในขอบเขตของห้องเรียน โรงเรียน ทำให้เปิดสมองและการเรียนรู้ให้กว้างขวาง เรียนที่ไหนก็ได้
5. ความปลอดภัย ลดความเสี่ยงต่าง ๆโดยเฉพาะในชุมชนเมือง
6. จัดหาสถานที่หลากหลาย ที่มีรูปทรง สี แสง ร่อง รู ซอก
7. เปลี่ยนแปลงการจัดแสดงบ่อย ๆ เพื่อให้สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลง ซึ่งการมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมที่หลากหลายเปลี่ยนแปลงจะกระตุ้นการทำงานของสมอง โดยจัดให้มีสถานที่ที่จะเปลี่ยนแปลงเป็นเวที ที่จัดนิทรรศการ ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบต่าง ๆ ได้ง่าย
8. จัดให้มีวัสดุต่าง ๆ ที่กระตุ้นการเรียนรู้ พัฒนาการต่าง ๆ ของร่างกาย มากมาย หลากหลาย พร้อมสำหรับนำมาจัดทำสื่อประกอบการเรียนรู้เมื่อเกิดมีความคิดใหม่ ๆ โดยให้มีลักษณะบูรณาการ ไม่แยกส่วน จุดมุ่งหมายหลักคือ ให้เป็นแหล่งที่ทำหน้าที่หลากหลาย ระดมความคิดสร้างสรรค์ กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ซึ่งกันและกันอย่างอุดม
9. ยืดหยุ่น – ยังคงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญและกระตุ้นการเรียนรู้ เพื่อให้เหมาะสมกับสมองที่แตกต่างกันของแต่ละคน และภาวะที่เปลี่ยนแปลงไป
10. สถานที่สงบและสถานที่สำหรับทำกิจกรรม ทุกคนต้องการสถานที่สำหรับสงบอยู่กับตนเอง เพื่อสรุปข้อมูลที่ได้เรียนรู้ ทำความเข้าใจด้วยตนเอง ขณะเดียวกัน เช่นเดียวกับสถานที่ที่จะทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น ซึ่งจะกระตุ้นพัฒนาการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์
11. สถานที่ส่วนตัว – อยู่บนฐานของแนวคิดที่ว่าสมองแต่ละคนมีความเฉพาะ จึงต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนแสดงออกถึงเอกลักษณ์ของตน จัดสถานที่ส่วนตัวของตน และสามารถแสดงความคิดสร้างสรรค์ของตนได้อย่างอิสระ
12. ชุมชน คือ สถานที่สำหรับเรียนรู้ ต้องหาวิธีที่จะใช้ชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้ให้มากที่สุด ทำให้โรงเรียนเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่ลุ่มรวยสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต ใช้เทคโนโลยี การเรียนทางไกล ชุมชน ภาคธุรกิจ บ้าน ต้องนำเข้ามามีส่วนและเป็นทางเลือกในการเรียนรู้

ข้อควรคำนึงในการออกแบบหลักสูตรและสื่อการเรียนรู้ที่กระตุ้นสมอง
หากเรามีความเข้าใจเรื่องสมองและตระหนักรู้มากเพียงพอ เราจะต้องออกแบบหลักสูตรและสื่อการเรียนรู้ให้สามารถกระตุ้นความสนใจ ทำให้เด็กสามารถใช้สมองได้อย่างทรงประสิทธิภาพ เรียนรู้ตามลำดับขั้น และมีข้อมูลพื้นฐานมากเพียงพอในแต่ละวัย เพื่อจะก้าวขึ้นไปเรียนรู้สูงขึ้น ๆ ในวัยต่อไป ดังนั้น การออกแบบหลักสูตรและสื่อ อย่างน้อยจะต้องคำนึงถึง
1. พื้นฐานพัฒนาการของสมองของแต่ละวัย
2. ลำดับขั้น และ ขอบเขต (ขั้นต่ำ) สำหรับอายุนั้น ๆ
3. การออกแบบสื่ออย่างมีคุณภาพเพื่อ “เข้าถึง” อารมณ์ความรู้สึกตามวัยนั้น ๆ
4. การประเมินผลการเรียนรู้อย่างเหมาะสม และ ออกแบบร่วมกับการออกแบบหลักสูตรและสื่อ โดยคำนึงถึงความก้าวหน้าของเด็กเป็นสำคัญ ไม่เน้นการแข่งขันหรือมาตรฐานกลาง แต่คำนึงถึงความแตกต่างของการเรียนรู้ในแต่ละขั้นตอนของเด็ก
5. ทำความเข้าใจและฝึกอบรมครูผู้ดูแลเด็กให้เข้าใจลำดับขั้น หัวใจหลักของหลักสูตร การวิธีการใช้สื่อ เพื่อให้เด็กใช้สมองของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรียนอย่างมีความสุข
6. ยกเลิกระบบการแพ้คัดออก การสอบตกซ้ำชั้น ไม่แบ่งชั้นด้วยอายุ ใช้การเรียนแบบคละชั้นเพื่อเปิดโอกาสให้เด็กพัฒนาตามลำดับขั้น และเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้อย่างเต็มที่

เอกสารแนะนำให้อ่านเพิ่มเติม
1. คืนอิสระสู่สมองเด็กไทย ... แก้วิกฤตชาติ (จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ เขียน วันจันทร์ คีรีวงก์ ก้อยหะกูล เรียบเรียง. เมษายน 2549, จัดจำหน่ายโดย ซีเอ็ด)
2. เด็กไทยใครว่าโง่.. เปลี่ยนการเรียนรู้ของเด็กไทยให้ทันโลก (พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร, จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ และ พรพิไล เลิศวิชา, จัดจำหน่ายโดย ซีเอ็ด)
3. เรียนลึกรู้ไว (วิทยากร เชียงกูล, จัดจำหน่ายโดย ซีเอ็ด)
4. Teaching with the brain in mind (Eric Jensen, Association for supervision and curriculum development, Alexandria, Virginia, USA.)
5. We’re born to learn (Rita Smilkstein, Corwin Press, inc., California)
6. Brain compatible classrooms (Robin Fogarty,Pearson, Illinois)
7. Thinking child – Brain-based learning for the foundation stage (Nicola Call with Sally Featherstone, Network Educational Press Ltd.)
8. Building background knowledge for academic achievement (Robert J. Marzano, Association for supervision and curriculum development, Alexandria, Virginia, USA.)
9. How to teach so students remember (Marilee Sprenger, Association for supervision and curriculum development, Alexandria, Virginia, USA.)
10. วิธีคิดตามหลักพุทธธรรม (พระธรรมปิฎก ประยุทธ์ ปยุตโต, สำนักพิมพ์ศยาม)
11. คบเด็กสร้างบ้าน .. เด็กเป็นผู้สร้างโลกในอนาคต (พุทธทาสภิกขุ, บ.ไอเดียลิสท์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จก.)
12. ไอน์สไตน์ในพุทธปรัชญา (ธนู แก้วโอภาส, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ)
13. ก้าวพ้นกรอบไอน์สไตน์ (รอฮีม ปรามาส,สำนักพิมพ์มติชน)
14. ประวัติย่อของกาลเวลา (รอฮีม ปรามาส,สำนักพิมพ์มติชน)
15. ถอดรหัสข้ามศตวรรษ (บลู เบลเลียต เรื่อง, สุวัฒน์ หลีเหม แปล, อมรินทร์บุ๊คเซนเตอร์)
16. ครุฑน้อย (คอยนุช, อมรินทร์บุ๊คเซนเตอร์)
17. ส้มสีม่วง (ดาวกระจาย, อมรินทร์บุ๊คเซนเตอร์)

credit: LukZ® for group clickkids
Jul 16, '09 10:36 PM

Views: 403

Comment

You need to be a member of หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ to add comments!

Join หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้

Comment by Monrudee Loha on July 23, 2009 at 9:13am
โอโห้คุณแนท นี่ศูนย์รวมความรู้จริงๆๆนะคะ Great!
Comment by สุภาพร(แม่ปั้น฿แป้ง) on July 21, 2009 at 2:24pm
จองหนังสือแล้ว จองพี่ BRUX ด้วยนะคะ อิอิ
Comment by Ju (Jui Jui's mommy) on July 21, 2009 at 6:09am
ขอบคุณค่ะ ขออ่านนานนิดนึงนะคะ :)
อย่างที่คุณ nat ว่าต้อง เก่ง ดี มี สุข ด้วยนะคะ เก่งอย่างเดียวไม่ได้ค่ะ
Comment by nat on July 20, 2009 at 3:20pm
คงไม่มีวิธีปฎิบัติตัวเป็นสูตรสำเร็จให้เด็กฉลาดหรอกค่ะ
.... เด็กเเต่ละคนมีความเป็น unique ไม่มีใครที่จะเหมือนใครหรอกค่ะ
เเต่ถ้าอยากให้ลูกฉลาด คุณพ่อ คุณเเม่นี่เเหละคือครูคนเเรกของเขา ต้องเป็นผู้สอน ป้อนในสิ่งที่ดีงาม ให้ความรัก เเละความอบอุ่นเเก่เขาให้มากที่สุด เเละสอนให้ลูกเรารู้จักความรัก เเละรู้จักเเบ่งปันให้ผู้อื่น มันมาจากข้างในนะคะ

อยากเเนะนำหนังสือให้คุณอาทิตยาเล่มนึงค่ะ ดีมากๆ ชื่อว่า "สอนลูกให้เป็นคนเก่ง" เขียนโดย ดร. นวลศิริ เปาโรหิตย์ สนพ. 108 สุดยอดไอเดีย
...เป็นหนังสือเกี่ยวกับ การฝึกเด็ก เเละวัยรุ่นอย่างไรให้เป็นคนดี มีความเชื่อมั่น เเละรู้จักรับผิดชอบชีวิต ด้วยตัวของเขาเอง
Comment by อาทิตยา ศิริคะเณรัตน์ on July 20, 2009 at 2:59pm
ยาวมาก แต่อยากรู้วิธีการปฏิบัติเลยมีมั้ยคะ ต้องทำยังไงลูกจะฉลาด ขอบคุณค่ะ

--oO--

สแกนโค้ด แอดไลน์ @2pasa แล้วลุ้นของรางวัลรวมคลิปเวิร์กช็อปทั้งหมด

Events

หนังสือในชุดเด็กสองภาษา



© 2024   Created by ผู้ใหญ่บิ๊ก.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service