เว็บทั้งหมดจะย้ายไปที่ www.2pasa.com แล้วนะครับ ตามไปที่นั่นได้เลย

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ - สองภาษาดอทคอม

Julia Donaldson เธอผู้สร้างสรรค์ตัว Gruffalo

เจ้าของรางวัลวรรณกรรมเด็กหลายรางวัล จนมีผู้นำไปทำละครเวทีที่โรงละครเวสต์เอ็นด์ในกรุงลอนดอนและละครบอร์ดเวย์ ที่มียอดขายดีกว่า 10.5 ล้านเล่ม

 

วันคริสต์มาสที่ผ่านมา The Gruffalo หนังสือสำหรับเด็ก เนื้อเรื่องเขียนโดย จูเลีย โดนัลด์สัน (Julia Donaldson) นักเขียนชาวอังกฤษ และมี แอ็ซเซล เชฟเฟลอร์ (Axel Scheffler) นักวาดภาพประกอบหนังสือชาวเยอรมันเป็นผู้วาดภาพประกอบ ปี 2009 The Gruffalo ฉลองครบรอบ 10 ปี เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม และได้รับการยอมรับว่าเป็นหนังสือสำหรับเด็กที่คลาสสิกอีกเล่มหนึ่ง

 

The Gruffalo เป็นเรื่องของหนูตัวหนึ่งที่เดินเข้าไปในป่าลึกอันมืดมิด ทำยอดขายไปแล้วมากกว่า 10.5 ล้านเล่ม ได้รับรางวัลวรรณกรรมสำหรับเด็กหลายรางวัล จนมีผู้นำไปทำเป็นละครเวทีจัดแสดงที่โรงละครเวสต์เอ็นด์ในกรุงลอนดอนและทำเป็นละครบอร์ดเวย์ งานเขียนชิ้นนี้พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1999 ในอังกฤษ โดยสำนักพิมพ์แมคมิลลาน พิมพ์ครั้งแรกเป็นปกแข็งจำนวน 32 หน้า หลังจำหน่ายไปได้ 6 เดือน สำนักพิมพ์จึงพิมพ์เป็นปกอ่อนออกมา และทำให้มีขนาดเล็กลง กลุ่มเป้าหมายคือนักอ่านรุ่นเยาว์ที่อายุระหว่าง 3-7 ขวบ คำในหนังสือมีทั้งหมด 700 คำ และถึงจะมีการเลือกใช้คำกล่าวซ้ำๆ ย้ำๆ บ่อยๆ แต่ก็ทำให้เห็นความหลากหลายของการกล่าวย้ำ

 

ตอนที่โดนัลด์สันทำงานเป็นนักเขียนหนังสือความรู้สำหรับเด็ก เธอรู้สึกว่าอยากเขียนเรื่อง The Gruffalo เพราะได้รับอิทธิพลมาจากนิทานพื้นบ้านของจีน แต่ก็เอาแต่เก็บงำไว้ในหัว จนได้มารู้จักกับเชฟเฟลอร์ กว่าจะได้ชื่อหนังสือหรือโครงเรื่องออกมา จู่ๆ มันก็แว้บเข้ามาในวันที่อยู่ในห้องครัว และนึกไปถึงหนูว่า มันคงจะฉลาดมากถ้าพูดได้ แล้วคำนี้- Gruffalo ก็กระโจนดึ๋งดั๋งออกมาจากห้วงความคิด

 

The Gruffalo ตีพิมพ์เมื่อโดนัลด์สันอายุได้ 51 ปี หลังจากนั้นเธอก็มุทำงานเขียนอย่างเป็นล่ำเป็นสัน จนมีหนังสือออกมาอีกกว่า 154 เล่ม โดย 53 เล่มสามารถซื้อหาตามร้านหนังสือทั่วไป ส่วนอีก 101 เล่มเป็นหนังสือที่เขียนสำหรับใช้ในโรงเรียน ส่วนมากเธอทำงานร่วมกับนักวาดภาพประกอบหนังสือคู่ใจอย่างเชฟเฟลอร์มากที่สุด เมื่อปี 2009 เธอเขียนนวนิยายสำหรับวัยรุ่นและพิมพ์จำหน่ายในชื่อเรื่อง Running on the Cracks ตอนนี้ยังมีเรื่องแต่งสำหรับเด็กอีกมากมายที่กระโจนไปมาในจินตนาการขนาดมหึมาซึ่งจะกลายเป็นผลงานที่ดีเยี่ยมเมื่อได้ร่วมงานกับนักวาดภาพประกอบที่ฝีมือฉมังจนผู้อ่านมิอาจปฏิเสธได้

 

โดนัลด์สันตัดสินใจอยากจะเป็นนักเขียนเมื่ออายุได้ 15 ปี หลังจากที่พ่อให้หนังสือชื่อ The Book of a Thousand Poems และเธอตกหลุมรักหนังสือเล่มนี้มาก จึงเริ่มหัดเขียนกลอนและอยากเป็นกวี แล้วถึงมารู้สึกว่าอยากเป็นนักแสดงบนเวที เมื่อได้ลองทำก็รู้สึกว่ามันยังไม่ใช่ เธอจึงหางานอย่างอื่นทำไปก่อน เมื่อช่วงทศวรรษ 1980 เธอออกไปช่วยกิจกรรมต่างๆ ตามโรงเรียนและจัดกลุ่มการอ่านขึ้น ระหว่างนี้ก็เขียนเรื่องสั้นๆ สำหรับเด็กไว้มากมายแต่ไม่มั่นใจที่จะนำไปเสนอสำนักพิมพ์ จนมาเขียนหนังสือเป็นเรื่องเป็นราวเมื่อปี 1993 หลังจากเพลง A Squash and a Squeeze ถูกนำไปใช้เป็นเพลงประกอบในรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก ก้าวย่างการเป็นนักเขียนได้เริ่มชัดเจนขึ้น

 

ชีวิตในวัยเด็กของโดนัลด์สัน เติบโตมาในครอบครัวที่รักศิลปะ พ่อและแม่ของเธอเป็นพวกฝ่ายซ้าย สมาชิกในครอบครัวต่างชอบการแสดง เธอเองรักการแสดงตั้งแต่เป็นเด็ก แถมยังบอกอีกว่ามีพรสวรรค์ทางด้านนี้ “หลังจากที่ฉันได้แสดงละครแทนเพื่อนในเรื่อง A Midsummer Night’s Dream ตอนอายุ 12 ปี ฉันก็ไปที่เดอะ โอล วิค บ่อยครั้งและนั่งยองๆ พร้อมกับจินตนาการว่าตัวเองบินถลาลงไปสู่เวที ฉันคิดแบบนั้นจริงๆ มันไม่แย่หรอกที่คิดแบบนั้นน่ะ ฉันรู้ว่าไม่มีใครเข้าใจว่าฉันคิดอะไรอยู่ แต่ฉันรู้สึกมีความสุข” หลังจากนั้นชีวิตของเธอก็บินถลาอยู่กับเทพนิยายต่างๆ พร้อมกับสมมติตัวเองเป็นตัวละครตัวนั้นตัวนี้ โดยมีน้องสาวช่วยร่วมเล่นอีกคน ส่วนพ่อของเธอจะเล่นดนตรีประเภทเครื่องสายกับเพื่อนๆ ในห้องถัดไป

 

เธอศึกษาด้านการแสดงและภาษาฝรั่งเศสจากมหาวิทยาลัยบริสทอล และการร่ำเรียนที่นี่ทำให้ได้พบกับนักศึกษาแพทย์นามมัลคอล์ม ทั้งคู่จึงพากันออกเดินทางไปทั่วยุโรป เพื่อตระเวนแสดงดนตรีและการแสดงตามที่สาธารณะ โดนัลด์สันเริ่มต้นการเป็นนักแต่งเพลง แล้วส่งไปให้บีบีซีพิจารณาเพื่อใช้ประกอบในรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก เธอยังเขียนละครเพลงและโอเปร่าเพื่อบอกเล่าความรักระหว่างสามีและตัวเอง โดยได้จัดแสดงในวันแต่งงานของทั้งคู่ โดนัลด์สันมีลูกชายทั้งหมดสามคน เธอมีลูกชายคนแรกตอนอายุ 29 ปี

 

ด้านชีวิตการทำงานของนักเขียนหนังสือสำหรับเด็กผู้นี้ ดูมีความสุข แต่ชีวิตของเธอก็ยังระคนความทุกข์เศร้าเช่นปุถุชนทั่วไป เมื่อลูกชายคนโตป่วยเป็นโรคไซโคแอฟเฟ็กทิฟ ดิสออร์เดอร์ ทำให้แฮมิช-ลูกชายของเธอตกเสียชีวิตในวัยเพียง 25 ปี และเธอไม่เคยลืมลูกชายคนนี้ มักเอ่ยถึงลูกชายคนโตกับน้องชายทั้งสองคนของแฮมิชเสมอ โดนัลด์สันเชื่อว่าการทำงาน การมีอะไรทำเป็นชิ้นเป็นอันจะทำให้ผ่านช่วงเวลาโศกเศร้ากับเรื่องของลูกชายไปได้ การงานคือสิ่งที่ช่วยต่อชีวิตออกไป

 

"การทำงานจะทำให้ฉันแยกภาคส่วนตัวเองออกมาจากเรื่องทุกข์ตรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยามที่ฉันต้องฝ่าด่านความเศร้าจากการสูญเสีย มันไม่ง่ายเลยกับการปลุกใจตัวเอง ดังนี้การจะปลีกไปจากบ่วงตรงนี้ได้ ฉันต้องหาพื้นที่เพื่อทำอะไรสักอย่าง ให้รู้สึกว่าได้แยกตัวตนออกมาจากกองทุกข์นั้นเสีย"

 

สำหรับจินตนาการที่ถ่ายทอดลงไปในงานเขียน มาจากทุกทิศทุกทาง มาจากทุกที่ที่ผ่านพบ ประสบการณ์และเรื่องราวในวัยเยาว์ของตัวเอง ส่วนที่ยากในการเขียนสำหรับโดนัลด์สันก็คือ การคิดโครงเรื่องตั้งแต่เปิดเรื่อง กลางเรื่อง และตอนจบ ซึ่งระยะเวลาในการเขียนหนังสือแต่ละเล่มขึ้นอยู่กับว่า เธอได้วางโครงเรื่องไว้ยาวแค่ไหนและมีเรื่องอยากจะถ่ายทอดมากมายเพียงใด บางเรื่องใช้เวลาไม่กี่เดือน แต่บางเรื่องก็ใช้เวลาเป็นปีๆ

 

"เวลาที่เขียนต้นฉบับฉันจะใช้ดินสอหรือไม่ก็ปากกา ส่วนงานเขียนที่ไม่ใช่ลักษณะเรื่องแต่ง ซึ่งเป็นพวกหนังสือความรู้สำหรับเด็ก ฉันจะเขียนต้นฉบับในคอมพิวเตอร์เลย บางครั้งเรื่องปิ๊งเข้ามา ฉันก็จะเขียนออกมาเลย บางทีเขียนขณะเดินทางบนรถไฟหรือไม่ก็ในห้องสมุด ส่วนนักวาดภาพประกอบ สำนักพิมพ์ที่ฉันเขียนงานให้จะรู้จักนักวาดภาพประกอบหลายคน และจะคัดเลือกนักวาดภาพที่เหมาะสมที่สุดเพื่อวาดภาพให้ตรงกับถ้อยความที่ฉันถ่ายทอดออกไป"

 

ความผูกพันระหว่างเธอกับเด็กไม่ใช่จะมีแต่เพียงในโลกของหนังสือโดยส่งผ่านงานเขียนเท่านั้น ชีวิตยังวุ่นและสนุกกับการเอาเรื่องราวในหนังสือออกตระเวนจัดแสดงในรูปแบบละครหุ่นให้เด็กๆ ได้รับชมกันอีกด้วย กิจกรรมนี้ โดนัลด์สันและสมาชิกในครอบครัวเป็นผู้รับผิดชอบด้วยใจ ที่บ้านจึงมีอีกห้องไว้สำหรับเก็บอุปกรณ์การแสดงที่เรียกว่า “พร็อพ รูม” โดยมีมัลคอล์ม-สามีของเธอเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงที่สำคัญที่สุดของคณะละครหุ่น และทั้งคู่ยังสวมบทบาทเป็นนักแสดงบนเวทีเองอีกด้วย

 

Running on the Cracks ผู้เขียนได้ถ่ายทอดเรื่องหลักเกี่ยวกับอาการป่วยทางจิต ซึ่งเป็นผลพวงมาจากอาการป่วยของลูกชายคนโต ส่วนหนังสือเล่มอื่นอย่าง Tiddler, Stick Man และ Tabby McTat เป็นหนังสือที่มีเนื้อหาอ่านสนุก ที่บอกถึงการสูญเสียและค้นพบ ส่วนอีกเล่มที่สนุกไม่แพ้กันคือ Zog เป็นการทำงานร่วมกันกับนักวาดภาพประกอบหนังสือคนเดิมคือแอ็ซเซล

 

ประสบการณ์ในการทำหนังสือและเขียนหนังสือเด็กที่ได้สะสมมานาน ทำให้โดนัลด์สันรู้ว่า ควรจะเขียนหรือไม่เขียนอะไรลงไปในหนังสือ เธอไม่ชอบที่จะให้จำกัดหรือจำเพาะเจาะจงลงไปว่า หนังสือที่เขียนสำหรับให้เด็กและผู้ใหญ่อ่าน เพราะเมื่อทุกคนได้อ่าน นั่นคือผู้อ่านจะได้รับประสบการณ์ที่ต่างจากวิถีชีวิตปกติของตัวเอง ซึ่งเป็นเสมือนการผจญภัยในโลกหนังสือและการอ่าน สิ่งสำคัญที่สุดที่โดนัลด์สันแนะนำว่าเป็นเคล็ดลับในการเขียนคือ การสร้างโครงเรื่องที่ดี ส่วนการเขียนเพื่อบอกเล่าให้ผู้อ่านมีจริยธรรมและคุณธรรมแบบตรงๆ นั้น เธอบอกว่าหนังสือทำนองนี้มีมากมายก่ายกองตามร้านหนังสือ จึงไม่จำเป็นต้องเขียนเรื่องเทศนาแบบนั้น ส่วนอารมณ์ขันที่มีอยู่เต็มเปี่ยม ซึ่งถ่ายทอดลงไปในหนังสือ ก็เพื่อต้องการให้ความรื่นรมย์สนุกสนานเหล่านี้เผื่อแผ่ไปยังผู้ปกครองและเด็กๆ โดยถ้วนหน้า นอกจากนี้เรื่องสารแอบแฝงทางการเมือง เป็นอีกสิ่งที่โดนัลด์สันพยายามเขียนให้เนียนเพื่อให้เด็กได้รับรู้ โดยไม่ได้มองว่าสิ่งนี้เป็นประเด็นที่หนัก เพราะเชื่อว่า มันก็เป็นเรื่องราวในชีวิตของผู้คนและเป็นข้อเท็จจริง เพียงแต่กลวิธีการเขียนต้องแยบยล หนังสือขายดีอย่าง The Gruffalo จึงอยู่ในระหว่างการคิดโครงเรื่องโดยให้ตัวเอกของเรื่องเป็นผู้หญิง หลังจากที่ใช้ตัวเอกเป็นเพศชายมานาน

 

โรนัลด์สันและสามีวางโครงการเอาไว้ว่า หลังจากที่สามีเกษียณจากอาชีพกุมารแพทย์ในโรงพยาบาลเด็กยอร์คฮิลล์ ทั้งคู่จะพากันออกเดินทางตระเวนไปตามยังที่ต่างๆ เพื่อจัดการแสดงละครหุ่น และการแสดงละครเวทีสำหรับเด็ก โดยจะเริ่มตั้งแต่เหนือไปจนจรดใต้ จากแฟลตในอีดินเบรอะไปจบที่สก็อตแลนด์เพื่อสอนเปียโน “ตั้งแต่แต่งงานอยู่กินกันมา สามีฉันก็มุ่งมั่นอยู่กับการเล่นกีตาร์และร้องเพลง แทบไม่มีสักวันที่เขาจะไม่หยิบกีตาร์ขึ้นมา เขาเป็นคนที่คอยอยู่เคียงข้าง เป็นกำลังใจ ไม่ใช่เป็นผู้ชายดีๆ คนหนึ่ง แต่เป็นผู้ชายที่ทำทุกอย่างออกมาจากใจจริง พอเลิกงานกลับมา เขาจะเต็มไปด้วยความตื่นเต้น และถามฉันว่า ‘มีอีเมลดีๆ น่าอ่านส่งมาไหมวันนี้?’ เขายังเคยพูดเลยว่า ถ้าไม่ได้เป็นหมอ จะไปเป็นผู้ช่วยตามสนามเด็กเล่น

 

โดนัลด์สันชอบทำงานร่วมกับแอ็ซเซลที่สุด ทั้งคู่เป็นคู่หูและเพื่อนร่วมงานที่ไปด้วยกันได้ดี "ฉันอยากทำหนังสือให้แอ็ซเซลเป็นเรื่องเกี่ยวกับแมลง เพราะฉันชอบแมลงตัวน้อยๆ ที่เขาวาด แต่ฉันยังนึกโครงเรื่องไม่ได้ว่าจะเขียนออกมายังไง ความคิดในการเขียนเรื่อง Stick Man ซึ่งเป็นเล่มที่ทำงานร่วมกันก่อนเล่มล่าสุด ไอเดียก็มาจากแอ็ซเซล เขาวาดภาพลูกของกรัฟฟาโล่ถือกิ่งไม้ เท่านั้นแหละความทรงจำเดิมๆ ของฉันก็ผุดออกมา ฉันคิดว่าเด็กผู้ชายชอบเอากิ่งไม้มาเล่น ไม่ใช่เพียงแค่เอาไว้เล่นต่อสู้กันอย่างเดียว อย่างลูกชายฉันแฮมิช ก็ชอบเอากิ่งไม้มาเล่น ตอนนั้นพวกเราอยู่กันที่ฝรั่งเศส ไม่ค่อยมีของเล่นมากนัก เขาเคยเล่นการ์ดที่เป็นกระดาษแข็งและพวกเศษขยะ

 

และจะพูดว่า อันนี้ไอศกรีม อันนี้ไวโอลิน นี่ไงหล่ะที่เราเรียกกันว่าจินตนาการ ที่เกิดและมีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกผู้ทุกคน" 0

 

http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/read-write/201...

 

Views: 2367

Reply to This

Replies to This Discussion

ขอบคุณที่แบ่งปันค่ะ ชอบการจินตนาการ แม้ว่าลูกจะโตขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังชอบให้ลูกมีชีวิตที่อบอวลไปด้วยจินตนาการ

ชอบความฝันของสามี ภรรยาด้วยค่ะ :)

ขอบคุณคะ ลูกสาวคนโตจินตนาการไปเรื่อยๆ และเลียนแบบ บทที่จะพูดด้วยคะ กำลังหัดพูด หัดอ่านเองคะ เล่าสนุกไม่มีเบื่อคะ

ขอบคุณนะคะ ท่ีมีนิทานดีๆอย่างนี้ให้เราได้อ่านกัน
ขอบคุณมากค่ะ ^^

เยี่ยมเลยค่า

RSS

--oO--

สแกนโค้ด แอดไลน์ @2pasa แล้วลุ้นของรางวัลรวมคลิปเวิร์กช็อปทั้งหมด

Events

หนังสือในชุดเด็กสองภาษา



© 2024   Created by ผู้ใหญ่บิ๊ก.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service