โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 12 มิถุนายน 2552 13:48 น.
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
"ของเล่น" คือสิ่งที่พ่อแม่ต้องเอาใจใส่ พอๆ กับการเลือกซื้อเสื้อผ้า และเครื่องนุ่งห่มหรืออื่นๆให้กับลูก ซึ่งต้องเลือกให้เหมาะกับเด็กตามแต่ละช่วงวัย การเรียนรู้ หรือพัฒนาการตามลำดับขั้นของเด็ก ส่งผลให้ลูกโตขึ้น สามารถเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นของเล่นจึงไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ที่พ่อแม่จะละเลยอีกต่อไป
วันนี้ทีมงาน Life and Family ได้มีโอกาสพูดคุยในเชิงปรึกษากับ "พญ.เพียงทิพย์ หังสพฤกษ์" จิตแพทย์เด็ก และวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์ เกี่ยวกับการเลือกซื้อของเล่นให้ลูก ซึ่งได้รับคำแนะนำที่น่าสนใจ โดยคุณหมอบอกว่าพ่อแม่ควรใช้หลัก 4 ป.ในการเลือกซื้อของเล่น ประกอบด้วย
1. ปลอดภัย
คุณพ่อ คุณแม่บางคนไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อของเล่นให้เหมาะสมกับวัย หรือไม่รู้ว่าเด็กกี่ขวบต้องเล่นของเล่นชนิดไหน แบบไหน หรือขนาดเท่าไหร่ แต่มักจะซื้อเพราะความสนุก หรือซื้อเพราะลูกอยากได้ ซึ่งบางทีอาจไม่ปลอดภัยสำหรับเด็กได้ เช่น ลูก 3 ขวบ ไม่ควรให้เล่นของเล่นที่มีขนาดเล็กกว่า 3 เซนติเมตร หรือของเล่นที่มีสี-ถลอกง่าย เพราะเด็กเล็กอาจนำเข้าปาก และได้รับสารอันตรายที่มากับของเล่นได้ ดังนั้นพ่อแม่จึงควรศึกษา และระวังการเล่นของลูกด้วย
" สิ่งที่มากับของเล่น ก็ต้องระวังด้วยเช่นกัน เช่น ถุงพลาสติกใส่ของเล่น ซึ่งเด็กอาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยเอาไปสวมหัวเล่น เป็นมนุษย์อวกาศบ้าง หรืออะไรต่อมิอะไรบ้าง ทำให้พลาด จนขาดอากาศหายใจได้ หรือลูกโป่งยางที่เด็กเป่าเล่นกัน เวลาเป่าพอง และแตก อาจไหลเข้าไปในคอ ติดหลอดลมได้ พ่อแม่ต้องใส่ใจ และให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด" พญ.เพียงทิพย์เตือนเป็นอุทาหรณ์
สำหรับวิธีการเลือกซื้อของเล่นให้ปลอดภัยนั้น พญ.เพียงทิพย์ แนะนำว่า ให้คำนึงถึง เรื่องของ “ขนาด” ควรมีขนาดใหญ่กว่าอวัยวะของร่างกาย หลายครั้งเราจะพบว่า เด็กเอาของเล่นเข้าปาก แหย่จมูก แหย่ช่องหู ซึ่งหากของเล่นมีขนาดเล็กเกินไป ก็จะทำให้เป็นอันตราย ซึ่งที่เจอมากก็คือของเล่นเขาไปติดหลอดลม ติดจมูก ทำให้หายใจไม่ออก ช็อคและหมดสติไป
นอกจากขนาดที่ควรคำนึงถึงแล้ว “ความแหลมคม” ก็เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษด้วยเช่นกัน เพราะเด็กวัยนี้ไม่ค่อยจะได้ระวัง บางครั้งอาจจะทิ่มตา หรือ บาดมือ ซึ่งเวลาไปซื้อ พ่อแม่ควรขอของตัวอย่างดู ทดลองเอามือสัมผัสเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีส่วนคม หรือแหลมที่เป็นอันตราย ที่สำคัญ “สี” ที่เคลือบมากับของเล่น ขนม หรือหีบห่อ ซึ่งเด็กในวัยเล็กมักจะนำของเล่นเข้าไปดูด หรือนำขนมไปทาน พ่อแม่ควรศึกษาหรืออ่านฉลากให้แน่ใจก่อนว่าของเล่นเหล่านั้นปลอดภัยจากสาร พิษปนเปื้อนหรือไม่ เพื่อป้องกันสารพิษจากของเล่น และขนม เข้าไปทำร้ายลูก โดยเลือกของเล่น หรือขนมที่ทำจากสีธรรมชาติ
สำหรับในวัยเด็กโต ซึ่งเริ่มมีการเรียนรู้ และสามารถเข้าใจคำอธิบายต่างๆได้ นอกจากความปลอดภัยข้างต้นแล้ว สิ่งที่พ่อแม่ควรจะทำและใส่ใจเพิ่มเติมก็คือ การให้ความรู้เกี่ยวกับของเล่นของแต่ละประเภท โดยสอนเทคนิคการเล่น และทำความเข้าใจเสียก่อน เพื่อให้ลูกทราบถึงวัสดุที่ผลิต การป้องกันตัวเมื่อเกิดอุบัติเหตุ การช่วยเหลือตัวเองเมื่อได้รับผลกระทบจากการเล่น และควรจะหาอุปกรณ์เสริมความปลอดภัยให้ด้วย เช่น เด็กผู้ชายพ่อแม่อาจจะซื้อจักรยาน โรลเลอร์สเก็ต หากต้องการซื้อของเล่นประเภทนี้ให้กับลูกจริงๆ พ่อแม่ควรลงทุนซื้ออุปกรณ์เสริมความปลอดภัยประเภท หมวกกันน็อค สนับเข่า และสนับมือเพื่อป้องกันการกระแทกเมื่อหกล้มด้วย
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
2. ประโยชน์
คุณพ่อ คุณแม่ต้องเลือกของเล่นให้มีประโยชน์กับลูก โดยดูวัยของลูกว่าต้องพัฒนาด้านอะไรบ้าง เช่น เด็กเล็ก ต้องพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่-มัดเล็ก (ร่างกาย) อารมณ์ และสังคม แต่ถ้าวัยเรียนต้องเน้นเรื่องความคิด เหตุผล ความเชื่อมโยง หรือการบูรณาการความคิดต่างๆ ขณะที่ช่วงวัยรุ่น ต้องเน้นเรื่องของการวางแผน การคิดวิเคราะห์ ความสัมพันธ์ เป็นต้น ทั้งนี้ในปัจจุบันของเล่นบางอย่าง มักจะมีความเหมาะสมของอายุติดไว้กับของเล่นด้วย ซึ่งเป็นการดีที่ช่วยให้คุณพ่อคุณแม่เลือกของเล่นได้เหมาะสมตามวัยของลูกมาก ขึ้น อย่างไรก็ตามของเล่นที่มีประโยชน์ในแต่ละด้าน คุณหมอบอกว่าต้องประกอบด้วย 5 ด้านสำคัญดังนี้
- ด้านร่างกาย เด็กจะมีร่างกายแข็งแรง ทั้งกล้ามเนื้อมัดใหญ่ และกล้ามเนื้อมัดเล็ก เพราะได้เคลื่อนไหวร่างกายตลอดผ่านการเล่น ของเล่นที่พัฒนาทักษะเหล่านี้ได้แก่ ลูกบอล และอุปกรณ์ที่เล่นกับลูกบอลต่างๆ เช่น ห่วง แร็กเก็ต ตะกร้า ประตู ปาเป้า โหนบาร์ หนีบผ้า ทำงานบ้านต่างๆ วาดรูป เขียนหนังสือ ระบายสี ผูกเชือก เล่นทราย ถุงถั่ว ปั้นดิน ต่อเลโก้ ลากต่อจุด ทำโมเสค เป็นต้น
- ด้านอารมณ์ เด็กจะมีอารมณ์ดี เพราะรู้สึกสนุก และผ่อนคลายขณะเล่น เช่น ชุดวาดภาพระบายสี
- ด้านสังคม เด็กได้ฝึกการเล่นร่วมกับเพื่อน รู้จักแบ่งปัน รู้จักรอคอย และรู้จักเคารพกฎกติกาต่าง ๆ เช่น เกมตัวต่อที่เล่นได้มากกว่า 1 คนขึ้นไป
- ด้านสติปัญญา เด็กจะพัฒนาสติปัญญาขึ้น เพราะการเล่นทำให้เด็กต้องรู้จักคิดแก้ไขปัญหาต่าง ๆ รู้จักแยกแยะสังเกตสิ่งต่าง ๆ และหากพ่อแม่รู้จักสอนอย่างเหมาะสมเด็กจะเรียนรู้ได้มากมายผ่านการเล่นที่ หลากหลาย ด้านสมาธิบางครั้งเด็กชอบเล่นซ้ำ ๆ กับกิจกรรมบางอย่าง พ่อแม่ควรปล่อยให้เด็กได้ใช้เวลาของเขาเต็มที่ เช่นการต่อเลโก้
- ด้านจินตนาการ เด็กเริ่มเล่นจินตนาการตั้งแต่อายุ 18 เดือน และจะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ จนวัยประถมศึกษาตอนต้น จากนั้นจะค่อย ๆ ลดน้อยลง การเล่นโดยใช้จินตนาการเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับเด็ก เพราะจะนำไปสู่การพัฒนาความคิด อารมณ์ และสังคมต่อไป เพราะการเล่นจินตนาการ จะช่วยให้เด็กมีความคิดที่หลากหลายไม่จำกัด เช่น ของเล่นบทบาทสมมติ เป็นต้น
3. ประหยัด
ของเล่นควรมีราคาไม่แพงมากนัก คุณพ่อคุณแม่ควรซื้อเท่าที่จะซื้อได้ ไม่ใช่ซื้อแล้วซื้ออีก เห็นว่าอันนี้สวยกว่าอันเก่า หรือลูกมีทักษะด้านนี้มากอยู่แล้ว ก็ซื้อมาให้ลูกเล่นซ้ำ นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่บางคนไปยึดติดกับอดีตในวัยเด็กของตัวเองมากจนเกินไป เช่น เมื่อก่อนไม่เคยเล่นอะไร พอมีลูกก็อยากให้ลูกมีเล่นบ้าง เพื่อชดเชยสิ่งที่ขาดหายไปในวัยเด็ก ซึ่งลูกอาจไม่ชอบเหมือนอย่างที่พ่อกับแม่ชอบก็ได้ ทางที่ดีควรเน้นลูกเป็นหลัก ที่สำคัญพ่อแม่ไม่ควรเชื่อ หรือใจอ่อนกับเจ้าหน้าที่ขายของเล่นตามบ้าน หรือตามห้างร้าน เพียงเพราะเห็นว่าดี หรือมีคุณสมบัติที่เหนือกว่าของเล่นอื่น จึงขอแนะนำให้ดูความเหมาะสมของราคา และเลือกอย่างเข้าใจ
อย่าง ไรก็ตาม ถ้าหากไม่มีความจำเป็นที่ต้องซื้อ โดยสามารถหาของเล่นประเภทอื่น หรือ ชนิดอื่นมาทดแทน แต่ได้ผลลัพธ์เช่นเดียวกัน ก็ควรที่จะเปลี่ยน หรือไม่ก็อาจจะลงมือทำของเล่นเองก็ย่อมส่งผลดีต่อจิตใจของเด็ก เพราะบางทีของเล่นที่มีราคาแพงก็ไม่ได้แปลว่าจะทำให้ลูกประทับใจเท่ากับการ ที่ได้รับความรักความอบอุ่นและความเข้าใจจากพ่อแม่
4. ปฏิสัมพันธ์
พ่อ แม่ควรพิจารณาเลือกของเล่นที่ลูกสามารถเล่นร่วมกับผู้อื่น หรือพ่อแม่ร่วมเล่นได้ นอกจากจะทำให้เด็กมีความสนุกแล้ว ยังจะเป็นการส่งเสริมความเข้าใจในครอบครัวด้วย อย่างเช่น เกมเศรษฐี เกมใบ้คำต่างๆ เป็นต้น กิจกรรมเหล่านี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้พ่อแม่ลูก มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ซึ่งถือว่าเป็นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับเด็ก
" คุณพ่อคุณแม่เองต้องดูด้วยว่า ลูกขาดทักษะด้านไหน ถ้าเกิดว่าลูกเราไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กับใคร แต่กลับเอาของเล่นมาให้ลูกเล่นคนเดียว ซึ่งไม่ถูกต้อง แต่ควรเอาของเล่นที่สามารถเล่นร่วมกับคนอื่นได้ มาให้ลูกเล่น ซึ่งคนที่สำคัญที่สุดในการเล่นกับลูกก็คือพ่อแม่" พญ.เพียงทิพย์แนะ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
กระนั้นแล้ว พญ.เพียงทิพย์ บอกว่า " ของเล่นต้องเลือกให้เหมาะสมกับสมองของเด็กด้วย เช่น ลูกเราไม่เก่ง ก็เลือกของเล่นให้เท่ากับลูกเรา หรือถ้าลูกเราเก่ง ก็เลือกของเล่นให้เหมาะสมกับวัยโดยบวกเท่ากับที่ลูกเราเก่ง สมมติว่าลูกเราอายุ 10 ขวบ ไอคิว 130 ก็ต้องบวกไปอีก 30 เปอร์เซ็นต์ เราก็ซื้ออายุ 13 ไปเลย แต่ถ้าครอบครัวไหนไม่เคยทำไอคิวเทสต์ ก็เลือกซื้อของเล่นให้เหมาะสมกับลูกได้ เช่น ตอนที่ซื้อให้ลูกแล้วมันเล่นง่ายเกินไป เราก็ซื้อในอีกช่วงอายุหนึ่ง ซึ่งจะทำให้พอดี เด็กก็จะไม่เบื่อ ไม่เครียด และมีพัฒนาการด้านต่างๆ ที่ดีตามวัย ขณะเดียวกันจะไม่ประเมินตัวเองว่าต่ำ หรือสูงเกินไป ซึ่งคุณพ่อคุณแม่เองไม่ควรมองข้ามในมุมนี้ด้วย"
" แต่ถ้าเล่นไม่ตรงตามวัย เอาของต่ำกว่าวัยไปให้ลูกเล่น ซึ่งถ้าเด็กเก่ง หรือมีทักษะด้านนั้นดีอยู่แล้ว เด็กอาจจะเบื่อก็ได้ หรือถ้าเด็กหลงตัวเอง ก็จะชะล่าใจคิดว่าตัวเองเก่งมาก ตัวฉันสุดยอดแบบว่าอะไรก็ง่ายไปหมด ทำให้เด็กเหลิงได้ หรืออีกกรณีหนึ่ง ถ้าพ่อแม่ซื้อของเล่นเกินวัยให้กับลูก อาจเป็นเรื่องยากสำหรับเด็ก ทำให้เด็กบางคนคิดว่า "ทำไมถึงฉันถึงเล่นไม่ได้สักที ฉันโง่หรือเปล่า" เด็กจึงเครียด และประเมินตัวเองผิดไป สิ่งเหล่านี้เกิดจากของเล่นที่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เลย ดังนั้นพ่อแม่ต้องเลือกให้ตรงตามวัยของลูกด้วย" พญ.เพียงทิพย์แนะนำ
** พฤติกรรมการเล่นของเด็กในแต่ละช่วงวัย **
ด้าน "รศ.ดร.จิตตินันท์ เดชะคุปต์" ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก สาขาวิชามนุษย์นิเวศน์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อธิบายถึงพฤติกรรมการเล่นของเด็กในแต่ละช่วงวัยว่า
เด็กวัย 0-1 ปี เด็กวัยนี้ในช่วงแรกเกิด - 3 เดือน จะยังไม่สนใจกับการเล่นมากนัก แต่เด็กจะเริ่มพัฒนาประสาทสัมผัสการมองเห็นและการได้ยิน การแขวนของเล่นที่สดใสที่แกว่งไกวแล้วมีเสียงกรุ๋งกริ๋งช่วยให้เด็กกรอกสาย ตา
เด็กวัย 1-2 ปี เด็กวัยนี้เริ่มเดินได้เองบ้างแม้จะไม่มั่นคงนักแต่ก็ชอบเกาะเครื่องเรือน เดินจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ของเล่นควรเป็นประเภทที่ลากจูงไปมาได้ ประเภทรถไฟหรือรถลาก
สำหรับเด็กวัย 2-4 ปี เด็กวัยนี้อยากรู้อยากเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง เด็กเคลื่อนไหว ได้คล่องขึ้น และทรงตัวได้ดีเพราะกล้ามเนื้อแขนขาแข็งแรงขึ้นมาก ทำให้ชอบเล่นที่ออกแรงมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิ่งเล่น กระโดด ปีนป่าย ม้วนกลิ้งตัว เตะขว้างลูกบอล และขี่จักรยานสามล้อ
ส่วนเด็กวัย 4-6 ปี เด็กวัยนี้มีความพร้อมในด้านต่าง ๆ มากขึ้น ชอบเล่นกลางแจ้งกับเครื่องเล่นสนามและเครื่องเล่นที่มีลูกล้อขับขี่ได้ เด็กพอใจที่จะเล่นกับเพื่อนเป็นกลุ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ กิจกรรมการเล่นที่เหมาะสม ใน
เด็กวัย 0 - 1 ปี ควรจัดให้เป็นการเล่นหยอกล้อเด็กด้วยคำคล้องจองมีการแสดงสีหน้าท่าทางและใช้ เสียงสูง ๆ ต่ำ ให้เด็กสนใจ เช่น การเล่นปูไต่ การเล่นจ๊ะเอ๋ การเล่นจับปูดำ การเล่นซ่อนหาของ เป็นต้น
ขณะที่
เด็กวัย 1-2 ปี ควรจัดให้เป็นการเล่นสำรวจที่ใช้ประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหวอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น การให้เด็กบริหารแขนขา การเล่นดิน-ทราย-น้ำ การหยิบของตามคำบอก เป็นต้น
ส่วน
เด็กวัย 2-4 ปี ควรจัดให้เด็กใช้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ออกมาเป็นการแสดง บทบาทสมมติหรือผลงานทางศิลปะ เช่น การเล่นเป็นพ่อแม่ การเล่นขายของ การเล่นสร้างงานศิลปะ เป็นต้น
และ
เด็ก 4-6 ปี ควรจัดให้เป็นการเล่นที่เด็กสามารถสะท้อนความคิดความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งที่ เด็กเรียนรู้ เช่น การวาดภาพและเล่าเรื่องราว การแสดงบทบาทสมมติ การเล่นที่ใช้ทักษะการสังเกตเปรียบเทียบ
จะ เห็นได้ว่า "ของเล่น"...ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ พ่อแม่ควรเลือกซื้อให้ตรงตามวัยของลูก ตามหลัก 4ป.-ปลอดภัย-ประโยชน์-ประหยัด-ปฎิสัมพันธ์ เพื่อความเหมาะสม และส่งเสริมพัฒนาการของลูกให้ไปไปตามช่วงวัย และเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า ของเล่นที่ดีที่สุดของลูกในทุกช่วงวัย โดยเฉพาะในวัยเด็ก ก็คือ "ตัวคุณพ่อคุณแม่" นั่นเอง