เว็บทั้งหมดจะย้ายไปที่ www.2pasa.com แล้วนะครับ ตามไปที่นั่นได้เลย

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ - สองภาษาดอทคอม

ทำไมทารกร้องไห้โยเย

ไม่ มีอะไรซับซ้อน ทารกร้องไห้โยเยด้วยสาเหตุเดียวกับผู้ใหญ่ คือ เขารู้สึกเจ็บปวด (ไม่ทางกายก็ทางใจ) หรือเขาต้องการอะไรบางอย่าง การร้องไห้มีมากมายหลายแบบ เช่น ทารกที่ร้องไห้เพราะอยากให้อุ้ม เราสามารถปลอบเขาให้เงียบได้ง่ายตราบเท่าที่ยังมีคนอุ้มเขาอยู่ ส่วนทารกที่ร้องไห้เพราะรู้สึกเจ็บปวด อาจจะร้องไห้งอแงและไม่สามารถปลอบให้เงียบได้ง่าย ๆ เราเรียกว่าอาการร้องไห้แบบนี้ว่า โคลิก

ทารก ร้องไห้โยเยเพราะรู้สึกไม่สบายตัว ตอนทารกอยู่ในท้องแม่ เขาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับเขาอย่างสมบูรณ์แบบ สภาพที่ได้ลอยตัวอย่างเป็นอิสระในถุงน้ำคร่ำ มีอุณหภูมิคงที่ตลอดเวลา ความต้องการสารอาหารได้รับการตอบสนองโดยอัตโนมัติ สิ่งแวดล้อมในท้องแม่เป็นระเบียบและสะดวกสบาย ทารกร้องโยเยเพราะคิดถึงสภาวะ ที่เขาเคยชินในท้องแม่ การออกจากท้องแม่ทำลายความเป็นระเบียบและสะดวกสบาย นี้ไป

ใน ช่วงเดือนแรกหลังคลอด ทารกอยากกลับไปสู่สภาวะที่มีระเบียบและสะดวกสบาย และต้องพยายามปรับตัวให้เข้ากับชีวิตนอกท้องแม่ การกำเนิดและการปรับตัวเข้าสู่ชีวิตหลังคลอดจะดึงอารมณ์ของทารกออกมา เป็นครั้งแรกที่เขาต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้ความต้องการของเขาได้รับการ ตอบสนอง เขาถูกบังคับให้กระทำ ให้ทำตัวดี ๆ ถ้ารู้สึกหิว, หนาว, กังวล เขาจะร้องไห้ เขาต้องใช้ความพยายามเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่เขาต้องการจากสิ่งแวดล้อมที่ ให้ความดูแลเขาอยู่ ถ้าเขามีความต้องการในเรื่องง่ายๆ เขาก็จะได้รับสิ่งที่เขาต้องการได้อย่างง่ายดาย และเราก็จะคิดว่าเขาเป็น “เด็กเลี้ยงง่าย” แต่ถ้าเขาไม่ปรับตัวอย่างรวดเร็ว เราก็จะคิดว่าเขาเป็น “เด็กเลี้ยงยาก” ทารกที่หงุดหงิดงอแง คือทารกที่ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ยาก คือทารกที่ไม่พอใจง่าย ๆ กับการดูแลที่เขาได้รับ พวกเขามีความต้องการมากกว่านั้น และพวกเขาแสดงอาการหงุดหงิดงอแง เพื่อให้ได้มันมา

การ ร้องไห้ ไม่ใช่แค่เสียง แต่มันคือสัญญาณที่ถูกออกแบบเพื่อความอยู่รอดของทารกและพัฒนาการของพ่อแม่ การไม่ตอบสนองต่อเสียงร้องไห้ ทั้งพ่อแม่และทารกจะเสียประโยชน์ทั้งคู่

ใน เดือนแรก ๆ ทารกไม่สามารถบอกความต้องการของเขาออกมาเป็นคำพูดได้ ในระหว่างที่ทารกไม่สามารถพูด “ภาษาของพ่อแม่” ได้ เขาก็มีภาษาที่เป็นเอกลักษณ์ของเขาเองที่เรียกว่า “การร้องไห้”

เมื่อ ทารกมีความต้องการ เช่น หิวหรือต้องการให้คนปลอบเวลาที่เขารู้สึกไม่สบาย ความต้องการเหล่านี้จะไปกระตุ้นให้เกิดเสียงที่เราเรียกว่า เสียงร้องไห้ ทารกไม่ได้คิดหรอกว่า “ตอนนี้ตีสามแล้ว หนูคิดว่าหนูควรจะปลุกแม่ขึ้นมาป้อนอาหารว่างให้หนูดีกว่า” การใช้เหตุผลแบบผิด ๆ นี้เป็นการตีความของผู้ใหญ่ นอกจากนี้ทารกก็ไม่มีความฉลาดปราดเปรื่องมากพอที่จะเข้าใจว่าทำไมพ่อแม่ถึง ตอบสนองเสียงร้องของเขาอย่างดีตอนบ่ายสามโมง แต่กลับไม่อยากตอบสนองเสียงร้องเดียวกันตอนตีสาม

เสียงร้องของทารกแรกเกิดบอกพวกเราว่า “หนูต้องการอะไรบางอย่าง ตอนนี้มีอะไรบางอย่างผิดปกติ ช่วยทำให้มันดีเหมือนเดิมด้วย”

สิ่งที่พ่อแม่ควรรู้เกี่ยวกับการร้องไห้ของลูก

1. การร้องไห้ของทารก คือ การส่งสัญญาณที่สมบูรณ์แบบ

นักวิทยาศาสตร์ยอมรับกันมานานแล้วว่า เสียงร้องไห้ของทารก มีลักษณะ 3 อย่างของการส่งสัญญาณที่สมบูรณ์แบบ

    * หนึ่ง. สัญญาณที่สมบูรณ์แบบเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ – ทารกแรกเกิดร้องไห้โดยอัตโนมัติ เขารับรู้ถึงความต้องการ ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการสูดอากาศเข้าปอดอย่างรวดเร็ว ตามด้วยการไล่อากาศออกผ่านเส้นเสียง เมื่อเส้นเสียงถูกอากาศสั่นจะเกิดเสียงร้องที่เราเรียกกันว่า เสียงร้องไห้ ในเดือนแรก ๆ ทารกไม่ได้คิดว่า “การร้องไห้แบบไหนจะทำให้เราได้กินนม?” ทารกแค่ร้องไห้ไปตามกลไกอัตโนมัติ นอกจากนี้การร้องไห้ยังทำได้ง่าย เมื่อมีอากาศอยู่เต็มปอด ทารกสามารถร้องไห้ได้โดยแทบไม่ต้องใช้ความพยายามเลย
    * สอง. การร้องไห้เป็นการรบกวนที่พอเหมาะ – เสียงร้องไห้จะกวนหูมากพอที่จะทำให้ผู้แลหันมาสนใจทารกและพยายามปลอบให้เขา หยุดร้องไห้ แต่ก็ไม่รบกวนมากเกินไปจนทำให้ผู้ฟังรู้สึกรำคาญจนไม่อยากจะทนฟัง
    * สาม. การร้องไห้สามารถปรับเปลี่ยนไปได้ในขณะที่ผู้ร้องและผู้ฟังเรียนรู้วิธีส่ง สัญญาณให้ถูกต้องแม่นยำขึ้น – สัญญาณจากทารกแต่ละคนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เสียงร้องไห้ของทารก คือ ภาษาของเขา และทารกแต่ละคนร้องไห้แตกต่างกันไป นักวิจัยด้านเสียงเรียกเสียงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวนี้ว่า “ลายเสียงร้องไห้” ซึ่งจะแตกต่างกันไปเช่นเดียวกับลายนิ้วมือของทารก

2. การตอบสนองต่อเสียงร้องของทารกเป็นความปกติทางชีวภาพ

คน ที่เป็นแม่จะถูกกำหนดโดยทางชีวภาพให้ตอบสนองต่อเสียงร้องของทารก และไม่สามารถต่อต้านหรือฝืนใจตนเองได้ การเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพอันน่าอัศจรรย์นี้จะเกิดขึ้นในร่างกายของคนที่เป็น แม่เพื่อตอบสนองเสียงร้องไห้ของลูกตนเอง เมื่อได้ยินเสียงลูกร้อง เลือดจะไหลเวียนไปที่หน้าอกมากขึ้น และมีความต้องการทางชีวภาพที่อยากจะ “อุ้มลูกและให้นม”

การ ให้นมลูกทำให้ระดับโปรแล็คตินสูงขึ้นอย่างผิดปกติ โปรแล็คตินคือฮอร์โมนที่เข้าใจกันว่าเป็นพื้นฐานทางชีวภาพของคำว่า “สัญชาติญาณความเป็นแม่” ฮอร์โมนอ็อกซีโทซิน ซึ่งทำให้เกิดการหลั่งน้ำนม จะทำให้คนเป็นแม่รู้สึกผ่อนคลายและเป็นสุขใจ รู้สึกปลดปล่อยจากความเครียดก่อตัวจากเสียงร้องของทารก ความรู้สึกเหล่านี้ทำให้คนเป็นแม่รู้สึกรักลูกของตัวเอง

เวลา ที่ลูกร้องไห้ แม่จะฟังเสียงเรียกร้องทางชีวภาพภายในร่างกายของตนเอง มากกว่าฟังเสียงคนอื่นที่คอยแนะนำให้ทำหูทวนลม ความเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพเหล่านี้ คือสาเหตุว่าทำไมมันจึงง่ายสำหรับคนอื่นที่จะพูดเช่นนั้น เพราะพวกเขาไม่มีความสัมพันธ์ทางชีวภาพกับทารก ระดับฮอร์โมนของเขาจึงไม่มีการเปลี่ยนแปลงเมื่อลูกของคุณร้องไห้

3. ควรละเลยหรือตอบสนองต่อเสียงร้องไห้?

เมื่อ คุณตระหนักถึงคุณค่าอันเป็นสัญญาณพิเศษของเสียงร้องไห้แล้ว สิ่งที่สำคัญ คือ คุณจะทำอย่างไรกับมัน คุณแม่มี 2 ทางเลือก ละเลย หรือ ตอบสนอง

การละเลยเสียงร้องของทารกมักจะเป็นทางเลือกที่เสียประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

ทารก ที่หัวอ่อนหรือว่าง่ายจะยอมแพ้และหยุดส่งสัญญาณ กลายเป็นเด็กเงียบและเริ่มตระหนักได้ว่า การร้องไห้ไม่มีประโยชน์ และคิดว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ทารกเริ่มหมดแรงบันดาลใจที่จะสื่อสารกับพ่อแม่ และพ่อแม่ก็เสียโอกาสที่จะได้รู้จักลูกตัวเอง เสียประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

ทารก ที่หัวแข็งหรือดื้อดึง (ทารกที่เอาแต่ใจตัวเองมากที่สุด) จะไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ เขาจะร้องไห้ดังขึ้น และเพิ่มความแรงของสัญญาณขึ้น ทำให้มันน่ารำคาญมากขึ้นเรื่อย ๆ คุณแม่อาจละเลยสัญญาณอันดื้อดึงนี้ได้หลายวิธี

คุณ แม่อาจจะรอจนกว่าเขาจะหยุดร้องไห้ แล้วค่อยอุ้มเขาขึ้นมา เพื่อที่เขาจะได้ไม่คิดว่าการร้องของเขาสามารถเรียกร้องความสนใจของคุณได้ นี่คือการต่อสู้เพื่อแสดงอำนาจ คุณสอนลูกให้รู้ว่าคุณคือผู้ที่ควบคุมสถานการณ์ ในขณะเดียวกันคุณก็กำลังสอนลูกว่าเขาไม่มีอำนาจในการสื่อสารด้วยเช่นกัน นี่เป็นการปิดช่องทางการสื่อสารระหว่างพ่อแม่กับลูก และในระยะยาวทุกคนก็เสียประโยชน์

คุณ อาจจะตัดความรู้สึกอ่อนไหวออกไปได้หมด จนคุณไม่รู้สึกรู้สากับเสียงร้องของทารกเลย วิธีนี้คุณสามารถสอนให้ลูกรู้ว่า เขาจะได้รับการตอบสนองเมื่อถึงเวลา นี่ก็คือทางเลือกที่เสียทั้งสองฝ่ายอีกเช่นกัน ทารกไม่ได้ในสิ่งที่เขาต้องการ พ่อแม่ก็ติดอยู่กับความรู้สึกว่าพวกเขาไม่สามารถมีความสุขกับบุคลิกที่มี เอกลักษณ์เฉพาะตัวของลูก

คุณ อาจจะอุ้มลูกขึ้นมา ปลอบให้เงียบ แล้วก็วางเขาลงเพราะ “ยังไม่ถึงเวลากินนม” เพราะท้ายที่สุด เขาควรจะต้องเรียนรู้ที่จะมีความสุขด้วยตัวของเขาเอง เสียประโยชน์ทั้งสองฝ่ายอีกเช่นกัน เพราะเขาก็จะร้องไห้อีก แล้วคุณก็จะโมโห ทารกจะเรียนรู้ว่าการพยายามสื่อสารของเขามีคนรับรู้ แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง ซึ่งจะทำให้เขาเริ่มไม่เชื่อมั่นความรู้สึกของตนเอง เขาอาจจะเริ่มคิดว่า “บางทีพ่อแม่อาจจะถูก บางทีหนูอาจจะยังไม่หิวนมจริง ๆ ก็ได้”

4. ให้ความทะนุถนอม

อีก ทางเลือกหนึ่งของคุณแม่ คือ ตอบสนองอย่างรวดเร็วและทะนุถนอม นี่คือทางเลือกที่ได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย ลูกน้อยและคุณแม่สามารถสร้างระบบการสื่อสารที่ช่วยทั้งสองฝ่าย

คุณ แม่ที่ตอบสนองอย่างรวดเร็วและอ่อนโยน จะทำให้ทารกรู้สึกกังวลน้อยลงเวลาที่เขาต้องการอะไรในคราวต่อไป ทารกจะเรียนรู้ที่จะ “ร้องไห้ให้ดียิ่งขึ้น” ร้องไห้น่ารำคาญน้อยลง เพราะเขารู้แล้วว่าแม่จะต้องมาหาแน่ ๆ แม่จัดเตรียมสิ่งแวดล้อมของทารกเพื่อเขาจะไม่จำเป็นต้องร้องไห้บ่อย ๆ เช่น แม่จะให้ลูกอยู่ใกล้ ๆ ตัวถ้ารู้ว่าเขากำลังง่วงและใกล้หลับ แม่จะเพิ่มความละเอียดอ่อนต่อเสียงร้องเพื่อที่จะสามารถตอบสนองได้อย่างถูก ต้อง เช่น การตอบสนองอย่างรวดเร็วตอนทารกยังเล็กและต้องการการดูแลใกล้ชิด หรือเมื่อเสียงร้องแสดงว่าสถานการณ์กำลังอันตรายจริง ๆ แต่การตอบสนองจะช้าลงเมื่อทารกโตขึ้นและเริ่มจะเรียนรู้ที่จะจัดการต่อสิ่ง รบกวนได้ด้วยตัวเอง

การ ตอบสนองต่อเสียงร้องไห้ของลูกกอย่างเหมาะสม เป็นสิ่งแรกและหนึ่งในสิ่งที่ยากที่สุดในการสื่อสารกับลูกที่คุณแม่จะต้อง เผชิญ คุณแม่จะมีความเชียวชาญขึ้นหลังจากได้ฝึกซ้อมเป็นพัน ๆ ครั้งในช่วงเดือนแรก ๆ

ถ้า คุณแม่คิดไว้ตั้งแต่แรกว่า การร้องไห้ของทารกคือสัญญาณที่ต้องประเมินสถานการณ์และได้รับการตอบสนอง มากกว่าจะคิดว่ามันคือนิสัยเสียที่ต้องแก้ไข ความคิดของคุณแม่ก็จะเปิดกว้างขึ้นและกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในการอ่านสัญญาณ จากลูก ซึ่งจะทำให้คุณแม่กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับลูกในที่ สุด

การ ส่งสัญญาณระหว่างแม่ลูกแต่ละคู่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ดังนั้นมันจึงเป็นความคิดตื้น ๆ ถ้า “ผู้ฝึกสอนการร้องไห้” ที่จะแนะนำสูตรสำเร็จในการตอบสนองต่อเสียงร้องไห้ให้กับคุณแม่ เช่น “คืนแรกปล่อยให้เขาร้อง 5 นาที คืนที่สอง 10 นาที” ฯลฯ

5. การที่ลูกร้องไห้ไม่ใช่ความผิดของคุณ

ถ้า คุณพ่อคุณแม่ไม่ละเลยต่อการร้องไห้ของลูก และพยายามทำให้เขารู้สึกปลอดภัยในโลกใหม่ของเขา คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรจะคิดว่ามันเป็นความผิดของพวกคุณที่ลูกร้องไห้บ่อย ๆ และไม่ควรคิดว่าการจะทำให้ลูกหยุดร้องไห้ขึ้นอยู่กับคุณ

แน่ นอนว่าความคิดของพวกคุณจะต้องเปิดกว้างเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่จะช่วยลูก (เช่น เปลี่ยนอาหารการกินของตัวเอง หรือเรียนวิธีใหม่ ๆ ในการอุ้มลูก) และคุณอาจจะต้องพาลูกไปพบหมอถ้าหากสงสัยว่ามีอาการเจ็บป่วยเป็นสาเหตุที่ทำ ให้ลูกร้องไห้

แต่ อาจจะมีบางเวลาที่คุณหาสาเหตุไม่ได้ว่าทำไมลูกร้องไห้ บางครั้งคุณอาจจะสงสัยด้วยซ้ำไปว่าลูกรู้ตัวหรือเปล่าว่าเขาร้องไห้เพราะ อะไร อาจจะมีบางเวลาที่ทารกแค่ต้องการจะร้องไห้ ถ้าคุณได้ลองทำทุกวิธีที่ปกติเคยทำให้เขาหยุดร้องไห้ได้แล้ว แต่ก็ยังไม่ทำให้เขาหยุดร้องไห้ คุณก็ไม่จำเป็นต้องรู้สึกสิ้นหวังที่จะทำให้เขาหยุดร้องไห้

มัน เป็นสัจธรรมในชีวิตของพ่อแม่มือใหม่ว่า ถึงแม้ทารกจะร้องไห้เพื่อแสดงความต้องการ แต่วิธีการที่เขาร้องไห้เป็นผลมาจากลักษณะอารมณ์ของเขา อย่าเอาการร้องไห้ของทารกมาเป็นอารมณ์ หน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่คือสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมเพื่อทำให้เขาจำเป็น ต้องร้องไห้น้อยลง ให้ความห่วงใยและอ้อมแขนอันอบอุ่นเพื่อที่ลูกจะได้ไม่ต้องร้องไห้อยู่คน เดียว และทำงานสืบสวนให้มากที่สุดเพื่อหาสาเหตุว่าทำไมลูกจึงร้องไห้ และคุณจะช่วยเขาได้อย่างไร เรื่องอื่น ๆ ที่เหลือเป็นเรื่องของลูก

6. งานวิจัยเกี่ยวกับการร้องไห้

ซิ ลเวีย เบลล์ และ แมรี เอนส์เวิร์ธ สองนักวิจัยซึ่งทำการศึกษาในช่วงศตวรรษ 1970 ได้ทำลายความเชื่อเรื่อง “ทฤษฏีการถูกตามใจจนเสียเด็ก” (สิ่งที่น่าสนใจคือ ตั้งแต่ในอดีตจนถึงช่วงเวลานั้นหรืออาจจะถึงปัจจุบันนี้ด้วยซ้ำ ที่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องพัฒนาการของทารกที่คอยพร่ำบอกว่า ควรปล่อยให้ทารกร้องไห้จนพอใจ มักจะเป็นผู้ชายแทบทั้งนั้น ต้องให้นักวิจัยผู้หญิงมาแก้ความเชื่อผิด ๆ ให้ถูกต้อง)

นัก วิจัยทั้งสองศึกษาคู่แม่ลูก 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 เมื่อลูกร้องไห้ แม่จะตอบสนองอย่างรวดเร็วและอ่อนโยน กลุ่มที่ 2 แม่จะหักห้ามใจในการตอบสนองมากกว่า พวกเขาพบว่าเด็กในกลุ่มที่ 1 ซึ่งแม่ตอบสนองอย่างอ่อนโยนและรวดเร็วกว่า จะไม่ค่อยใช้การร้องไห้เป็นวิธีการสื่อสารเมื่อเขาอายุ 1 ขวบ เด็กเหล่านี้รู้สึกผูกพันกับแม่ของพวกเขาค่อนข้างมาก และมีพัฒนาการของทักษะการสื่อสารดีกว่า เป็นเด็กที่ไม่ค่อยโยเยและไม่เอาแต่ใจตัวเอง

ก่อน การวิจัยครั้งนี้ พ่อแม่ถูกทำให้เชื่อว่า ถ้าพวกเขารีบอุ้มลูกทุกครั้งที่ลูกร้อง ลูกจะไม่มีทางเรียนรู้ที่จะปรับตัวและจะยิ่งเรียกร้องมากขึ้น งานวิจัยของเบลล์และเอนส์เวิร์ธแสดงผลในทางกลับกัน ทารกที่มีความรู้สึกปลอดภัยและได้รับการตอบสนองอย่างรวดเร็วและอ่อนโยน จะติดพ่อแม่น้อยลงและเรียกร้องน้อยลง มีการทำงานวิจัยเพิ่มมากขึ้นเพื่อลบล้าง “ทฤษฏีการถูกตามใจจนเสียเด็ก” แสดงว่า ทารกที่ไม่ได้รับการตอบสนองอย่างรวดเร็วจะร้องไห้มากขึ้น, นานขึ้น, และด้วยวิธีการที่น่ารำคาญมากขึ้น

ใน การวิจัยครั้งหนึ่ง เปรียบเทียบเด็ก 2 กลุ่ม เด็กกลุ่มหนึ่งได้รับการตอบสนองอย่างรวดเร็วและอ่อนโยน ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งถูกปล่อยให้ร้องไห้จนพอใจ เด็กที่ได้รับการตอบสนองอย่างอ่อนโยนจะร้องไห้น้อยลง 70 เปอร์เซ็นต์ ในทางกลับกัน เด็กที่ถูกปล่อยให้ร้องไห้จนพอใจ ไม่ร้องไห้ลดลง สรุปง่าย ๆ ก็คือ งานวิจัยเรื่องการร้องไห้แสดงว่า ทารกที่เสียงร้องไห้ของเขามีคนรับฟังและตอบสนองจะเรียนรู้ที่จะ “ร้องไห้ให้ดีขึ้น” ทารกที่พ่อแม่พยายามยับยั้งใจในการตอบสนองต่อเสียงร้องไห้ของลูก จะเรียนรู้ทีจะ “ร้องไห้ให้ดังขึ้น”

สิ่ง ที่น่าสนใจคือ การศึกษาเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า นอกจากจะมีความแตกต่างของวิธีที่ทารกสื่อสารกับพ่อแม่ตามการตอบสนองที่เขา ได้รับต่อการร้องไห้ของเขาแล้ว และยังมีความแตกต่างในหมู่คุณแม่อีกด้วย งานวิจัยแสดงว่า แม่ทีพยายามยับยั้งใจในการตอบสนองต่อเสียงร้องไห้ หรือตอบสนองด้วยความอ่อนไหวน้อย จะมีความรู้สึกอ่อนไหวต่อเสียงร้องของทารกน้อยลงเรื่อย ๆ และความไม่อ่อนไหวนี้จะส่งต่อไปยังความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกด้านอื่น ๆ งานวิจัยแสดงว่าการปล่อยให้ลูกร้องจนพอใจ ทำให้ความรู้สึกของครอบครัวเสียไปด้วย

7. การร้องไห้ไม่ได้ช่วยให้ทารก “ได้ขยายปอด”

หนึ่ง ในความเชื่อผิด ๆ ทางการแพทย์คือ “ปล่อยให้ทารกร้องไห้ ช่วยขยายปอด” ช่วงปลายศตวรรษที่ 1970 มีงานวิจัยแสดงว่าทารกที่ถูกปล่อยให้ร้องไห้จะมีอัตราการเต้นหัวใจสูงขึ้น ถึงระดับที่น่าเป็นห่วง มีปริมาณออกซิเจนในเลือดลดลง เมื่อการร้องไห้ของเขาได้รับการปลอบประโลม ระบบหัวใจและหลอดเลือดกลับสู่สภาวะปกติอย่างรวดเร็ว แสดงให้เห็นว่าทารกสามารถรับรู้ความเป็นดีอยู่ดีทางกายได้รวดเร็วมาก ถ้าการร้องไห้ไม่ได้รับการปลอบประโลม ทารกจะตกอยู่ในความเครียดทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ

ความ เชื่อผิด ๆ เรื่องการร้องไห้ช่วยสร้างเสริมสุขภาพ ยังคงอยู่ถึงทุกวันนี้ เพราะหนึ่งในคะแนน Apgar (การทดสอบที่แพทย์ใช้ประเมินสภาพของทารกแรกเกิด) ทารกจะได้คะแนนเพิ่ม 2 คะแนนถ้า “ร้องไห้เสียงดังเต็มที่” ทั้ง ๆ ที่การได้คะแนนเพิ่มเพราะการร้องไห้ไม่มีความสมเหตุสมผลในทางสรีระศาสตร์เลย ทารกแรกเกิดซึ่งรู้สึกตัวดีแต่นอนเงียบ ๆ หายใจในระดับปกติ และตัวเป็นสีชมพูมากกว่าเด็กที่ร้องไห้เสียงดัง กลับเสียคะแนน Apgar นี่เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นได้ชัดว่า เสียงร้องไห้ ซึ่งเป็นเสียงที่น่าอัศจรรย์ที่สุดของมนุษย์ ยังคงถูกแปลความหมายไปในทางที่ผิดอยู่

วิธีสอนให้ลูกร้องไห้ได้ดีขึ้น

ต่อ ไปนี้เป็นเคล็ดลับซึ่งผ่านการทดสอบมาเป็นเวลานาน ซึ่งจะช่วยให้คุณแม่สามารถแปลความหมายและตอบสนองต่อเสียงร้องไห้ของลูกได้ อย่างเป็นธรรมชาติ และค่อย ๆ สร้างความสัมพันธ์ในการสื่อสาร เพื่อที่ทารกจะได้ไม่ต้องร้องไห้อยู่ตลอดเวลาเพื่อสื่อสารกับพ่อแม่

1. คิดว่าการร้องไห้ของทารก คือ เครื่องมือสื่อสาร มากกว่า เครื่องมือที่ใช้บงการพ่อแม่ – คิดว่าการร้องไห้เป็นสัญญาณที่ต้องรับฟัง แปลความหมาย มากกว่า คิดกลัวว่าจะตามใจลูกจนเสียเด็ก หรือกลัวจะตกอยู่ในการควบคุมของลูก

2. เร็วดีกว่าช้า – พ่อแม่มือใหม่มักจะคิดว่า ยิ่งชะลอการตอบสนองต่อเสียงร้องไห้ของลูกออกไป ลูกจะร้องไห้น้อยลง ถึงแม้ว่านี่อาจจะเป็นเรื่องจริงสำหรับเด็กใจอ่อน, หัวอ่อน แต่ทารกที่มีบุคลิกดื้อดึงจะร้องไห้เสียงดังขึ้น, ส่งเสียงน่ารำคาญมากขึ้น

คุณ พ่อคุณแม่ควรจะหัดอ่านสัญญาณที่มักเกิดขึ้นก่อนการร้องไห้ เช่น สีหน้าวิตกกังวล การกางแขนหรือโบกมือเรียก การหายใจถี่ ฯลฯ การตอบสนองต่อสัญญาณเรียกร้องให้พ่อแม่อุ้มเหล่านี้ จะสอนให้ทารกรู้ว่า เขาไม่จำเป็นต้องร้องไห้เพื่อเรียกร้องความสนใจ

คุณ พ่อคุณแม่ควรลืมเรื่องถูกตามใจจนเสียเด็กไปก่อน ผลงานวิจัยแสดงว่า ทารกที่ได้รับการตอบสนองอย่างรวดเร็วเมื่อเขาร้องไห้ จะเรียนรู้ที่จะร้องไห้น้อยลงเวลาที่เขาโตขึ้น

3. ตอบสนองให้เหมาะสม – คุณแม่ไม่จำเป็นต้องรีบอุ้มลูกวัยเจ็ดเดือนเร็วเท่ากับลูกวัยเจ็ดวัน ช่วงสัปดาห์แรกเป็นช่วงของการซ้อมคิว คุณแม่ควรตอบสนองอย่างรวดเร็วและทำตามสัญชาติญาณ เมื่อคุณกับลูกสามารถสื่อสารกันได้ดีขึ้น คุณแม่จะรู้เองว่าการร้องไห้ของเขาเป็น “เหตุด่วน” ที่ต้องตอบสนองทันที หรือสามารถรอได้

เรียน รู้คำตอบที่เหมาะสมสำหรับการร้องไห้ รู้ว่าจะพูดว่า “ได้จ้ะ” หรือ “ไม่ได้จ้ะ” เมื่อไร โดยธรรมชาติคุณแม่ส่วนใหญ่จะเริ่มต้นด้วยการเป็น “คุณแม่ได้จ้ะ” แต่ต่อมาสัญชาติญาณจะทำให้คุณแม่กลายเป็น “คุณแม่ได้จ้ะและไม่ได้จ้ะ” เวลาคุณแม่ที่ยังไม่แน่ใจ ให้ตอบว่า “ได้จ้ะ” ไปก่อน การตอบสนองมากเกินไปแก้ไขได้ง่ายกว่ามาก คุณแม่ก็แค่ถอยหลังออกมานิดหนึ่ง การแก้ไขความไม่เชื่อใจของทารกที่เกิดจากการตอบสนองไม่เพียงพอเป็นเรื่อง ยากกว่ามาก และอาจทำให้สูญเสียการสื่อสาร

4. ลองใช้วิธีแบบชาวแคริบเบียน – ระบบที่เราพัฒนาขึ้นเพื่อสร้างความสงบทางจิตใจให้กับทารก เป็นระบบที่เราเรียกชื่อเล่นตามทัศนคติของชาวแคริบเบียนว่า “ไม่มีปัญหา” สมมติว่าลูกวัยเจ็ดเดือนของคุณกำลังนั่งเล่นอยู่ที่พื้นใกล้ ๆ ในขณะที่คุณกำลังคุยโทรศัพท์ ลูกเริ่มงอแงและทำท่าจะให้อุ้ม แทนที่จะวางโทรศัพท์แล้วรีบอุ้มเขาขึ้นมา คุณก็ทำหน้าสดใส แสดงให้เขาเห็นว่าคุณรับรู้ความต้องการของเขาและพูดกับว่า “ไม่เป็นไรนะจ๊ะ” การทำเช่นนี้ ภาษากายของคุณจะบอกว่า “ไม่มีปัญหา ไม่ต้องงอแง” อีกวลีหนึ่งที่พวกแคริบเบียนชอบใช้คือ “สบายดี ไม่มีปัญหา” ใช้ภาษากายของคุณ สื่อให้ลูกคุณรู้ว่า “สบายดี ไม่มีงอแง”

โรคปิดเครื่อง (SHUTDOWN SYNDROME)*

จาก การทำงานตลอด 30 ปีร่วมกับพ่อแม่และทารก เราได้รับรู้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเจริญเติบโตของเด็ก (ทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ) และวิธีการเลี้ยงดูของพ่อแม่

“เธอ ตามใจลูกมากเกินไป” ลินดากับนอร์ม พ่อแม่มือใหม่พาเฮทเธอร์ลูกสาววัยสี่เดือนซึ่งมีความต้องการสูงมาพบผม เพราะเฮทเธอร์หยุดเจริญเติบโต

เฮทเธอร์เคยเป็นเด็กที่มีความสุข เติบโตสมบูรณ์ (thrive) จากการเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิดเต็มที่ มีคนอุ้มวันละหลาย ๆ ชั่วโมง เวลาร้องไห้ก็ได้รับการตอบสนองอย่างรวดเร็ว ได้กินนมแม่ทุกครั้งที่ต้องการ มีคนสัมผัสกอดรัดใกล้ชิดเกือบทั้งวัน ทั้งครอบครัวมีความสุขดี และการเลี้ยงดูแบบนี้ได้ผลดีสำหรับพวกเขา แต่เพื่อนผู้หวังดีเกลี้ยกล่อมให้พ่อแม่คู่นี้เชื่อว่า พวกเขาตามใจลูกมากเกินไป ลูกสามารถบงการพวกเขาได้ และเฮทเธอร์จะโตขึ้นมาเป็นเด็กที่ติดพ่อแม่

พ่อ แม่หมดความเชื่อมั่น – เหมือนพ่อแม่มือใหม่ทั่ว ๆ ไป นอร์มกับลินดาหมดความเชื่อมั่นในสิ่งที่พวกเขาทำอยู่ และยอมแพ้ต่อแรงกดดันของคนรอบข้าง ยอมรับวิธีการเลี้ยงลูกแบบยับยั้งชั่งใจและห่างเหินกว่าเดิม พวกเขาปล่อยให้เฮทเธอร์ร้องไห้จนหลับไป ให้กินนมตามตารางเวลา และอุ้มเฮทเธอร์น้อยลงเพราะกลัวว่าลูกจะเสียเด็ก

สอง เดือนต่อมา เฮทเธอร์เปลี่ยนจากเด็กที่มีความสุขและชอบโต้ตอบกับพ่อแม่ เป็นเด็กที่เศร้าสร้อยและเงียบงัน น้ำหนักของเธอไม่เพิ่มขึ้น จากเด็กที่อยู่บนสุดของตารางการเจริญเติบโต ตกลงมาอยู่ล่างสุด เฮทเธอร์ไม่เติบโตสมบูรณ์อีกต่อไป พ่อแม่ของเธอก็เช่นกัน

ทารก หมดความเชื่อมั่น – หลังจาก 2 เดือนที่ไม่มีการเจริญเติบโต หมอบอกว่าเฮทเธอร์ “ล้มเหลวในการเติบโตสมบูรณ์” (fail to thrive) และเกือบจะต้องเข้ารับการตรวจรักษาอย่างละเอียด เมื่อพ่อแม่มาปรึกษาผม ผมวินิจฉัยว่าเธอเป็น “โรคปิดเครื่อง”

ผม อธิบายว่าเฮทเธอร์เติบโตสมบูรณ์เพราะการเลี้ยงดูอย่างทะนุถนอม และด้วยการเลี้ยงดูแบบนี้ เฮทเธอร์มีความเชื่อมั่นว่าความต้องการของเธอจะได้รับการตอบสนอง และสภาพทางกายภาพโดยรวมของเธอจะได้รับการจัดการเป็นอย่างดี เพราะคิดว่าพวกเขาจะให้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูก พ่อแม่คู่นี้ปล่อยให้ตัวเองถูกชักจูงไปใช้วิธีการเลี้ยงดูแบบอื่น พวกเขาถอด ปลั๊กความผูกพันระหว่างพวกเขากับเฮทเธอร์โดยไม่รู้ตัว และสูญเสียช่องทางที่ทำให้เฮทเธอร์เติบโตสมบูรณ์ ความกดดันต่อทารกก็จะเกิดขึ้น และระบบทางกายภาพของเฮทเธอร์ชะลอตัว

ผม แนะนำพ่อแม่คู่นี้ให้กลับไปใช้วิธีเลี้ยงดูแบบเดิม อุ้มลูกบ่อย ๆ ให้กินนมเวลาที่ต้องการ ตอบสนองต่อเสียงร้องของเธอย่างอ่อนโยนทั้งกลางวันและกลางคืน ภายใน 1 เดือนเฮทเธอร์กลับมาเติบโตสมบูรณ์เหมือนเดิม

ทารก จะเติบโตสมบูรณ์เมื่อได้รับการทะนุถนอม – เราเชื่อว่า ทารกทุกคนมีความต้องการที่จะได้สัมผัสและทะนุถนอมระดับหนึ่งเพื่อที่เขาจะ เติบโตสมบูรณ์ (เติบโตสมบูรณ์ ไม่ได้หมายความแค่ โตขึ้น แต่ต้องโตขึ้นได้เต็มศักยภาพ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ)

เรา เชื่อว่า ทารกสามารถสอนพ่อแม่ได้ว่าเขาต้องการการเลี้ยงดูในระดับใด มันขึ้นอยู่กับพ่อแม่ว่าจะรับฟังหรือไม่ และขึ้นกับผู้เกี่ยวข้องในทางวิชาชีพที่จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับพ่อแม่ ไม่ทำลายความมั่นใจด้วยการแนะนำวิธีการเลี้ยงดูที่เหินห่างกว่า เช่น “ปล่อยให้ลูกร้องไห้ให้พอใจ” หรือ “คุณต้องอุ้มเขาให้น้อยลง” ตัวทารกเท่านั้นที่รู้ระดับความต้องการของตัวเอง และพ่อแม่เป็นคนที่จะเข้าใจภาษาของลูกตัวเองได้ดีที่สุด

ทารก ที่ “ได้รับการฝึกสอน” ให้ไม่แสดงความต้องการของตัวเองออกมา อาจจะดูเงียบสงบ, หัวอ่อน, หรือ เป็นเด็กดี แต่ทารกเหล่านี้อาจจะเป็นเด็กที่มีความกดดัน ซึ่งปิดกั้นการแสดงความต้องการของตัวเอง พวกเขาอาจจะกลายเป็นเด็กที่ไม่กล้าพูดเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ และสุดท้ายก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่เอาแต่ใจตัวเองมากที่สุด

 

(แปลและเรียบเรียงจากบทความในเว็บไซต์ www.askdrsears.com) โดย คุณนิจวรรณ ตั้งวิรุฬห์

* หมายเหตุ ครั้งแรกผู้แปลแปลคำว่า Shutdown Syndrome ว่า โรคเงียบ เพราะเข้าใจผิดว่าดร.เซียร์สจะบอกว่าทารกนิ่งเงียบไม่ตอบสนองต่อ สิ่งแวดล้อม แต่เมื่อได้ไปอ่านทวนบทความภาษาอังกฤษอีกรอบ จึงเข้าใจว่าประเด็นหลักน่าจะเป็นการหยุดเจริญเติบโตของทารกมากกว่าการไม่ ตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม คำว่า Shutdown นี้จึงควรจะเป็นความหมายเดียวกับที่่เราใช้เวลาเราปิดหรือหยุดสิ่งต่าง ๆ เช่น ปิดเครื่องคอมพิวเตอร์, หยุดกิจการ, ปิดโรงงาน ฯลฯ โรคเงียบ จึงถูกเปลี่ยนเป็น โรคปิดเครื่อง ด้วยประการฉะนี้... 

Views: 76

Replies to This Discussion

เป็นประโยชน์มากเลย ขอบคุณครับ (-ᴖ.ᴖ- )

RSS

--oO--

สแกนโค้ด แอดไลน์ @2pasa แล้วลุ้นของรางวัลรวมคลิปเวิร์กช็อปทั้งหมด

Events

หนังสือในชุดเด็กสองภาษา



© 2024   Created by ผู้ใหญ่บิ๊ก.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service