เว็บทั้งหมดจะย้ายไปที่ www.2pasa.com แล้วนะครับ ตามไปที่นั่นได้เลย
การศึกษาไทยเกือบบ๊วย ถ้าไม่เปลี่ยนอาจบ๊วย
โดย : ผศ.บุรินทร์ รุจจนพันธุ์
---------------
ตอนนี้หากถามว่าภูมิใจกับอันดับด้านการศึกษาของประเทศไทยในเวทีโลกหรือไม่ ก็คงไม่มีใครไปตอบว่าดีกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว
เพราะระบบการศึกษาของไทยอยู่อันดับที่ 37 จากทั้งหมด 40 ประเทศในปี 2555 จากผลการจัดอันดับโดยบริษัทด้านการศึกษา คือ เพียร์สัน (Pearson) และ อีไอยู (EIU = The Economist Intelligence Unit) ในทางกลับกันพบว่ากรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศไทยมีสถิติการเข้าถึงเครือข่ายสังคมอย่างเฟซบุ๊คเป็นอันดับหนึ่งในโลก เท่ากับ 12.7 ล้านคนจากทั้งหมด 7.8 ล้านคน มีบัญชีผู้ใช้เข้าถึงเกือบ 2 เท่าของจำนวนประชากร ก่อนถามคนไทยว่าภูมิใจหรือไม่กับการเป็นอันดับหนึ่ง ก็ต้องกลับไปทบทวนวรรณกรรมว่าสถิติแต่ละค่าเป็นตัวบ่งชี้ต่อการแผนพัฒนาประเทศในด้านใด แล้วการเข้าเฟซบุ๊คมากผิดปกติเช่นนี้จะทำให้การศึกษาของไทยพัฒนาไปกว่าเดิมหรือไม่ ถ้ามีผลเป็นปฏิกิริยาต่อกันจะเป็นแนวแปรผันหรือแนวผกผัน
เมื่อเข้าอยู่ในสนามประลองย่อมต้องเหลียวซ้ายแลขวา และย้อนดูตนเองไปพร้อมกับการชำเรืองดูคู่แข่งขัน เพราะระบบการศึกษาของเราอยู่ในอันดับเกือบบ๊วย แล้ว 5 อันดับแรกคือใคร พบว่าเบอร์หนึ่งคือ ฟินแลนด์ ตามด้วย เกาหลีใต้ ฮ่องกง ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ หลังผลการจัดอันดับออกมาแล้วพบว่ากระทรวงศึกษาธิการขยับในหลายเรื่อง อาทิเช่น ส่งหนังสือเวียนไปยังโรงเรียนให้ยกเลิกการบังคับนักเรียนชายตัดผมเกรียน นักเรียนหญิงตัดผมบ๊อบ รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานสั่งลดการบ้าน และหวังลดภาระนักเรียน เพื่อจะเน้นบูรณาการ ทั้งเนื้อหา เวลาเรียน การวัดผลประเมินผล และบูรณาการกลุ่มสาระการเรียนรู้ไม่ให้ซ้ำซ้อน ซึ่งเป็นการปฏิรูปการศึกษาที่ทำให้เกิดข้อถกเถียงในช่วงเวลาที่ผ่านมาว่าถูกที่ ถูกทางแล้วใช่ไหม
รายงานของเพียร์สันในส่วนสรุปผู้บริหาร (Executive Summary) ได้เขียนคำแนะนำสำหรับผู้จัดทำนโยบายด้านการศึกษาทั้งหมด 5 ข้อ ซึ่งขอสรุปเป็นวลีสำคัญดังนี้ ต้องลงทุนอย่างต่อเนื่อง สอนเด็กให้เลิศต้องสอนโดยครูที่เป็นเลิศ มีวัฒนธรรมที่ดีที่สนับสนุนการศึกษา พ่อแม่ต้องส่งเสริม สอนเรื่องที่นำไปใช้ในอนาคตได้ ซึ่ง 5 วลีนี้เป็นข้อเสนอในภาพรวมของการปฏิรูปการศึกษา หลังจากอ่านแล้วอ่านอีกหลายรอบ ก็รู้สึกอื้ออึงในสมองซีกซ้ายเป็นคำถามว่ามีเรื่องใดแก้ไขได้เร็วที่สุดบ้าง เพราะทุกเรื่องล้วนเป็นปัญหาที่พบเห็นเป็นประจักษ์ แต่ก็ฉุกคิดขึ้นมาได้ว่าถ้าประเทศของเราไม่มีปัญหาดัง 5 ข้อนี้ เราก็คงไม่ได้ตำแหน่งเกือบบ๊วยเป็นแน่
สำหรับข้อที่ 3 ในคำแนะนำของเพียร์สันเป็นเรื่องกลางๆ ที่เกี่ยวข้องกับคนทุกอาชีพ และทุกวัยอย่างแท้จริง เกี่ยวตรงคำว่าวัฒนธรรม ก็ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า วัฒนธรรม หมายถึง วิถีการดำเนินชีวิต รูปแบบของกิจกรรม ความสัมพันธ์ทางสังคม มุมมองต่อโลก และแนวการปฏิบัติของมนุษย์ ซึ่งวัฒนธรรม ความเชื่อ และค่านิยมที่กระทบต่อคุณภาพการศึกษามีมากมาย อาทิเช่น อยากเรียนต้องได้เรียน สอบได้เป็นเรื่องตลกสอบตกเดี๋ยวก็สอบซ่อม จ่ายครบจบแน่ เชื่อในสิ่งที่เห็น เห็นแต่สิ่งที่อยากเชื่อ ชิงสุกก่อนห่าม ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น ตั้งใจเรียนโตขึ้นจะได้เป็นเจ้าคนนายคน รีบเรียนให้จบนะลูกจะได้มาช่วยพ่อแม่ไถนา เรียนไปก็ตกงานจะตั้งใจเรียนไปทำไม เงินซื้อได้ทุกอย่างแม้แต่ปริญญา สาธุขอให้เจ้าพ่อเจ้าแม่ช่วยลูกช้างให้สอบผ่านทีเถอะ หมอดูในทีวีทักมาว่าราศีไม่ดีสอบปลายภาคตกแน่ ปล่อยให้หนูจบเถอะไม่งั้นอาจารย์เจอดีแน่
การเปลี่ยนวัฒนธรรมด้านการศึกษาของคนไทยไม่ใช่เรื่องง่าย ดังคำว่า กรุงโรมไม่อาจสร้างเสร็จในวันเดียวฉันใด ก็ไม่อาจพัฒนาการศึกษาให้สำเร็จได้ในปีเดียวฉันนั้น เพราะการเปลี่ยนวัฒนธรรมการศึกษาต้องเริ่มต้นจากการมีต้นแบบวัฒนธรรมที่ดีที่เป็นแบบอย่างได้ ถ้ายังไม่รู้ยังไม่มีวัฒนธรรมการศึกษาที่ดีมีคุณภาพ และเป็นที่ยอมรับทั้งสังคม ประเทศก็คงค่อยเดินค่อยคลานไปในความมืดโดยมีเป้าประสงค์ที่เลือนรางรออยู่ เพราะในสังคมไทยมีผู้คนที่เดินสวนทางกับวัฒนธรรมการศึกษาคุณภาพอยู่มากมาย โดยเฉพาะภาคเอกชนที่จะได้รับผลกระทบทันที ถ้าคนในสังคมเริ่มคิดเป็น ทำเป็น แล้วรู้จักเลือกอุปโภคบริโภคที่ไม่ได้ไปอิงกับค่านิยม ความเชื่อ ตามอิทธิพลของสื่อ ตามคนหมู่มาก หรือแฟชั่นที่ฟุ้งเฟ้อ
Tags:
© 2025 Created by ผู้ใหญ่บิ๊ก. Powered by