เว็บทั้งหมดจะย้ายไปที่ www.2pasa.com แล้วนะครับ ตามไปที่นั่นได้เลย

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ - สองภาษาดอทคอม

ทู้นี้สืบเนื่องมาจากเจ้าลูกชายตัวกลม เริ่มรู้เรื่องมากขึ้นเวลาไม่ได้ของที่เค้าต้องการ หรือถูกขัดใจเค้าจะส่งเสียงขู่ร่วมกับเกร็งตัว ถ้าเรายังไม่ให้ของเค้าเค้าก็จะแกล้งไอแรงๆแล้วก็ร้องไห้ (drama เหมือนใครเนี่ย) เราก็เลยอยากรู้ว่าเด็กอายุเท่าไรที่เราสามารถฝึกวินัยให้เค้าได้ จนมาเจอหนังสือชื่อ"สร้างวินัยให้ลูกคุณ" เขียนโดยศาสตราจารย์แพทย์หญิง อุมาพร ตรังคสมบัติ อ่านแล้วรู้สึกว่าเข้าใจธรรมชาติของเด็กมากขึ้น เลยอยากนำมาฝาก แต่เนื้อหาค่อนข้างยาว จึงขอแบ่งเป็นตอนๆ ถ้าว่างแล้วจะมาพิมพ์ต่อค่ะ
ตอนที่ 1 ขวบปีแรก
ตอนที่ 2 ขวบปีที่ 2-3
ตอนที่ 3 อายุ 3-5 ปี

ขวบปีแรก
การฝึกวินัยในขวบปีแรกยังไม่ใช่เรื่องที่สำคัญมากเท่าในขวบปีที่ 2 และ 3 ทั้งนี้เพราะในขวบปีแรกเด็กยังไม่มีพฤติกรรมที่ต้องการการควบคุบจากผู้ใหญ่มากเท่าไร เด็กเพียงต้องการการดูแลเอาใจใส่ให้กินอิ่ม นอนหลับ และได้รับการกระตุ้นที่เหมาะสมเท่านั้น ต่อเมื่อเด็เริ่มเคลื่อนไหวได้มากขึ้นในขวบปีที่ 2 การฝึกระเบียบวินัยจึงเริ่มมีความสำคัญมากขึ้น

อย่างไรก็ตามการเลี้ยงดูในขวบปีแรกอย่างเหมาะสม จะช่วยให้การฝึกวินัยในช่วงต่อมาเป็นไปได้อย่างราบรื่น ถ้าเด็กได้รับการดูแลด้วยความละเอียดอ่อนเพียงพอ มีการตอบสนองความต้องการทางสรีระของเด็กอย่างดีพอ เด็กจะพัฒนาความผูกพันใกล้ชิด (attachment) กับผู้เลี้ยงดู รวมทั้งพัฒนาความไว้วางใจพื้นฐาน (basic trust) ความผูกพันและความไว้วางใจนี้จะช่วยให้พัฒนาการทางจิตใจ อารมณ์และสังคม รวมทั้งสติปัญญาของเด็กดำเนินไปอย่างราบรื่น ทั้งหมดนี้จะช่วยให้เด็กมีความพร้อมที่จะเรียนรู้ระเบียบวินัย รวมทั้งกฏเกณฑ์ของครอบครัวและสังคมได้ง่าย

พ่อแม่จำนวนมากกลัวว่า ถ้าให้ความสนใจลูกในขวบปีแรกมากเกินไปก็จะเป็นการทำให้เด็กเหลิงหรือเสียนิสัยเนื่องจากถูกตามใจมาก พ่อแม่กลัวว่าเด็กจะเรียกร้องความสนใจอย่างไม่สิ้นสุดและจะเป็นคนที่เอาแต่ใจตนเอง พ่อแม่มักถามดิฉันว่า ถ้าลูกร้องแล้วต้องอุ้มหรือไม่ ถ้าร้องจะกินนมแล้วต้องให้ทันทีหรือไม่ ถ้าอุ้มทุกครั้งหรือรีบเอานมให้กินทุกครั้งโดยไม่หัดให้รอคอยบ้างจะเป็นการตามใจลูกเกินไปหรือไม่?

คำตอบก็คือ เด็กในขวบปีแรกยังไม่รู้จักช่วยตนเอง เด็กยังเคลื่อนไหวไม่ได้และสื่อภาษาไม่ได้ ดังนั้นเมื่อเด็กร้องไห้ก็หมายความว่า เด็กต้องการความช่วยเหลือหรือต้องการบางสิ่งบางอย่าง เช่น เด็กอาจหิว เปียกฉี่ ร้อน หรือปวดท้อง ลูกต้องการให้มีคนเข้ามาดูแลและช่วยบรรเทาความไม่สบายทั้งหลายที่เกิดขึ้น ดังนั้นพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูควรรีบเข้าไปช่วย การช่วยเหลืออย่างรวดเร็วนี้เป็นสิ่งที่จำเป็น และจะไม่ทำให้เกิดปัญหาถูกตามใจเกินไป คำว่า”รวดเร็ว” ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า คุณต้องรีบร้อนวิ่งไปดูลูกจนสะดุดหกล้ม แต่หมายความว่า คุณต้องพยายามไปดูลูกโดยเร็ว ไม่ใช่เฉยเมยและปล่อยให้ลูกรอนานหรือร้องนานจนหมดแรง การปล่อยให้เด็กทารกร้องอยู่นานไม่ใช่สิ่งที่ดี อย่างไรก็ตามเมื่อลูกโตขึ้น ลูกก็จะรอได้นานขึ้น ดังนั้นในช่วงปลายปีแรก คุณก็คงไม่ต้องรีบร้อนชงนมให้ลูกเท่ากับช่วง 2-3 เดือนแรก เพราะลูกสามารถเล่นกับของเล่นที่วางอยู่ข้างๆได้ ในขณะที่รอให้คุณชงนม

ในขวบปีแรกการตอบสนองเมื่อเด็กต้องการความสนใจและการดูแลช่วยเหลือแบบที่กล่าวมานี้ จะไม่ทำให้เด็กติดนิสัยหรือเอาแต่ใจตัว แต่เมื่อเด็กเริ่มโตขึ้น เช่นในขวบปีที่ 2 เป็นต้นไป คุณควรหัดให้ลูกเริ่มรู้จักรอคอยทีละเล็กทีละน้อย หากคุณวิตกกังวลมากไม่อยากให้ลูกร้องเลย และคอยทำให้ลูกหรือตอบสนองลูกเสียก่อนที่ลูกจะเรียกร้องหรือเกิดความต้องการใดๆ ก็อาจเป็นการทำให้เด็กไม่มีโอกาสพัฒนาการอดทนรอคอย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินชีวิตและจะทำให้ลูกกลายเป็นเด็กที่เอาแต่ใจตนเองได้

Views: 886

Reply to This

Replies to This Discussion

โอ้โห .... นั่งพิมพ์เองเลยหรอครับนี่ ... ขยันจัง ขอบคุณสำหรับการแบ่งปันบทความดี ๆ ครับ จะรออ่านตอนถัดไปคร๊าบบบบบ
พรึ่บบบบบ........ ปูเสื่อนั่งรอ .... (^.*)
ขอบคุณสำหรับการแบ่งปันค่ะ มีอะไรดีๆบอกต่ออีกนะคะ
ขวบปีที่ 2-3
ลูกไม่ได้มีความสามารถในการควบคุมตนเอง(self-control) มาตั้งแต่เกิด แม้ในขวบปีที่2 กล้ามเนื้อของลูกจะแข็งแรงขึ้น เคลื่อนไหวได้มากขึ้น เดินได้ เริ่มพูดได้ และทำอะไรด้วยตัวเองได้มากขึ้น แต่ลูกก็ไม่เข้าใจอะไรอีกหลายอย่าง เช่นไม่เข้าใจว่าถ้าตนทำสิ่งนั้นสิ่งนี้แล้วจะเกิดผลตามมาอย่างไร ไม่เข้าใจว่าคุณรู้สึกอย่างไร และยังไม่สามารถอดทนกับความคับข้องใจได้ สรุปง่ายๆก็คือ ลูกยังไม่มีความสามารถที่จะคิด วิเคราะห์และตัดสินใจได้ เนื่องจากลูกมีความสามารถที่จะทำอะไรได้หลายสิ่งหลายอย่าง แต่ยังไม่มีการควบคุมตนเองที่ดีพอ ดังนั้น เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะช่วยลูกและควบคุมลูกให้อยู่ในวินัยในขวบปีที่ 2 และ 3 การฝึกวินัยอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญ

วินัยในชีวิตประจำวัน
ในขวบปีที่ 2-3 ระเบียบวินัยที่ต้องฝึกมักจะเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันนั่นคือ การกิน การนอน การขับถ่าย ฯลฯ ในการฝึกสิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยความสม่ำเสมอและหนักแน่นในการตอบสนองเด็ก ตัวอย่างเช่น หากจะเริ่มฝึกเด็กให้นอนตรงเวลา เด็กก็อาจจะไม่ยอม อาจต่อต้าน แสดงความไม่พอใจโดยการร้องไห้บ้าง งอแงบ้าง แต่ถ้าคุณยืนยันอย่างหนักแน่นให้ลูกเข้านอนตรงเวลา โดยไม่ต้องโอนอ่อนผ่อนตามไม่ว่าลูกจะงอแงอย่างไรก็ตาม ในที่สุดลูกก็จะทำตามคุณและนอนหลับได้ตรงเวลา ลูกจะเรียนรู้ว่า แม้ไม่ชอบก็จำเป็นต้องทำตาม บทเรียนนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากในชีวิต เพราะในชีวิตเรามีบ่อยครั้งที่เดียวที่เราต้องทำในสิ่งที่เราไม่ชอบหรือไม่สบอารมณ์ และเราไม่อาจจะได้ทุกอย่างตามที่เราปรารถนา

คำว่า “ไม่”
ในขวบปีที่ 2-3 ลูกสามารถเคลื่อนไหวได้มากขึ้น มีความสนใจใฝ่รู้มากขึ้น รวมทั้งมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ทำให้คุณต้องเริ่มต้นควบคุมลูกและกำหนดขอบเขตให้ลูก วัยนี้เป็นวัยที่คุณจะต้องเอ่ยคำว่า “ไม่” บ่อยๆ แต่ในขณะเดียวกัน ลูกก็จะเอ่ยคำว่า “ไม่” แก่คุณด้วยเช่นกัน การที่ลูกวัย 2 ขวบพูดว่า “ไม่” เมื่อคุณออกคำสั่งให้ทำบางสิ่งบางอย่างนั้นแปลว่า ลูกกำลังบอกคุณว่า ลูกต้องการเป็นตัวของตัวเอง ลูกจะทำในสิ่งที่เขาอยากทำ และบ่อยครั้งที่ลูกต้องการทำสิ่งนั้นๆด้วยตนเองโดยไม่ต้องการให้คุณช่วย (เช่นตักข้าวกินเอง) คุณไม่ควรคิดว่า ลูกกำลังต่อต้านคุณหรือแกล้งที่จะไม่เชื่อฟัง แท้จริงแล้ว นี่เป็นกระบวนการพัฒนาที่เกิดขึ้นกับเด็กทุกคน ถ้าคุณเข้าใจในข้อนี้ คุณก็จะไม่โกรธเมื่อลูกไม่ทำตามคำสั่ง และคุณจะปฏิบัติกับลูกได้ถูกต้องยิ่งขึ้น เช่น แทนที่จะไปอารมณ์เสียกับลูก (ซึ่งก็จะทำให้เรื่องยุ่งยากขึ้นไปอีก) คุณก็จะค่อยๆพูดกับลูกอย่างหนักแน่น เป็นต้น
การหัดให้ลูกเชื่อฟัง เมื่อคุณสั่งว่า “ไม่” เป็นสิ่งสำคัญ และเป็นก้าวแรกแห่งการฝึกระเบียบวินัย คุณต้องสั่งด้วยความมั่นใจอย่างหนักแน่นด้วยสิทธิอำนาจของความเป็นพ่อแม่ ซึ่งมีหน้าที่ปกป้องดูแลและชี้นำหนทางที่ถูกให้แก่ลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อลูกกำลังจะทำสิ่งที่เป็นอันตรายหรือทำให้เกิดความเสียหาย

ความสมดุล
แม้ว่าเด็กจะเรียนรู้คำว่า “ไม่” จากคุณ แต่การพูดว่า “ไม่” และห้ามลูกไปเสียทุกอย่างก็เป็นสิ่งที่จะทำลายพัฒนาการหลายด้านของเด็ก เด็กที่ไม่มีโอกาสได้ทำสิ่งใดตามที่ตนต้องการเลย ก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่กล้าทำอะไรเลย ดังนั้นคุณจะต้องเลี้ยงลูกในทางสายกลาง มีทั้งคำสั่งว่า “ลูกทำสิ่งนี้ไม่ได้” และ “ตกลง ลูกจะทำก็ได้” ส่งเสริมให้เรียนรู้และให้ทำอะไรด้วยตนเอง แต่ก็ห้ามลูกด้วยถ้าสิ่งที่ทำนั้นจะเป็นอันตราย พยายามส่งเสริมให้เกิดทั้งความเชื่อมั่นในตนเองและการเป็นตัวของตัวเอง แต่ในขณะเดียวกันก็สอนลูกให้เรียนรู้กฎระเบียบและขอบเขตที่เหมาะสมด้วย

การร้องกรีดและการดิ้นลงมือลงเท้า
พบได้บ่อยมากในช่วงอายุ 2-3 ปี พฤติกรรมแบบนี้มักเกิดตอนที่เด็กถูกขัดใจและไม่ได้ในสิ่งที่เขาต้องการ พฤติกรรมนี้จัดว่าเป็นของธรรมดา ถ้าหากคุณจัดการได้ถูกต้อง มันจะหายไปได้เร็ว แต่ถ้าจัดการไม่ถูก ลูกอาจมีพฤติกรรมดังกล่าวต่อเนื่องไปหลายปีก็ได้ การร้องกรีดและดิ้นลงมือลงเท้านั้น ถ้ามองในแง่ลบเป็นการกระทำที่แสดงว่าเด็กควบคุมตัวเองไม่ได้ รอคอยหรืออดทนต่อความคับข้องใจไม่ได้ แต่ถ้ามองในแง่บวกก็เป็นสิ่งที่แสดงถึงความสามารถของบุคคลในอันที่จะบอกให้คนอื่นรู้ว่าตนเองต้องการอะไร (self-assertion) กฎที่สำคัญที่สุดในการจัดการ ก็คือ อย่าให้แรงเสริมเมื่อเด็กมีพฤติกรรมดังกล่าว วิธีจัดการที่ดีที่สุดคือ การเพิกเฉยต่อการดิ้นอาละวาดนั้น(ตราบเท่าที่เด็กไม่มีอันตราย หรือไม่ได้ทำให้ตนเองบาดเจ็บ) ควรพูดว่า “ ลูกร้องแบบนี้ แม่ฟังไม่รู้เรื่อง พอลูกหยุดร้องแล้ว ค่อยมาคุยกับแม่” เมื่อบอกลูกเสร็จคุณก็ควรหลีกไปอยู่ที่อื่น ถ้าเป็นเด็กที่อายุมากกว่า 4 ขวบคุณอาจจะไปอยู่อีกห้องหนึ่ง แต่ถ้าน้อยกว่า 4 ขวบ คุณควรอยู่ในห้องนั้นด้วยแต่ทำงานของคุณไปโดยไม่สนใจเขา (เพราะเด็กวัยต่ำกว่า 4 ขวบยังมีความวิตกกังวลในการแยกจากผู้เลี้ยงดูที่เรียกว่า separation anxiety )

เป็นตัวอย่างที่ดี
สิ่งสำคัญในวัยนี้คือ การเลียนแบบ เด็กเล็กๆชอบเลียนแบบ ดังนั้นการสร้างวินัยโดยให้ลูกเลียนแบบคุณจึงเป็นวิธีที่ง่ายมาก หากคุณอยากให้ลูกทำสิ่งใดก็จงทำให้เป็นแบบอย่าง เช่น หากอยากให้ลูกเก็บของให้เป็นระเบียบ คุณก็ต้องรู้จักวางของให้เป็นที่เป็นทาง ไม่ใช่คุณเองก็ทิ้งเพ่นพ่าน แล้วมาออกคำสั่งให้ลูกเก็บให้เรียบร้อย ถ้าเป็นเช่นนั้น คุณอาจจะได้ยินลูกตอบกลับว่า “หนูก็ทำเหมือนพ่อนั่นแหละ” หากคุณเป็นแบบอย่างที่ดีทางวินัยตั้งแต่ลูกยังเด็ก ลูกก็จะเก็บสิ่งดีๆที่เห็นจากคุณเข้าไว้ในตัวเขาได้มากทีเดียว ฉะนั้นจงฉวยโอกาสตอนที่ลูกยังเล็ก สร้างวินัยด้วยการเป็นแบบอย่างที่ดีให้มาก เพราะเมื่อลูกโตขึ้นการเลียนแบบพ่อแม่ก็จะน้อยลง ลูกจะหันไปเลียนแบบคนอื่น เช่นเพื่อนฝูง ดารา นักร้อง เมื่อถึงตอนนั้น หากเขาไม่มีวินัยดีๆอยู่ในตัวจากการปลูกฝังของคุณแล้ว เขาอาจจะรับเอาสิ่งแย่เข้ามาเต็มตัวเลยก็ได้

ต่อตอน 3 พรุ่งนี้นะคะ
อยากได้ข้อมูลอยู่พอดีเลย ตัวแสบเริ่มแสดงความโกรธ ร้องกรี๊ดเวลาไม่ได้ดั่งใจ
หาวิธีจัดการอยู่ อิอิ เสร็จแม่อีกแล้วไอ้หนูเอ๊ย
อุตสาห์พิมพ์เองเลย ขอบคุณด้วยคนค่ะ
ช่วงนี้งานน้อยค่ะ เลยว่างนั่งพิมพ์ รออ่านตอน 3 ด้วยนะคะ
อายุ 3-5 ปี
การเปลี่ยนแปลงในเด็กก่อนวัยเรียน
ลูกในวัยนี้จะมีปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่เหมาะสมกว่าในวัย 2 ขวบ ความสัมพันธ์ที่ดีกับพ่อแม่จะทำให้การมองตนเองและสิ่งรอบตัวแตกต่างไปจากเดิมนั่นคือ เด็กจะมองโดยใช้ความคิดของพ่อแม่เป็นหลัก เด็กจะยึดถือความคิดอุดมคติและข้อห้ามของพ่อแม่ไว้ในตนเอง และเริ่มมีความเข้าใจชัดเจนว่าสิ่งใดควรทำหรือไม่ควรทำ และนี่คือจุดเริ่มต้นของวินัยและศีลธรรมจรรยา
เด็กวัยนี้เริ่มมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีและการควบคุมตนเอง เด็กจะจดจำว่าอะไรเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมตามที่พ่อแม่สอน และพยายามทำในสิ่งที่พ่อแม่พอใจ เช่น หากเด็กมีความปรารถนาบางประการ ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีที่มีอยู่ในใจก็จะมาตรวจสอบความปรารถนาว่าเหมาะสมหรือไม่ และเด็กจะเกิดความรู้สึกผิดขึ้นหากตนไปทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสมหรือที่พ่อแม่ไม่ยอมรับ

ให้เหตุผลที่เป็นรูปธรรม
ลูกในวัยนี้เข้าใจภาษามากขึ้นแล้ว คุณจึงสามารถอธิบายเหตุผลได้มากขึ้น แต่ก็ควรให้เหตุผลแบบเป็นรูปธรรม ไม่ใช่นามธรรม เพราะเด็กวัยนี้ยังไม่เข้าใจสิ่งที่เป็นนามธรรม
แม่พาติ๋มอายุ 4 ขวบมาหาหมอ บอกว่าลูกก้าวร้าวและชอบตีน้อง แม่อธิบายจนไม่รู้จะอธิบายอย่างไรแล้ว แต่ลูกก็ไม่ฟังเลย
หมอถามว่าแม่อธิบายอย่างไรเวลาลูกอารมณ์เสียและตีน้อง แม่บอกว่า “ก็พูดว่าติ๋มอย่าโมโหซิลูก การโมโหแปลว่า เราปล่อยให้ความมืดเข้ามาในใจเรา และการที่ตีน้องมันก็เป็นบาป ลูกไม่ควรทำ”
อายุ 4 ขวบอย่างติ๋มนี้ยังไม่เข้าใจคำเปรียบเทียบหรืออุปมาอุปมัยต่างๆ เช่น เปรียบเทียบ “ความมืด” ว่าหมายถึง สิ่งที่ไม่ดี ไม่ควรทำ อันที่จริงเด็กวัยนี้ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า “ดี” หรือ “ไม่ดี” หมายความว่าอย่างไร “บาป” กับ “บุญ” เป็นอย่างไร เด็กเล็กๆรู้แค่ว่า ทำอะไรแล้วพ่อแม่พอใจ เท่านั้น ดังนั้นควรให้เหตุผลสั้นๆว่า “ติ๋มอย่าตีน้อง เพราะแม่ไม่ชอบ” ติ๋มก็จะหยุดตีน้อง เพราะโดยทั่วไป เด็กๆมักอยากทำสิ่งที่พ่อแม่พอใจ เหตุผลง่ายๆก็คือ เด็กต้องการให้พ่อแม่รักและยอมรับนั่นเอง


ลูกดื้อ
ความดื้อเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการเด็กปกติ เด็กทุกคนต้องมีความดื้อบ้างไม่มากก็น้อย บางคนอาจมีนิสัยไม่ชอบทำตามคำสั่ง บางคนอาจเถียงเก่งแบบ “คำไม่ตกฟาก” อาการดื้อไม่ค่อยเชื่อฟังนี้มักเกิดใน 2 ช่วง คือ ราวอายุ 2-5 ขวบ และเมื่อเริ่มเข้าวัยรุ่น ในช่วงอายุนี้เด็กจะเริ่มพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง(autonomy) เริ่มรู้สึกพึ่งพาตนเองได้ ทำอะไรเองก็ได้ตามใจชอบ เด็กจะตั้งคำถามบ่อยๆว่า “ทำไมหนูต้องทำอย่างนั้นด้วย” หรือพูดบ่อยๆว่า “ผมจะไม่ทำ” เด็กต้องการทดสอบกฎระเบียบของผู้ใหญ่ รวมทั้งความอดทนที่ผู้ใหญ่มีต่อเขา ในทั้งสองช่วงนี้ พ่อแม่ไม่ควรกังวลมากจนเกินไปว่าความดื้อนั้นเป็นสิ่งที่ผิดปกติ แต่คุณจะต้องหาทางควบคุมไม่ให้มันเกินเลยไป

การออกคำสั่งห้าม
การออกคำสั่งห้ามและกำหนดขอบเขตของพฤติกรรมว่า ลูกทำอะไรได้และทำอะไรไม่ได้ เป็นสิ่งสำคัญสำหรับเด็กเล็กๆ เพราะการสั่งห้ามเป็นสิ่งที่จะปกป้องเด็กจากอันตราย เมื่อคุณจำเป็นต้องออกคำสั่งลูก จงกระทำอย่างหนักแน่นแต่อ่อนโยนและสุภาพ บางทีลูกอาจจะไม่เข้าใจเหตุผลลึกซึ้งมากมาย แต่ลูกก็จะมีความรู้สึกมั่นคงและปลอดภัย เมื่อรู้ว่าทำอะไรได้และทำอะไรไม่ได้ อย่าพูดอย่างไม่แน่ใจหรืออ้อมแอ้ม คำสั่งที่ชัดเจนและสั้นๆจะช่วยให้ลูกเข้าใจง่ายและกระทำตามได้มากกว่าคำอธิบายที่ยืดยาว
คุณไม่ควรออกคำสั่งห้ามบ่อยๆ ทางที่ดีคุณควรหาวิธีช่วยป้องกันไม่ให้ลูกทำผิดหรือทำสิ่งที่เป็นอันตราย เช่นคุณควรจะเก็บข้าวของที่เป็นอันตราย เช่นมีด หรือของที่อาจจะแตกหักง่ายไปให้พ้นมือของลูก การสั่งห้ามบ่อยๆ จะทำให้ลูกหงุดหงิดใจได้ และอาจทำให้ลูกเกิดความกลัวไม่กล้าทำอะไร และกลายเป็นเด็กขี้กลัวในที่สุด

เมื่อลูกขัดคำสั่ง
บางครั้งลูกก็ขัดขืนคำสั่ง ไม่ใช่เพราะลูกอยากจะต่อต้านคุณ แต่ลูกอยากจะทดสอบว่าคุณจริงจังกับคำสั่งหรือข้อห้ามที่ตั้งขึ้นมาหรือไม่ วิธีที่ดีที่สุด คือ คุณต้องหนักแน่นและเสมอต้นเสมอปลาย เมื่อสั่งแล้วลูกไม่ทำก็จงพูดอย่างหนักแน่นอีกครั้ง และถ้าลูกไม่ทำอีกก็จงจัดการให้ลูกทำตามอย่างสงบ เช่น หากสั่งให้ลูกปิดโทรทัศน์ 2 ครั้งแล้วลูกยังไม่ทำตาม คุณก็จงเดินไปที่โทรทัศน์แล้วปิดเสียเอง หรือไม่ก็จับมือลูกเดินไปที่โทรทัศน์ด้วยกันแล้วเอามือของลูกไปปิดสวิทช์โทรทัศน์ พร้อมบอกกับลูกว่า “เมื่อแม่สั่งให้ปิดทีวี หนูต้องทำตามคำสั่งของแม่” หลักสำคัญคือ เมื่อลูกไม่เชื่อฟังแล้วอย่าปล่อยไว้เฉยๆ พยายามจัดการให้ลูกทำตามคำสั่งให้ได้ แต่จงทำอย่างสงบ อย่าโกรธหรือใช้วิธีลงโทษรุนแรง พ่อแม่ที่โกรธและต้องลงโทษรุนแรงนั้นเป็นเพราะเขาอดทนมาก รอจนสั่งครั้งที่ 10 แล้วลูกไม่เชื่อจึงค่อยจัดการกับลูก และการจัดการเมื่อคุณรอจนถึงครั้งที่10 นั้น จะลงเอยด้วยความโกรธและการตีลูกแรงเสมอ

ข้อควรปฏิบัติเมื่อลูกอารมณ์เสียและอาละวาดบ่อยๆ
1. หาสาเหตุ นอกเหนือไปจากการหงุดหงิดเพราะถูกขัดใจแล้ว บางทีลูกอาจจะเหนื่อย เพลีย หิวหรือไม่สบาย ถ้าคุณแก้ปัญหานั้นได้ อาการอารมณ์เสียก็จะหายไป
2. เบี่ยงเบนความสนใจ เช่นถ้าลูกกำลังอาละวาดเนื่องจากถูกน้องแย่งของ คุณก็อาจจะชวนลูกเล่นอย่างอื่น หรือพาลูกไปดูรถที่หน้าบ้าน
3. เพิกเฉย ถ้าคุณไม่สามารถเบี่ยงเบนความสนใจลูกได้แล้ว วิธีที่ดีที่สุดก็คือ เพิกเฉยต่อพฤติกรรมนั้น ในที่สุดลูกก็จะเรียนรู้ว่าการอาละวาดอย่างนั้นไม่มีประโยชน์
4. แยกเด็กออกไปอยู่ต่างหาก หรือใช้วิธี time out
5. ทำบันทึกเกี่ยวกับการอาละวาดของลูก จะทำให้คุณเข้าใจปัญหามากขึ้น เช่นลูกอาละวาดทุกครั้งที่มีน้องเข้ามายุ่งด้วย คุณก็ต้องแก้ปัญหาโดยไม่ให้น้องเข้ามายุ่งกับพี่มากเกินไป
6. สอนลูก เมื่อไรก็ตามที่ลูกอารมณ์ดี จงฉวยโอกาสสอนลูกถึงพฤติกรรมดีๆที่คุณต้องการให้ลูกทำ

พ่อแม่ทุกคนย่อมอยากให้ลูกมีชีวิตที่ดีและประสบความสำเร็จ แต่ชีวิตที่ดีและประสบความสำเร็จได้นั้นจะต้องมีวินัย วินัยทำให้บุคคลพัฒนาไปอย่างเหมาะสม ใช้ศักยภาพของตนได้เต็มที่และดำรงอยู่ในหนทางที่ถูกต้อง

การฝึกวินัยไม่ใช่การเลี้ยงลูกอย่างเข้มงวด จงเดินทางสายกลาง อย่าเข้มงวดมากเกินไป และอย่าตามใจมากเกินไป
โอ้โห้ เป็นความรู้ที่ดีมากลย ขอบคุณมาก ๆ เลยค่ะ
คุณแม่น้องจันทร์เจ้าคะ ลูกอายุเท่าไรแล้วคะ ถ้าเป็นช่วงขวบปีที่ 2-3 พบการร้องกรีดและดิ้นลงมือลงเท้าได้เป็นปกติ ที่อ่านมานะคะคุณหมอแนะนำว่า อย่าเข้าไปโอ๋ อย่าเข้าไปดุ ต่อว่าหรือตี โดยให้เพิกเฉย และพูดว่า "ลูกทำแบบนี้ แม่ไม่ชอบ พอลูกหยุดร้องแล้ว ค่อยมาคุยกับแม่" เป็นการสื่อให้ลูกรู้ว่า
-คุณไม่ยอมรับพฤติกรรมแบบนี้
-หากเขาหยุดพฤติกรรมแบบนี้แล้วคุณจะให้ความสนใจเขา
-คุณให้โอกาสเขาเลือกว่าจะร้องหรือจะหยุด คุณไม่ได้ไปบังคับเขา
ด้วยวิธีนี้ ลูกจะหายกรีดร้องในที่สุด บางรายอาจหายภายในหนึ่งสัปดาห์ แต่บางรายอาจใช้เวลาถึง 2-3 เดือน ขึ้นกับปัจจัยอื่นๆด้วย แต่ก็จะหายอย่างแน่นอน

ลอกมาจากในหนังสือนะคะ จริงๆเนื้อหามีเยอะมากเลยค่ะ ที่พิมพ์มาเป็นส่วนเล็กๆน้อยๆเท่านั้น แค่ได้อ่านคำนำของอาจารย์ผู้เขียนแล้วประทับใจ แล้วรู้สึกอยากแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ลองอ่านดูค่ะ
เข้ามา Confirm ว่าอ่านครบแล้วนะครับ ขยันจริง ๆ เลยคุณแม่คนนี้ ขอบคุณครับ
ข้อมูลมีประโยชน์มากค่ะ copy เก็บไว้อ่านต่อดีกว่า(ช่วง 3-5 ปี) โอ๊ะ พิมพ์เองด้วยเหรอคะ ขอบคุณมากเลยค่ะ
you're welcome ka

RSS

--oO--

สแกนโค้ด แอดไลน์ @2pasa แล้วลุ้นของรางวัลรวมคลิปเวิร์กช็อปทั้งหมด

Events

หนังสือในชุดเด็กสองภาษา



© 2025   Created by ผู้ใหญ่บิ๊ก.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service