วันนี้น้องพิงค์ขอประชาสัมพันธ์ข่าวเกี่ยวกับคุณย่าคนเก่งของน้องพิงค์ ซึ่งจะเปิดตัวหนังสือแปลจากนวนิยายดังระดับโลกในวันที่ 19 ตุลาคมนี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ค่ะ.....
ระบำชีวิต (Zoya) บทประพันธ์ของ DANIELLE STEEL
เสาวณีย์ นิวาศะบุตร แปล
ดร.ถนอมวงศ์ สุกโชติรัตน์ ล้ำยอดมรรคผล บรรณาธิการ
สำนักพิมพ์เรือนปัญญา ขอเรียนเชิญร่วมงานวันเปิดตัวนวนิยายเรื่องเยี่ยมของยอดนักเขียนหญิงชื่อดังแห่งยุค
สำนักพิมพ์เรือนปัญญา ขอเรียนเชิญร่วมงานวันเปิดตัว นวนิยาย เรื่อง ระบำชีวิต จากบทประพันธ์ของ ดาเนียล สตีล แปลโดย เสาวณีย์ นิวาศะบุตร งานจะจัดขึ้นที่เวทีฮอลล์เอ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๒ ระหว่างเวลา ๑๒.๐๐ – ๑๓.๐๐ น. โดยจัดเสวนา เรื่อง ระบำชีวิต...ชีวิตเริงระบำ พร้อมรับประทานอาหารว่าง และพูดคุยซักถามกับนักแปล และผู้ช่วยบรรณาธิการ โดยมี ดาราหญิงยอดนิยม เบนซ์ พรชิตา ณ สงขลา ดำเนินรายการ
ประวัติ Danielle Steel ดาเนียล สตีล
นักเขียนนิยายชีวิตและโรมานซ์ ชื่อดังชาวอเมริกัน Danielle Fernande Dominique Schuelein-Steel เกิดวันที่ ๑๔สิงหาคม ๑๙๔๗ (ปัจจุบันอายุ ๖๒ ปี )
บิดาชื่อ John Schulein-Steel เป็นทายาทเจ้าของโรงงานเบียร์ Lowenbrau
มารดาชื่อ Norma da Camara Stone Reis เป็นธิดานักการทูตชาวปอร์ตุเกศ
ดาเนียล สตีล ใช้ชีวิตวัยเด็กในประเทศฝรั่งเศส หลังจากบิดามารดาหย่าขาดจากกัน จึงwxใช้ชีวิตอยู่ในนิวยอร์กกับบิดา เธอสำเร็จการศึกษาจากสถาบัน Lycee Francais de New York ในปี ค.ศ. 1965 และศึกษาวิชา literature design และ fashion design ที่ Parsons School of Design ในปี 1963 และที่ New York University ในปี 1963-1967
ดาเนียล สตีล ผ่านการแต่งงานถึง ๕ ครั้ง มีบุตรธิดา ๙ คน ปัจจุบันเป็นโสด
ดาเนียล สตีล เริ่มเขียนนิทานตั้งแต่ยังเป็นเด็ก และเริ่มเขียนบทกวีเมื่อเข้าวัยรุ่น
เธอเริ่มทำงานครั้งแรกเป็นนักเขียนบทโฆษณาให้กับบริษัทโฆษนาแห่งหนึ่งในนิวยอร์ก บรรดาลูกค้าต่างพอใจกับบทโฆษณาของเธอและสนับสนุนให้เธอเขียนนวนิยาย
หลังหย่ากับสามีคนแรก นวนิยายเรื่องแรกของเธอ Going Home ก็ได้รับการตีพิมพ์ในปี 1973
จากนั้นมานิยายทุกเรื่อง ของเธอ ได้ติดอันดับ Best Seller ของหนังสือพิมพ์ New York Times
ในปี 1989 เธอได้รับเกียรติบันทึกใน Guinness Book of World Records ว่าเป็นนักเขียนที่ติดอันดับ New York Times Best Seller List นานที่สุดถึง 381 สัปดาห์ติดต่อกัน
จากปี 1973 เป็นต้นมา สตีลเขียนนวนิยายทั้งหมดถึง 81 เรื่อง สองเรื่องล่าสุดจะออกจำหน่ายในปี 2010 ในจำนวนนี้ 22 เรื่องได้รับการถ่ายทำเป็นภาพยนตร์ สองเรื่องได้รับเสนอให้เข้าชิงรางวัล Golden Globe Award
นอกจากเขียนนวนิยายชีวิตแล้ว สตีลยังเขียน บทกวี (1984-1988) หนังสือชุดสำหรับเด็ก (1989-1992) และหนังสือภาพสำหรับเด็ก The Happiest Hippo in the World (2009).
สตีลได้ขายหนังสือทั้งหมดแล้วเป็นจำนวนถึง 550 ล้านเล่มทั่วโลก (สถิติปี 2005) หนังสือของเธอได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศถึง 28 ภาษา และมีจำหน่ายใน 47 ประเทศทั่วโลก เธอเป็นนักเขียนขายดีอันดับเจ็ดของโลก นับตั้งแต่มีการจัดอันดับเป็นต้นมา (seventh best selling writer of all time).
Zoya เป็นนิยายติดอันดับ Best Seller ในปี 1988 ได้รับการถ่ายทำเป็นภาพยนตร์ในปี 1995 นำแสดงโดย Melissa Gilbert (โศญา), Bruce Boxleitner (เคลย์ตัน แอนดรูวส์) และ Diana Rigg (เคาน์เตส เยฟเจนี)
คำนิยม
งานแปลวรรณกรรมเป็นงานสร้างสรรค์ ที่ไม่ใช่ใครๆ ก็ทำได้ เพราะในการแปลวรรณกรรมนั้น นอกจากผู้แปลจะต้องรู้ภาษาทั้งสองภาษาอย่างดีแล้ว ยังจะต้องเข้าใจและสามารถถ่ายทอดบริบททางวัฒนธรรมของต้นฉบับเดิมได้ด้วย หากผู้แปลรู้ภาษาแต่ขาดความเข้าใจบริบททางวัฒนธรรม ผลงานมักจะผิดพลาด ขาดอรรถรส และในบางครั้งอาจจะอ่านไม่รู้เรื่องเอาเสียเลย
จึงต้องขอชื่นชมผลงานแปลของคุณเสาวณีย์ นิวาศะบุตร เรื่อง Zoya ของ Danielle Steel
ที่แปลได้อย่างงดงาม นอกจากภาษาสละสลวยแล้ว Zoya ฉบับภาษาไทย ยังคงอรรถรสของต้นฉบับภาษาอังกฤษได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งนี้เพราะผู้แปลเข้าใจและสามารถถ่ายทอดบริบททางวัฒนธรรมอันหลากหลาย ทำให้ผู้อ่านติดตามลีลาชีวิตที่เต็มไปด้วยสีสันของ “โศญา” ได้อย่างสนุกสนาน และประทับใจ จนแทบวางไม่ลง
นิตยา มาศะวิสุทธิ์
ที่ปรึกษาสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
จากบรรณาธิการ ถึงผู้อ่านที่รัก
ถ้าเป็นนก ชีวิตยังไม่สิ้นก็ต้องบินไป... ถ้าเป็นปลา ย่อมแหวกว่ายธาราจนวันตาย... แต่ชีวิตของหญิงสาวแสนสวยคนหนึ่งที่จากฟากฟ้าสู่ดินเพราะวิกฤตการเมือง ต้องเต้นระบำต่อไป เพราะเธอเกิดมาเพื่อเต้นระบำ ทั้งระบำปลายเท้า ระบำชีวิต และระบำที่ต้องเต้นเพื่อชีวิตรอด
ดาเนียล สตีล เป็นนักเขียนชื่อดังมากว่า ๓๕ ปี ผลงานทุกเล่มขายได้ขายดีมายาวนาน เพราะการสร้างเรื่องที่ตื่นเต้นเร้าใจ ตั้งแต่ต้นจนจบ โครงสร้างของเรื่องชัดเจน สำนวนการเขียนเข้าใจง่าย ไม่อลังการ ไม่เป็นวิชาการ แต่เป็นการเล่าเรื่องที่ตรงไปตรงมา ในฐานะบรรณาธิการที่ต้องอ่านหลายต่อหลายรอบ อ่านกี่รอบก็ตื่นเต้นไปกับชีวิตของเธอผู้แสนสวยบาดใจ ในยามทุกข์เธอช่างแกร่งกล้า คนอ่านจึงเอาใจช่วยได้ทุกครั้ง ไม่เสียแรงที่อ่านไปให้กำลังใจไป ในยามสุข เมื่อมีหนุ่มหล่อมารักเธอเหลือเกินก็ไม่อยากจะอิจฉา เพราะว่าเข้าข้างนางเอกของเราไปแล้วตั้งแต่ต้น
การทำงานบรรณาธิการเล่มนี้ แม้ว่าจะหนักตามจำนวนหน้าแต่ก็มีคุณค่าทางอารมณ์และจิตใจ เหมือนเข้าไปอยู่ในชีวิตของเธอ ย้อนหลังตั้งแต่การปฏิวัติในรัสเซีย ถึงช่วงสงครามโลกมาจนถึงช่วงที่ผู้อ่านหลายคนคงเกิดทัน หรืออย่างน้อยก็ทันดูภาพยนตร์ และทันรู้จักเจ้าแห่งแฟชั่นบันลือโลกหลายคน ถึงแม้ผู้อ่านจะเป็นคนรุ่นใหม่วัยเยาว์ การได้อ่านนวนิยายที่ทำให้เราจินตนาการย้อนหลังไปเห็นโลกแห่งความเป็นจริง และทำให้เกิดกำลังใจที่จะเต้นระบำไปกับชีวิต ...อย่างโศญา... ก็คุ้มค่าที่ได้อ่าน ไม่ต้องสวยมากนัก ไม่ต้องรวยล้นเหลือ แต่ขอให้เชื่อมั่นในการทำความดี และให้อภัยตนเองบ้าง หากเปลี่ยนอดีตไม่ได้ และไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต ผู้อ่านก็จะเป็นเพื่อนกับเธอได้ตลอดสี่ร้อย
กว่าหน้าเช่นเดียวกับบรรณาธิการ
ขอให้มีความสุขกับการอ่านนะคะ
ถนอมวงศ์ สุกโชติรัตน์ ล้ำยอดมรรคผล
กันยายน ๒๕๕๒
คำนำผู้แปล
ผู้แปลชอบอ่านบทประพันธ์ของ ดาเนียล สตีล มาก โดยเฉพาะเรื่อง Zoya ที่ได้อ่านมานานแล้ว และประทับใจจนต้องอ่านซ้ำหลายครั้ง พร้อมกับตั้งใจว่าสักวันหนึ่งจะต้องแปลเป็นภาษาไทยให้ได้ เมื่อวางมือจากงานอาชีพ จึงเริ่มลงมือแปล แต่ก็ทำได้ไม่มาก เพราะเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตทำให้ต้องพักงานแปลไป
นอกจากจะเป็นแฟนของ ดาเนียล สตีล แล้ว ผู้แปลยังเป็นแฟนพันธุ์แท้ของ “ดวงใจ” อีกด้วย
ไม่นานมานี้ได้อ่าน “ย่ำสนธยา โรมานอฟ” ของ “ดวงใจ” จึงเกิดความคิดที่จะแปล Zoya ต่อให้จบ
เมื่อนำความไปคุยกับบรรดาญาติมิตร ก็ได้รับการสนับสนุนพร้อมทั้งแนวคิดที่สร้างสรรค์และให้กำลังใจ
จึงได้เอา Zoya ออกมาปัดฝุ่นแปลต่อ นับว่า “ดวงใจ” เป็นผู้ที่จุดประกายโดยมิได้รู้ตัว ให้สาวน้อยโศญาได้ออกมาเริงระบำต่อจนจบ จึงขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย
“ระบำชีวิต” เป็นนิยายชีวิตที่แทรกไว้ในเหตุการณ์จริงของประวัติศาสตร์ แม้จะมีเหตุการณ์บางตอนที่เกี่ยวข้องกับเจ้านายในราชวงศ์โรมานอฟของรัสเซีย แต่บทบาทของเจ้านายในเรื่องก็เป็นความใกล้ชิดสนิทสนมภายในครอบครัว ผู้ประพันธ์จึงมิได้เน้นการใช้ราชาศัพท์แต่อย่างใด นอกจากนี้ เจ้านายรัสเซียในสมัยนั้นก็มีสองประเภทได้แก่ เจ้านายในราชตระกูล อันได้แก่ พระเจ้าแผ่นดิน พระราชโอรส และ พระราชธิดา ซึ่งมียศเป็นแกรนด์ดยุค (เจ้าชาย) และแกรนด์ดัชเชส (เจ้าหญิง) การพูดและเขียนถึง เจ้านายในราชตระกูล นั้นต้องใช้ราชาศัพท์ทั้งสิ้น ส่วนเจ้านายอีกประเภทหนึ่งคือ เจ้าตั้ง ซึ่งจะเป็นใครก็ได้ที่มีชื่อเสียงและความดีความชอบ จนได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าชาย เจ้าหญิง การพูดหรือเขียนถึง เจ้าตั้ง ตลอดจน พระญาติ ของพระเจ้าแผ่นดิน อันได้แก่ เคานต์ และ เคาน์เตส นั้นไม่ต้องใช้ราชาศัพท์ อย่างไรก็ตาม เมื่อใดที่ต้องใช้ราชาศัพท์ ผู้แปลก็พยายามใช้ให้ถูกต้องตามที่ควรแต่มิได้เคร่งครัดจนเกินไป จึงขอเรียนท่านผู้อ่านไว้ด้วยความเคารพว่าการใช้คำราชาศัพท์ในเรื่องแปลนี้อาจไม่ถูกต้องตามแบบอย่างนัก
ถ้า “ระบำชีวิต” สามารถทำให้ท่านผู้อ่านได้รับความเพลิดเพลินสมกับความตั้งใจ ผู้แปลก็ขอยกความดีนั้นให้กับสมาชิกทุกคนในครอบครัว พี่น้องผองเพื่อน โดยเฉพาะญาติมิตรนักส่งเสริมการอ่านแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มิตรรักนักแปลบางท่าน ตลอดจนคณะผู้จัดทำทุกท่าน ที่ให้กำลังใจและช่วยสร้างสรรค์ “ระบำชีวิต” จนสำเร็จเป็นรูปเล่มอันสวยงามอยู่ในมือของท่านในขณะนี้
หาก “ระบำชีวิต” มีข้อบกพร่องแต่ประการใด ผู้แปลขอน้อมรับผิดไว้ ณ ที่นี้ด้วย
เสาวณีย์ นิวาศะบุตร
กันยายน ๒๕๕๒
คำนำสำนักพิมพ์
เราทำหนังสือด้วยความรัก เลือกทำหนังสือดี ควรค่าน่าอ่าน ให้ทั้งสาระและความบันเทิง เมื่อมีนักแปลหน้าใหม่แต่มากฝีมือ มานำเสนอผลงานของนักเขียนสตรีชื่อดัง ผู้มีผลงานต่อเนื่องยาวนาน อ่านสนุก ให้แง่คิดเกี่ยวกับชีวิตที่น่าสนใจ แม้จะเป็นหนังสือแนวที่เรายังไม่เคยจัดพิมพ์ แต่ด้วยความมั่นใจทั้งในฝีมือของผู้เขียน และผู้แปล เราจึงขอนำเสนอผลงานนวนิยายเรื่องราวของชีวิตเล่มนี้สู่สายตาผู้อ่าน หากผู้อ่านชื่นชอบ สำนักพิมพ์ก็จะเลือกสรรหนังสือดีแนวนี้มาเสนอต่อไป
ขอขอบคุณที่อุดหนุนผลงานของสำนักพิมพ์เสมอมา
ด้วยไมตรีจิต
สำนักพิมพ์เรือนปัญญา
ประวัติผู้แปล
ชีวิตคือละคร
เสาวณีย์ (บินเทพ) นิวาศะบุตร เปิดฉากใหม่ของชีวิตเมื่ออายุเจ็ดสิบสอง
อดีต... เป็นชาวกรุงเทพมหานคร เคยใช้ชีวิตในแดนไกล เคยท่องไปในโลกกว้าง
เคยผ่านทุกข์สุข ความรักและการสูญเสีย ความล้มเหลวและความสำเร็จ
เคยท้อ แต่ไม่เคยถอย เคยเจ็บปวดซวดเซ แต่ไม่เคยทรุด
ปัจจุบัน... เป็นชาวจังหวัดเพชรบุรี พอใจกับชีวิตที่พอดี พอเพียง พอให้ และไม่ประมาท
อบอุ่นกับความรักและห่วงใยจากลูกหลาน และพี่น้องผองเพื่อน
เติมความสุขให้ชีวิตด้วยการทำงาน และการเดินทางเมื่อมีโอกาส
สุขใจและภูมิใจมากกับ “ระบำชีวิต” งานแปลเล่มแรก แต่ไม่ใช่เล่มสุดท้าย...
-----------
การศึกษาและการทำงานของผู้แปล (ข้อมูลต่อไปนี้ไม่ได้ลงพิมพ์ในหนังสือ)
B.A. General Education: (English, H.R. Management), The American University, Wash. D.C.
Cert. in Executive Program: Women in Business, William and Mary College, Virginia
Cert. in Senior Executive Program: H.R. Development, Graduate School of Business, Columbia University, New York
การทำงาน:
Lever Brothers (Thailand) Ltd. – Secretary, Bangkok
The World Bank - H.R. Specialist, Washington, D.C. (Retired)
The Non-Profit Management Association - H.R. Director, Washington, D.C.
The Friends of National Library of Medicine – H.R. and Event Director, Wash. D.C.
สัญญางานแปลอิสระ:
The World Bank,
U.S. Dept. of State,
U.S. Dept. of Justice,
The Federal Bureau Of Investigation (F.B.I.),
Motor Vehicle Administration, Maryland (M.V.A.)
Private translation agencies, U.S.A
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม
งานแปลนวนิยาย:
ระบำชีวิต (เรื่องแรก พ.ศ. ๒๕๕๒)
งานสอนหนังสือ:
The Montgomery College, Maryland, U.S.A.
English/Thai Private Lessons, Maryland and Washington, D.C. U.S.A.
กันยายน ๒๕๕๒
เรื่องย่อ “ระบำชีวิต”
ภาค 1 เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก
โลกแห่งความสูงศักดิ์ของ เคาน์เตสโศญา คอนสแตนตินอฟนา โอสสุโพฟ ต้องล่มสลายลงหลังจากการปฏิวัติรัสเซีย พระเจ้าซาร์และพระบรมวงศานุวงศ์ถูกจับกุม และถูกประหารในที่สุด บิดามารดาและพี่ชายคนเดียวของโศญา เสียชีวิตในการจลาจล โศญาพร้อมด้วยเคาน์เตสเยฟเจนี โอสสุโพฟ ผู้เป็นย่า และฟีโอดอร์ คนรับใช้ชราผู้ซื่อสัตย์ หนีรอดออกจากนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กมาได้
ภาค 2 ปารีส
โศญาพร้อมด้วยคุณย่าและฟีโอดอร์ เดินทางรอนแรมสู่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และดำรงชีวิตอย่างขัดสน โชคดีที่โศญารักการเต้นระบำปลายเท้าเป็นที่สุด และได้ฝึกฝนกับคณะบัลเลต์ของมาดามนาสโตวา มาแต่ยังเด็ก เธอจึงได้ใช้ความสามารถและพรสวรรค์ในการเต้นระบำปลายเท้าเลี้ยงชีพ โศญาได้พบและรักกับร้อยเอกเคลย์ตัน แอนดรูว์ส แห่งกองทัพบกอเมริกัน ผู้ต้องจากเธอไปด้วยภาระหน้าที่ในเวลาต่อมา ทิ้งให้โศญาผจญชีวิตท่ามกลางความขัดสนแร้นแค้นในกรุงปารีส ระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โศญาต้องสูญเสียคุณย่า และฟีโอดอร์ผู้ซื่อสัตย์ ต่อมาเมื่อสงครามสงบ ร้อยเอกเคลย์ตัน แอนดรูว์ส กลับมาแต่งงานกับโศญาและพาเธอกลับสหรัฐอเมริกา
ภาค 3 นิวยอร์ก
ชีวิตของโศญาในนครนิวยอร์ก กับสามีและบุตรสองคนดำเนินไปอย่างสมบูรณ์พูนสุข จนกระทั่งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกตกต่ำ โศญาต้องประสบเคราะห์กรรมอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเคลย์ตัน แอนดรูวส์ เสียชีวิตและโศญาได้พบว่าธุรกิจของสามีขาดทุนย่อยยับ ทั้งยังมีหนี้สินท่วมท้น จนทรัพย์สินทั้งหมดที่มีถูกยึด เธอต้องหาเลี้ยงชีพตนเองและลูกทั้งสองด้วยการเป็นนางระบำในสถานบันเทิงยามราตรี จนเกือบจะต้องสูญเสียลูกทั้งสองในเหตุเพลิงไหม้ เธอจึงตัดสินใจเลิกอาชีพนางระบำ และหันมารับจ้างเป็นพนักงานขายในห้องเสื้อสตรีของมาดาม แอ็กแซลล์ ดูปุยส์ จากการที่ได้เติบโตมาในวงสังคมชั้นสูง มีความรักและคุ้นเคยกับเสื้อผ้าอาภรณ์อันหรูหราสวยงาม ทำให้โศญามีกิริยา มารยาท รสนิยม และความสามารถที่ดึงดูดลูกค้า จนเป็นที่พอใจของมาดามดูปุยส์
โศญามีโอกาสเดินทางกลับปารีสอีกครั้งหนึ่ง และได้พบกับ ไซมอน เฮิร์ช เศรษฐีเจ้าของธุรกิจเสื้อผ้าชาวอเมริกัน ได้แต่งงานและใช้ชีวิตในนิวยอร์กอย่างมีความสุขกับไซมอน พร้อมมีบุตรชายอีกคนหนึ่ง ต่อมาเธอได้เปิดห้องเสื้อสตรีของตนเอง ชื่อ“เคาน์เตส โศญา” และประสพความสำเร็จอย่างงดงาม สงครามโลกครั้งที่สองเกิดขึ้น โศญาต้องประสบความสูญเสียครั้งใหญ่อีก เมื่อไซมอนเสียชีวิตในสมรภูมิด้านแปซิฟิค และ ซาชา บุตรสาวเสียชีวิตในอุบัติเหตุรถยนต์ โศญาดำรงชีวิตต่อไปอย่างเข้มแข็ง ในบั้นปลายของชีวิตที่ผันผวนดุจลีลาระบำของเธอนั้น โศญาได้มีโอกาสหวนกลับไปเยือนนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กอีกครั้งหนึ่ง พร้อมด้วยโศอี้ผู้เป็นหลานย่า
กันยายน ๒๕๕๒
You need to be a member of หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ to add comments!
Join หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้