เว็บทั้งหมดจะย้ายไปที่ www.2pasa.com แล้วนะครับ ตามไปที่นั่นได้เลย

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ - สองภาษาดอทคอม

บทความ เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้นานเพียงใด

ไม่ได้เข้ามาทักทายกับครอบครัวสมาชิกสองภาษานานพอสมควร แต่ก็ยังคิดถึง และก็ยังสอนลูกด้วยภาษาอังกฤษที่บ้าน ตอนนี้น้องแทมมี่ 2 ขวบ 4 เดือนแล้วค่ะ ขอรายงานตัว  และมีเรื่องนมแม่มาแบ่งปันให้อ่าน เพราะตอนนี้น้องก็ยังดื่มนมแม่จากเต้าทุกวัน แต่น้องก็จะดืมนมชงหรือนมวัว เมื่อแม่น้องแทมมี่ไปทำงานค่ะ พอเจอหน้าแม่ก็จะร้องขอดูดนมจากแม่ทุกครั้ง  ลองอ่านดูน่ะค่ะ น่าสนใจค่ะ .........

 

เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้นานเพียงใด

 

น้ำนมคืออาหารที่ธรรมชาติเตรียมไว้สำหรับลูกของสัตว์เลี้ยงด้วยนม สัตว์แต่ละชนิดจะผลิตน้ำนมสำหรับลูกไปนานจนกว่าระบบของร่างกายลูกจะพร้อมทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นระบบการย่อยอาหารชนิดอื่นที่ไม่ใช่นม ระบบภูมิคุ้มกันโรค ความสามารถในการหาอาหารได้ด้วยตัวเอง หรือความพร้อมในการพึ่งพาตัวเองโดยไม่ต้องอาศัยแม่


ในอดีต ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ผู้หญิงเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นแม่ผู้ให้นมและดูแลลูกอยู่ที่บ้าน มาเป็นแม่ที่ต้องทำงานนอกบ้าน และก่อนที่จะมีการใช้นมอื่นมาใช้เลี้ยงลูกคน ไม่เคยมีบันทึกไว้ว่าคนควรให้นมลูกนานเพียงใด จึงมีการศึกษาให้ได้คำตอบนี้โดยการสังเกตจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดต่างๆ พบว่าสัตว์บางชนิดหยุดกินนมแม่ (natural weaning age) เมื่อน้ำหนักตัวเป็น 4 เท่าของน้ำหนักแรกเกิด บางชนิดหยุดเมื่อน้ำหนักตัวถึงหนึ่งในสามของน้ำหนักเมื่อโตเต็มที่ บางชนิดหยุดเมื่อเริ่มมีฟันแท้ซี่แรกขึ้น
ส่วนในลิงซึ่งมีหลายพันธุ์ ตั้งแต่ลิงขนาดเล็ก มีอายุขัยสั้น เช่น ลิงแสมดำ ชะนี จนถึงลิงขนาดใหญ่ อายุขัยยาวขึ้น มีความฉลาดมากขึ้น และมีลักษณะใกล้เคียงคนมากที่สุด เช่น กอริลล่าหรือชิมแปนซี พบว่าเหล่าลิงใหญ่ จะมีน้ำหนักของลูกเมื่อแรกเกิดเทียบกับน้ำหนักเมื่อโตเต็มที่มากกว่าลิงขนาดเล็ก มีสมองขนาดใหญ่กว่าและน้ำหนักสมองมากกว่า มีระยะเวลาการตั้งครรภ์ที่ยาวนานกว่า (ชะนีตั้งครรภ์นาน 30 สัปดาห์ ชิมแปนซีตั้งครรภ์นาน 33 สัปดาห์ คนตั้งครรภ์นาน 40 สัปดาห์) จะ ให้นมลูกนานกว่าลิงขนาดเล็ก ความเป็นจริงในธรรมชาติ เราพบว่า ลิงกอริลล่าและชิมแปนซี ซึ่งมีอายุขัย 30-40 ปี ให้นมลูกนาน 6 ปี ขณะที่คนมีอายุขัย 70 ปี เมื่ออาศัยจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของสิ่งมีชีวิตที่เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิดประกอบกันแล้ว จึงได้ข้อสรุปว่าคนเราควรให้ลูกกินนมนานอย่างน้อยที่สุดคือ 2.5 ปี และกินได้นานถึง 7 ปี (คนมีน้ำหนัก 4 เท่าของแรกเกิดเมื่ออายุ 2.5 ปี มีน้ำหนักหนึ่งในสามของน้ำหนักเมื่อโตเต็มที่เมื่ออายุ 6 ปี มีฟันแท้ซี่แรกขึ้นเมื่ออายุ 6-7 ปี)

ในคนนั้น พบว่าต้องรอจนอายุ 6-7 ปี ระบบหลายอย่างของร่างกายจึงจะพัฒนาได้เต็มที่ จึงเป็นเหตุผลว่าเด็กควรได้รับนมแม่ไปจนถึงช่วงเวลาดังกล่าว


ประการแรก คือ เด็กจะมีระดับภูมิต้านทาน (อิมมูโนโกลบูลิน A,G,M) ซึ่งช่วยในการป้องกันโรคติดเชื้ออยู่ในระดับใกล้เคียงผู้ใหญ่เมื่อเด็กอายุ 6 ปี ส่วนระดับภูมิต้านทานในเด็กอายุก่อน 6 ปี พบว่ายังมีระดับต่ำอยู่ จึงทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย ต้องอาศัยสารสำคัญที่หลั่งจากเม็ดเลือดขาวที่มีอยู่ในนมแม่เป็นตัวช่วยกระตุ้นการสร้างภูมิต้านทาน ทำให้เด็กที่กินนมแม่มีร่างกายที่แข็งแรงไม่เจ็บป่วยบ่อยเมื่อเจอกับเชื้อโรค


ประการที่สอง คือ จากการศึกษาพบว่าน้ำหนักสมองของเด็กจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนกระทั่งอายุ 6-7 ปีและการสร้างปลอกหุ้มเส้นใยประสาทจะสำเร็จสมบูรณ์ที่อายุ 7 ปี (ไม่ใช่แค่เพียงอายุ 2 ปีแรก) หากในช่วงเวลานี้สมองได้รับสารสำคัญคือ กรดไขมันไม่อิ่มตัว PUFA (ที่รู้จักกันดีคือ DHA และ ARA) จะทำให้เด็กมีสมองและจอประสาทตาที่ดีที่สุด ซึ่งสารดังกล่าวพบได้ในนมแม่ไม่ใช่นมวัว (ส่วนที่มีการเติม DHA, ARA ในนมผงนั้น ยังไม่ได้รับการยืนยันว่ามีประโยชน์จริง) ดังนั้นเด็กจึงควรกินนมแม่เพื่อให้ได้รับสารเหล่านี้เต็มที่


ประการที่สาม นักจิตวิทยาด้านพัฒนาการเด็กพบว่า กระบวนการทางความคิดของเด็กจะเปลี่ยนแปลงอย่างมากจากเด็กเล็กที่มีความคิดที่ไม่ซับซ้อน เป็นลักษณะที่มีคุณภาพมากขึ้นแบบเด็กโตเมื่ออายุ 7 ปี หากเด็กยังคงได้กินนมแม่ในช่วงเวลานี้ จะช่วยสร้างความสัมพันธ์แน่นแฟ้นระหว่างแม่ลูกและเป็นพื้นฐานความรักความอบอุ่นที่สำคัญของครอบครัว จากการวิจัยพบว่าผู้ที่ทราบว่าตัวเองได้กินนมแม่ ไม่ว่าจะเป็นจากคำบอกเล่าของแม่หรือจากความทรงจำของเด็กเอง จะมีความรู้สึกที่ดีกับแม่และรู้สึกขอบคุณแม่


ประการสุดท้าย คือ การปรากฏของฟันแท้ซี่แรก เป็นสัญญานที่บอกว่า พร้อมแล้วสำหรับการพึ่งพาตัวเอง การหาอาหารเองในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด อันที่จริงคนสมัยก่อนเรียกชื่อฟันชุดแรกว่าฟันน้ำนม ก็เป็นการบอกเป็นนัยแล้วว่า ควรกินนมแม่จนกว่าฟันแท้จะมานั่นเอง จากเหตุผลดังกล่าวทั้ง 4 ประการ ทำให้สรุปได้ว่า ช่วงเวลา 6-7 ปีแรกของคน เป็นช่วงที่เด็กควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแม่ รวมถึงการได้รับนมแม่ เพื่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่เหมาะสม

นมแม่มีประโยชน์ต่อเด็กทุกอายุแน่นอน หมอขอยกตัวอย่างจากประสบการณ์ตรง คือ หมอพบคนไข้หลายครอบครัวที่มีลูกคนโตเป็นโรคภูมิแพ้ เป็นหวัดบ่อย เป็นไซนัสอักเสบ ต้องหยุดเรียน กินยารักษาโรคจำนวนมาก เนื่องจากลูกคนโตไม่ได้กินนมแม่เลยหรือได้กินน้อยมาก จนกระทั่งแม่คลอดน้องแล้วได้รับคำแนะนำเรื่องนมแม่ และทราบว่าการกินนมวัวสัมพันธ์กับการเกิดโรคภูมิแพ้ ทำให้แม่มีความตั้งใจอย่างมากในการผลิตน้ำนมเผื่อลูกคนโตด้วย โดยปั๊มนมให้ลูกคนโตกิน บางคนผลิตน้ำนมได้มากสำหรับเลี้ยงเด็กได้ถึง 3 คน (ลูกคนโตเป็นฝาแฝด ป่วยบ่อยทั้งคู่) หลังจากที่ลูกคนโตได้กินนมแม่ และหยุดกินนมวัว พบว่าสุขภาพแข็งแรงขึ้นมาก อาการภูมิแพ้ดีขึ้นอย่างชัดเจน

กล่าวโดยสรุปคือ การให้นมแม่นาน 2.5-7 ปี เป็นสิ่งปกติที่แม่ทำได้ หากแม่อยากทำ และมีประโยชน์แน่นอนทั้งทางด้าน คุณค่าทางโภชนาการ ภูมิต้านทานโรค และเป็นพื้นฐานของพัฒนาการทางอารมณ์ที่สำคัญ จนกว่าเด็กจะถึงวัยที่สามารถสร้างสิ่งต่างๆเหล่านี้ได้ด้วยตัวเอง
แต่ความเป็นจริงในยุคปัจจุบัน อิทธิพลจากความเชื่อในสังคม บุคคลในครอบครัว คนรอบข้างและผองเพื่อน การที่แม่ต้องทำงานนอกบ้าน (แต่หากแม่ทราบวิธีปั๊มนมและเก็บนม ก็ยังสามารถให้นมลูกต่อไปได้เรื่อยๆ ลูกคนเล็กของหมอ 2 ปี 7 เดือนแล้ว ก็ยังกินนมแม่อยู่ค่ะ) กระแสโฆษณาชวนเชื่อเกินความจริงของนมผง คำแนะนำจากหนังสือหรือนิตยสารแม่และเด็ก คำแนะนำจากบุคลากรสาธารณสุข หรือแม้แต่คำพูดจากคนแปลกหน้าหรือผู้หวังดีที่เห็นแม่กำลังให้นมลูก มักแสดงความเห็นที่ต่อต้านหรือไม่เห็นด้วยกับการให้นมของแม่ ทำให้แม่ต้องยุติการให้นมก่อนเวลาอันควร (cultural weaning age) แล้วเปลี่ยนไปใช้นมวัวแทน จนเกิดปัญหาหลายอย่างตามมา เช่น ภาวะทุพโภชนาการหรือโรคอ้วน โรคภูมิแพ้ และโรคติดเชื้อ ซึ่งโรคเหล่านี้แสดงออกโดยใช้เวลาไม่นานหลังเริ่มกินนมวัว ส่วนผลเสียในระยะยาวของการที่ทารกกินนมวัวอาจยังไม่แสดงออกในเวลาเพียงไม่กี่ปี แต่อาจแสดงออกเมื่อเป็นผู้ใหญ่ไปแล้วเช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันสูง โรคมะเร็ง หรืออาจแสดงออกในเวลาที่นานกว่าชั่วชีวิตของมนุษย์ นั่นคือ อาจส่งผลต่อวิวัฒนาการของมนุษย์ทำให้เบี่ยงเบนไปจากธรรมชาติของมนุษย์ เนื่องจากการได้รับสารอื่นแปลกปลอม (ฮอร์โมนของวัว) เข้าไปในร่างกายของเด็กในช่วงที่ระบบของร่างกายยังพัฒนาไม่เต็มที่ ทำให้เกิดโรคบางอย่างหรือเกิดเป็นพฤติกรรมที่ผิดปกติของเด็กในอนาคต คงต้องรอติดตามผลการศึกษาวิจัยกันต่อไป ในระหว่างนี้ หากแม่ยังสามารถให้นมแม่ได้ ก็ควรให้ต่อไป ไม่ควรจะเปลี่ยนมากินนมวัวเพราะคิดว่านมแม่ดูใสๆนั้นไม่มีประโยชน์ การที่นมแม่ใสเนื่องจากมีไขมันเป็นชนิดดีเป็นพิเศษ บำรุงสมอง ไม่อุดตันเส้นเลือด ขณะที่ในนมวัวเป็นไขมันชนิดไม่ดี หากกินมากเกินไป จะทำให้มีปัญหาไขมันอุดตันเส้นเลือดได้ และที่นมวัวดูเข้มข้นเพราะผู้ผลิตตั้งใจใส่ไขมันจากพืช เช่น ปาล์ม มะพร้าว ข้าวโพด ถั่วเหลือง เพื่อทดแทนกรดไขมันจำเป็นที่ไม่มีอยู่ในนมวัว และต้องการให้ดูเข้มข้นเพราะหวังผลทางการตลาด เพราะทราบว่าผู้บริโภคชอบ (ลำพังนมวัวเอง จะไม่ดูเข้มข้นมากนัก)

เหตุผลที่ทำให้แม่ต้องหยุดให้นมลูกก่อนเวลาอันควร ได้แก่
คนรอบข้าง หมอที่ดูแลลูก หมอที่รักษาโรคหวัดของแม่ พอทราบว่าแม่ยังให้นมลูก ทำตาโตและอุทานว่า อะไรกัน จะให้ไปถึงไหน เลิกได้แล้ว ไม่มีประโยชน์แล้ว
วิธีแก้ไข คือ ให้รับฟังโดยสงบ ไม่ต้องแย้ง แต่ไม่ต้องเชื่อค่ะ คิดเสียว่า เราอยู่ผิดที่ผิดทาง ถ้าเป็นทางยุโรป ซึ่งเขาสนับสนุนนมแม่มาก ให้ลางานได้ 1-2 ปี มีน้ำนมแม่ ซึ่งรัฐบาลซื้อจากแม่ที่มีน้ำนมมาก มาเก็บไว้สำหรับแม่ที่มีน้ำนมน้อยมารับไปใช้ได้ฟรี (ตรวจเช็คนมแล้ว ว่าปลอดภัยแน่นอน จากแม่ไม่เป็นเอดส์) เวลาเห็นแม่ให้นมลูก ก็จะมองด้วยสายตาชื่นชมและยกย่องชมเชยว่าแม่น่ารักจัง ทำให้แม่มีกำลังใจที่จะให้ต่อไปเรื่อยๆ ว่ามีคนเห็นคุณค่า เหนื่อยอย่างไรก็ไม่เป็นไร แต่อยู่ในเมืองไทย กลายเป็นว่า เหนื่อยแล้วยังไม่มีใครเห็นความดี ก็ไม่รู้ว่าจะทำไปทำไม

ลูกมีน้ำหนักน้อย ตัวเล็ก กินข้าวไม่เก่ง ชอบกินแต่นมแม่ เลยถูกกล่าวหาว่า หากไม่เลิกนมแม่ ลูกก็คงไม่โตกันพอดี ความเป็นจริงคือ เด็กกินนมแม่มีมากมายที่ตัวโต กินข้าวเก่งทั้งที่ยังกินนมแม่ควบคู่กันไป และในทางตรงกันข้าม หมอเจอเด็กกินนมวัวที่คุณแม่ปรึกษาว่า ลูกตัวเล็ก กินข้าวไม่เก่ง กินแต่นม เลยตัวเล็ก ควรเปลี่ยนเป็นนมยี่ห้อ...ชัวร์ๆ ดีไหมค่ะ จะได้น้ำหนักดีๆอ้วนๆ
วิธีแก้ไข เปลี่ยนวิถีการคิด ไม่ยึดติดกับตัวเลข เรื่องของน้ำหนักตัว ไม่ใช่ว่ายิ่งมากยิ่งดีนะคะ ต้องระวังอย่าให้เป็นโรคอ้วนซึ่งพบได้มากมายในเด็กยุคปัจจุบัน เด็กกินเก่งหรือไม่เก่ง ตัวโตหรือตัวเล็ก บางครั้งเป็นเรื่องของพันธุกรรมเป็นตัวกำหนด สิ่งที่คุณแม่ทำได้คือ ควบคุมให้ลูกได้รับแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่ให้ลูกกินขนม ทำบรรยากาศการกินให้ดี ไม่บังคับจนลูกต่อต้านการกิน แล้วลูกกินได้แค่ไหน ก็แค่นั้น ขอให้ลูกมีสุขภาพแข็งแรงพัฒนาการปกติ อย่าไปเครียดหรือรู้สึกถูกกดดันจากคนรอบข้างจนไม่มีความสุข
ลูกติดแม่มาก แม่ทำอะไรไม่ได้เลย ไม่เอาคนอื่นเลย เพราะดูดนมแม่ตลอดเวลา
วิธีแก้ไข เช่นกันค่ะ คือเด็กที่กินนมแม่ มีทั้งเด็กเลี้ยงง่ายและเลี้ยงยาก เด็กกินนมวัวก็เหมือนกัน ดังนั้น ต้องแก้ไขที่วิธีเลี้ยงดู ไม่ใช่การเปลี่ยนนม ผู้เลี้ยงดูควรหากิจกรรมสนุกๆมาเล่นกับลูก ให้เขามีพัฒนาการด้านต่างๆ ถ้าแม่และคนอื่นๆเล่นกับลูกเป็น ทำให้เขามีความสุขได้ เขาก็ไม่ต้องอาศัยนมแม่เป็นที่พึ่งทางใจอยู่ร่ำไป (ต้องทำตัวเลียนแบบเหมือนคุณครูอนุบาลที่มีวิธีการทำให้เด็กติดใจ)
ลูกตื่นบ่อยกลางคืน ไม่หลับยาว อยากให้นมวัวเพราะจะทำให้อยู่ท้อง หลับนานขึ้น


วิธีแก้ไข เช่นกันค่ะ เด็กกินนมวัว ตื่นมากินนมกลางคืน พบได้พอๆกัน หากถึงวัย 6 เดือน ควรฝึกให้ไม่ต้องกินนมวัวกลางคืนได้แล้ว โดยการปล่อยให้ร้อง ให้เขาหัดหลับต่อได้ด้วยตัวเอง เพราะคราบนมวัวในปากจะทำให้ฟันผุได้ แต่เด็กที่กินนมแม่ หากแม่ต้องทำงานนอกบ้าน กลางวันไม่ค่อยได้ดูดเต้า กลางคืนยังได้รับการกระตุ้นจากลูกดูด ข้อดี คือ จะช่วยทำให้ฮอร์โมนที่กระตุ้นน้ำนมหลั่งดี จึงช่วยให้แม่มีน้ำนมมากพอที่จะเลี้ยงลูกได้ หากลูกหลับยาว ทำให้การดูดกระตุ้นไม่พอ อาจทำให้น้ำนมลดลงอย่างมาก ยกเว้นว่าแม่ตื่นขึ้นมาปั๊มนมเอง (แต่ส่วนใหญ่ ไม่ค่อยตื่น หลับแล้วหลับเลย) ข้อเสีย คือ คนมักห่วงว่านมแม่จะทำให้ฟันผุได้ด้วย แต่จากประสบการณ์ที่หมอพบ หากเป็นนมแม่และลูกไม่ได้กินของหวาน ได้รับการแปรงฟันอย่างดีก่อนนอน ไม่เคยเจอปัญหาฟันผุเลย อีกประการที่คนห่วงกันคือ กลัวลูกไม่ได้หลับยาวต่อเนื่อง กลัวว่าจะเตี้ยเพราะ growth hormone ไม่หลั่ง อันนี้ก็ไม่จริง เพราะลูกตื่นขึ้นมาเอง เป็นช่วงที่ไม่ได้หลับลึกของเขาอยู่แล้ว ช่วงหลับลึกที่ฮอร์โมนหลั่งเขาก็ไม่ตื่น แต่ข้อเสียแน่ๆ คือ แม่ไม่ได้หลับยาวๆ อาจทำให้ร่างกายทรุดโทรมจนเจ็บป่วยได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกลางวันทำงาน ไม่มีเวลาพักผ่อน อันนี้ก็แล้วแต่ความอึดของคุณแม่แต่ละคนค่ะ ส่วนคุณแม่ที่เลี้ยงลูกเองทั้งกลางวันกลางคืน หมอแนะนำว่าควรฝึกให้เลิกดูดนมแม่กลางคืนได้เช่นกัน เพราะกลางวันแม่อยู่กับลูก ได้รับการกระตุ้นตลอดเวลาอยู่แล้วค่ะ

หมอเคยเจอคุณย่าท่านหนึ่งพาหลาน 2 ปี มาตรวจสุขภาพและฉีดวัคซีน เป็นเด็กที่สุขภาพแข็งแรงดีมาก พัฒนาการดี สุขภาพจิตดีมาก ถามไถ่ได้ความว่ากินนมแม่อย่างเดียวตั้งแต่เกิด มาตอนนี้ย่าอยากให้เลิกนมแม่ แต่เด็กไม่ยอมเลิก จึงปรึกษาหมอว่าทำอย่างไรดี หมอจึงถามว่าเพราะอะไรถึงอยากให้เลิกกินนมแม่ และคุณแม่ยังอยากให้อยู่หรือไม่ แม่บอกว่าถ้ายังมีประโยชน์อยู่ ก็ยังอยากให้ไปเรื่อยๆ แต่ย่าบอกว่าเวลาไปไหนมาไหนไม่สะดวก วันก่อนนั่งรถไฟนาน 5 ชม. ร้องไห้จะกินนมแม่บนรถไฟ อายคนเขา หมอจึงอธิบายว่า การที่เด็กร้องไห้บนรถไฟนั้น ไม่เป็นเรื่องแปลกใจเลย เพราะเขาคงเบื่อ ยังดีที่มีนมแม่เป็นตัวช่วยทำให้เขาสงบได้ หากไม่มีนมแม่เป็นสิ่งปลอบใจ เขาอาจรู้สึกแย่กว่านี้ วิธีแก้ปัญหาในกรณีนี้คือ ให้คุณแม่พกผ้าคลุมไหล่ผืนโตๆติดตัวไว้ เพื่อกันโป๊เวลาให้นมในที่สาธารณะ หรืออย่างในกรณีเด็กที่เจ็บป่วย บางครั้งมีอาการเบื่ออาหารอย่างมาก ไม่สามารถกินอะไรได้เลย หากยังมีน้ำนมแม่ให้เขาดูดได้ จะช่วยพยุงร่างกายให้พ้นจากความลำบากไปได้เป็นอย่างดี

ดังนั้นแม่จึงควรได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อประกอบการตัดสินใจเกี่ยวกับการให้นมแม่ ศึกษาถึงข้อดี (ต่อสุขภาพของลูกและแม่ ครอบครัว สังคมและประเทศ) ข้อเสีย (ความเหน็ดเหนื่อย การให้เวลากับตัวเอง สามีและลูกๆที่โตกว่า ปัญหาสุขภาพของแม่เองเช่น โรคกระดูกสันหลังทำให้ปวดหลังเวลาให้นมนานๆ การวางแผนการตั้งครรภ์คนต่อไป) ผู้ให้คำแนะนำไม่ควรกำหนดกฏเกณฑ์ว่าแม่แต่ละท่านควรให้นมนานแค่ไหน แต่ควรเป็นไปตามความสมัครใจและความต้องการของแม่และลูกเอง และตราบใดที่แม่ยังให้ลูกดูดนม แม่ก็ยังคงมีน้ำนมที่เป็นประโยชน์ต่อลูกอยู่เสมอ ส่วนในคุณแม่ที่น้ำนมแห้งไปแล้ว แต่ลูกยังขอดูดเต้าเวลาที่ลูกรู้สึก เศร้า เจ็บ เหงา เบื่อ ก็ยังให้ประโยชน์ทางใจแก่ลูกค่ะ ขอเป็นกำลังใจให้แม่ทุกคนค่ะ
>

Views: 499

Replies are closed for this discussion.

--oO--

สแกนโค้ด แอดไลน์ @2pasa แล้วลุ้นของรางวัลรวมคลิปเวิร์กช็อปทั้งหมด

Events

หนังสือในชุดเด็กสองภาษา



© 2024   Created by ผู้ใหญ่บิ๊ก.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service