เว็บทั้งหมดจะย้ายไปที่ www.2pasa.com แล้วนะครับ ตามไปที่นั่นได้เลย

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ - สองภาษาดอทคอม

มีประสบการณ์ตรงเรื่องเด็กพูดช้า มาร่วมแชร์(ยาวหน่อยนะคะ)

ที่เขียนเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะหลายครั้งที่เห็นคุณพ่อ คุณแม่หลายท่านกังวลใจเกี่ยวกับการพูดช้าของลูก เดียร์ไม่ได้ทำงานด้านการแพทย์ หรือมีความรู้วิชาการเกี่ยวกับเด็กใดๆทั้งสิ้น แต่มีประสบการณ์ตรงของตัวเอง เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์แก่ท่านอื่นๆบ้าง ไม่มากก็น้อย(เหมือนเขียนตอนจบของรายงานสมัยเรียนเลย)

เรื่องมันเกิดเมื่อประมาณ5ปีมาแล้ว เจ้าลูกชายคนโต(ตอนนั้น 2ขวบ) ยังพูดเป็นคำที่มีความหมายไม่ได้สักคำ เดียร์เลยตัดสินใจพาไปหาหมอ ความจริงเครียดเรื่องนี้มาหลายเดือนแล้ว หลายเสียงรอบข้างทักถามเรื่องนี้ แต่แฟนเค้าเชื่อว่า เป็นธรรมชาติของเด็ก เดี๋ยวก็พูดได้เอง คนเป็นแม่นี่คะ ร้อนใจ กังวล กลัวลูกเป็นโน่น เป็นนี่สารพัด เดียร์พาไปหาหมอที่โรงพยาบาลรัฐประจำจังหวัด(แอบไปกัน2คนแม่ ลูก) รอคิวนานมาก แถมพยาบาลมาบอกว่า คุณหมอกลับไปคลินิกแล้วเพราะเข้าใจว่าคนไข้หมดแล้ว กำลังโทรตามกันอยู่ พอหมอมาเจอหน้าลูกชายเราไม่ถึง5นาที หมอฟันธงว่า ลูกคุณเป็นออทิสติก เพราะเค้า2ขวบแล้วยังพูดไม่ได้ ไม่ยอมสบตา(ลูกอยากจะออกไปนอกห้องตรวจอย่างเดียว กำลังสนุกกับการสำรวจโรงพยาบาล) แต่อาจจะมีทางรักษาให้หายได้นะ คุณหมอพูดทิ้งท้ายไว้อย่างนั้น พร้อมบอกให้มาฝึกพูดกับพยาบาล อาทิตย์ละครั้ง ครั้งละ ครึ่งชั่วโมง หัวใจคนเป็นแม่หล่นวูบ โรคอะไรนี่ไม่เคยได้ยินมาก่อน มือไม้เย็นไปหมด แต่ก็พยายามตั้งสติ คิดในใจ"ลูกเรา จะเป็นโรคอะไร เราก็จะดูแลเค้าให้ดีที่สุด" กลับบ้านค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคทางเน็ต หนังสือ ฯลฯ ไปฝึกพูดกับพยาบาลก็คิวยาวเหยียด ได้เทคนิคมาเท่าที่จำได้ คือ เวลาจะให้เด็กพูดคำว่า รถ เค้าจะเอารถของเล่นมาให้เด็กดู คนสอนนั่งลงให้อยู่ในระดับสายตาเด็ก หันหน้าเข้าหาเด็ก ให้คนสอนกับเด็กมองตากัน แล้วคนสอนพูดคำว่า รถ ช้าๆ หลายๆครั้ง ถ้าเด็กอยากได้จะคว้า ก็ขยับรถออก แล้วทำและพูดอย่างเดิมอีก 2-3ครั้ง แล้วค่อยให้ของนั้น ถ้าจะสอนคำอื่นก็ใช้วิธีเดียวกัน ถ้าเป็นคำเดิม(ทบทวน) ก็พยายามกระตุ้นให้เด็กพูดออกมาให้ได้จึงจะให้ของ ให้ทำบ่อยๆ ใจเย็นๆ พยายามให้มองหน้า มองปากคนสอน (เดียร์จำและนำมาใช้กับลูกคนที่ 2 ได้ผล) เรื่องง่ายๆที่เรามองข้าม ด้วยความที่เลี้ยงลูกเองคนเดียว ตัวเดียร์เองเป็นลูกคนเดียว ไม่เคยเลี้ยงน้อง เลี้ยงเด็กมาก่อน(เป็นประเภท แม่มือใหม่ผู้ด้อยประสบการณ์แต่ตั้งใจสูง)

ไปฝึกพูดได้เกือบเดือนก็ยังไม่เห็นผล(หรือแม่ใจร้อนไปหรือเปล่า ไม่แน่ใจ) แฟนก็ปลอบใจว่า ลูกไม่เป็นอะไรหรอก เธอต้องใช้สัญชาตญาณของความเป็นแม่ เธอเลี้ยงลูกมาเธอน่าจะรู้ดีกว่าใคร ว่าลูกเป็นมั้ย ตอนนั้นไม่มีสัญชาตญาณใดๆแล้ว มีแต่ความทุกข์ใจ

แล้ววันหนึ้ง ตอนไปฝึกพูด เจอคุณป้าคนนึงนั่งรอตรวจอยู่ ป้าก็ถามว่าลูกเป็นอะไรเหรอ เดียร์ก็เล่าให้ฟัง ป้าบอกว่า หลานชายป้าก็อาการอย่างนี้แหละ แม่เค้าพาไปโรงเรียนไม่ถึง 2 เดือน พูดไม่หยุดเลย คนเป็นแม่นะ ใครว่าอะไรดีก็อยากจะทำ(ถ้าสิ่งนั้น พิจารณาแล้วว่าไม่เป็นอันตรายสำหรับลูก) เพื่อให้ลูกดีขึ้น เลยเอาประเด็นนี้มาคุยกัน ปู่ ย่า ยาย เดินทางมาร่วมด้วยครบองค์ประชุม ทุกคนซีเรียส เพราะเป็นหลานชายคนแรกของทั้งสองครอบครัว แนฟนไม่เห็นด้วย เพราะเดียร์กับแฟนเคยตกลงกันว่า จะเลี้ยงลูกเอง ไม่ให้ใครเลี้ยง(เดียร์ต้องลาออกจากงานประจำ งานที่กำลังก้าวไปข้างหน้า ด้วยสาเหตุที่ไม่สามารถหาคนที่เราไว้วางใจเลี้ยงลูกเราได้ ปู่ ย่า ยาย ก็มีกิจการ มีงานประจำของท่าน) แต่คราวนี้เราต้องลดความตั้งมั่นตรงนั้นลงก่อนเวลาที่เราตั้งใจไว้ ปู่ ย่า ยาย ลงมติได้เสียงข้างมากว่า ควรจะลองให้ลูกไปเนิสเซอรี่สักระยะหนึ่ง ถ้าไม่ดีขึ้นก็จะหาวิธีอื่น

วันแรกที่ลูกไปโรงเรียน เดียร์ไปนั่งเฝ้าในห้องด้วยครึ่งวัน อยากจะอยู่เฝ้าตลอดแต่ครูกระซิบให้ลองแอบกลับไป เพื่อดูปฏิกิริยาลูก ปรากฎว่า ลูกชายไม่ร้องไห้หา กลับรู้สึกสนุกในการเจอเพื่อนๆ (ปกติอยู่บ้านกันสองคนแม่ลูก ไม่มีเด็กรุ่นราวคราวเดียวกันเลยในละแวกบ้าน) ลูกชอบที่จะไปโรงเรียน มากกว่าอยู่บ้าน (นี่แหละนะ ไปคิดแทนลูกว่า เค้าจะร้องไห้หาแม่ ติดแม่) แม่ติดลูกมากกว่า ลูกไปโรงเรียนได้ระยะหนึ่ง คำต่างๆ ค่อยๆทยอยมา ครูจะเขียนรายงานมาทุกวันว่า วันนี้น้องพูดอะไรบ้าง ที่บ้านก็จะฝึกและสานต่อ คำต่างๆพรั่งพรูขึ้นเรื่อยๆ เค้าก้าวกระโดดจากทีละคำ เป็นประโยดเลย(สงสัยเก็บข้อมูลไว้นานมากมั้ง) แล้วก็พูดไม่หยุด นอกจากเรื่องพูด เค้าก็สามารถอ่านหนังสือออกตั้งแต่อายุ 3 ขวบครึ่ง โดยไม่ได้สอนอ่าน ก อา กา ข อา ขา เลย คุณครูแปลกใจมาก ถามเคล็ดลับว่าคุณแม่สอนลูกอ่านหนังสือยังไงค่ะ อะ เริ่มนอกเรื่อง กลับมาที่เรื่องการพูด ไม่ใช่ว่า ปัญหานี้แก้ไขได้ด้วยการไปโรงเรียนอย่างเดียวนะคะ เพราะปัญหาอาจเกิดจากหลายสาเหตุ ตามที่จะสรุปให้ต่อไปค่ะ ถ้าคุณๆ สามารถฝึกเด็กได้ด้วยตัวเอง ก็ไม่มีความจำเป็นต้องส่งลูกเข้าโรงเรียนก่อนวัย เดียร์ยังเชื่อว่า คนที่จะดูแลเด็กเล็กๆได้ดีที่สุด คือ คุณแม่ ใครจะมารักและห่วงใย เอาใจใส่เค้าได้ดีเท่าเราล่ะคะ ประดุจแก้วตา ดวงใจเราน่ะ เดียร์สรุปจากประสบการณ์ตรงที่เกิดกับครอบครัวเราได้ดังนี้ค่ะบอก

1. ลูกไม่ได้รับการฝึกพูด การกระตุ้นให้เกิดการพูดอย่างถูกต้อง เหมาะสม อยากได้อะไร แม่รู้ใจ หยิบให้ก่อนที่ลูกจะขยับปากพูดบอกเสียอีก ลูกเลยคิดว่าสบายจัง ไม่ต้องขยับปากก็ได้สิ่งที่ต้องการแล้ว

2. ลูกไม่มีตัวอย่างการพูด เพราะในบ้านมีแต่ผู้ใหญ่พูดกันคล่องแล้ว บางทีพูดเร็วมาก ทักทายลูกยังไม่ทันเห็นปากคนพูดเลย พูดจบแล้ว ไม่ได้ออกไปเล่นกับเด็กวัยเดียวกัน ได้เลียนแบบ ได้พูดคุยภาษาเดียวกัน (ภาษาเด็กๆ ที่ผู้ใหญ่ทำไม่เป็น)

3. ข้อนี้เป็นความผิดของเดียร์เอง(ผิดเต็มๆเลย) ช่วงที่ลูกอายุประมาณขวบ เดียร์ลงทุนเรื่องหุ้น ก็เลยต้องเปิดทั้งคอมพ์ ทั้งทีวี เพื่อติดตามข้อมูล เป็นช่วงที่เรียกได้ว่า คลั่งไคล้เลยล่ะ ลูกก็เลยได้ดูทีวีไปด้วย เพลิดเพลินทั้งแม่และลูก หารู้ไม่ว่า มันเป็นภัยร้ายแรงต่อการพัฒนาการพูดของลูก เพราะทีวีเป็นการสื่อสารทางเดียว มีเคสหนึ่งเป็นครอบครัวของเพื่อนแฟน(เหตุเกิดหลังครอบครัวเรา) รายนั้นก็ให้ลูกดูทีวี ตั้งแต่อายุไม่กี่เดือน แถมvcdต่างๆทั้งไทย อังกฤษ เค้าให้คนรับใช้เลี้ยงให้ คนเลี้ยงอยากจะทำงานบ้านให้เรียบร้อย เลยเปิดที่วี vcd ให้ดูตั้งแต่เช้าจนเย็น บ้านสะอาดมาก เก็บของเล่นออกหมด กลัวเด็กหยิบอะไรเข้าปากตอนไปทำงานบ้าน เด็กไม่มีอะไรทำ เลยดูแต่ทีวี vcd ไม่ยอมพูด เดี๋ยวนี้3ขวบกว่าแล้ว ยังพูดสื่อสารไม่ได้ พอปิดทีวีปุ๊บ เด็กอยู่เฉยไม่ได้ วิ่งๆวนๆรอบบ้าน ดึกดื่นถึงหมดแรงนอนได้ ตอนนั้นครอบครัวเราก็เกือบสายไป เลยเป็นอุทาหรณ์ บอกคุณพ่อ คุณแม่ที่มีเด็กเล็ก อย่าให้ทีวีเลี้ยงลูกเลย เดี๋ยวนี้ที่บ้านเราห่างไกลทีวีกันนับจากนั้นเลยค่ะ

4. ข้อนี้เดียร์ขอยกมาจากคำกล่าวของ ศ.พญ. ชนิกา ตู้จินดา จากหนังสือ อ่านแล้วตรงใจมาก

เด็กแต่ละคนมีลักษณะเฉพาะตัว

สิ่งทีคุณพ่อ คุณแม่พึงเข้าใจอีกประการหนึ่งก็คือ เด็กทารกทุกคนนั้นมีลักษณะเฉพาะของตัวเอง แน่นอนที่ว่าแกจะต้องผ่านไปตามขั้นการพัฒนาต่างๆเหมือนกัน แต่ช่วงเวลาที่เกิดพัฒนาการอาจจะต่างกันไป ไม่ใช่ว่าถ้าลูกข้างบ้านซึ่งอายุเท่ากันยิ้มได้ ลูกน้อยของคุณจะต้องยิ้มได้ หรือแกต้องคลานได้ในช่วงเดือนเดียวกับลูกชาวบ้าน

ดังนั้น คุณจึงไม่ควรคาดหวังว่าลุกจะต้องพัฒนาไปตามตารางของการพัฒนาทุกอย่าง ต้องให้ได้ตามตำราหรือตามลูกชาวบ้าน เราพึงเข้าใจว่า เด็กทุกคนจะพัฒนาตนเองไปตามอัตราความก้าวหน้าของเขา ตามแบบฉบับของเขาเอง ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะตัวที่แต่ละคนจะไม่เหมือนใคร เช่น กินน้อย นอนเก่ง หรือกินเก่ง นอนน้อย ฯลฯ

อย่างไรก็ดี ไมว่าแกจะเหมือนหรือแตกต่างจากเด็กคนอื่นๆอย่างไร คุณพ่อ คุณแม่ก็ควรจะพอใจและสร้างความสุขในขณะที่อยู่กับลูกให้เต็มที่ รวมทั้งยอมรับความเป็นจริงของแกว่าแกก็จะต้องเป็นอย่างที่แกเป็น พยายามหาทางตามแบบฉบับของคุณเองให้เข้ากับลักษณะเฉพาะของแกจะดีกว่า แล้วคุณและลูกน้อยก็จะมีความสุขด้วยกันอย่างแท้จริง

ไม่จำเป็นต้องเลี้ยงลูกตามตำรา

การเลี้ยงลูกนั้น มีผู้กล่าวว่า "เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์" คือเป็นเรื่องของความเข้าใจ ประกอบส่วนเข้ากับความรัก มีทั้งเรื่องของประสบการณ์ ประสมประสานกับอารมณ์ความรู้สึก ดังนั้นจึงไม่มีกฎตายตัวว่า จะต้องเลี้ยงแบบนั้น แบบนี้ บ่อยครั้งที่สัญชาตญาณและความสังหรณ์ใจของพ่อแม่ก็ถูกต้องในขณะที่ถ้าทำตามตำราทุกอย่างกลับผิดพลาด ทั้งนี้ก็ดังที่กล่าวไปแล้วว่า เพราะเด็กแต่ละคนย่อมมีลักษณะเฉพาะของตัวเขาเอง และตำรานั้นก็เป็นทฤษฎีที่กล่าวอย่างกว้างๆ โดยทั้วไปเท่านั้นเอง

ดังนั้น ในเวลาที่คุณพ่อ คุณแม่ เลี้ยงลูกน้อยนั้นอาจจะอาศัยตำราเป็นแนวทางกว้างๆ เพื่อให้เข้าใจดีขึ้นว่า ลูกน้อยจะ พัฒนาแต่ละขั้นตอนไปอย่างไร และเพราะเหตุใด

จงมีความมั่นใจในตนเอง

ไม่ว่าคุณจะเป็นคุณพ่อ คุณแม่คนใหม่ หรือเป็นมืออาชีพ ที่เลี้ยงลูกมาแล้วเกือบครึ่งโหลก็ตาม สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดในการเลี้ยงลูกก็คือ ความรู้สึกมีชีวิตชีวาในการเป็นพ่อแม่ ความรู้สึกมีความสุขที่จะได้เลี้ยงลูก และยิ่งกว่านั้นก็คือ ความมั่นใจในตนเองว่าจะสามารถเลี้ยงดูแลลูกของเราเองได้ ไม่ว่าเราจะเป้นอย่างไร และลูกของเราจะเป็นอย่างไร เพราะตราบเท่าที่เรามีความปรารถนาที่จะมีความสุขกับลูก และมีความรักลูกแล้ว สามัญสำนึกและสัญชาตญาณของการเป็นพ่อ เป็นแม่ก็จะช่วยให้เราฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นไปได้อย่างแน่นอน

เอาเป็นว่า คุณหมอสรุปปิดท้ายให้แล้ว เดียร์ก็จะขอจบละ เพราะยาวมาก ความจริงมีเยอะกว่านี้ แต่เกรงใจคนอ่านน่ะค่ะ

Views: 93801

Comment

You need to be a member of หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ to add comments!

Join หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้

Comment by ฉัตรมาลิน on September 3, 2010 at 9:45am
ยินดีนะคะที่ประสบการณ์ของตัวเองจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นๆ ตอนแรกว่าจะลงรายละเอียดเยอะกว่านี้ แต่เกรงใจคนอ่าน เลยเขียนแต่เนื้อๆเน้นๆ น่ะค่ะ
ตอบคุณNatechanok ตอนนี้เจ้าลูกชาย(พี่มินทร์) อายุ7.5ปีแล้วค่ะ สอน2ภาษาได้5เดือนแล้วแต่ยังไม่ไปถึงไหน เพราะเด็กๆพูดไทยกันคล่องแล้ว กว่าแม่จะ เอ่อ อ่า ภาษาอังกฤษ ลูกก็รัวกันเป็นชุดแล้ว ที่บ้านเดียร์ต้องยกมือแล้วจัดคิวพูดกันค่ะ
Comment by สุกานดา on September 2, 2010 at 3:20pm
ขอบคุณมาก ได้อะไรดีๆๆเยอะเลย เพราะลูก1.7ขวบยังไม่พูดเลย เคยเครียดแต่ตอนนี้ไม่ ขอบคุณอีกครั้งค่ะ
Comment by แม่ติ๊ก&น้องต้นกล้า on September 2, 2010 at 2:50pm
อ่านเพลินเลยคะ ขอบคุณสำหรับความรู้ดีๆนะคะ
Comment by KrisMum on September 2, 2010 at 3:46am
เรื่องพูดช้าเป็นข้อกังวลของแม่ๆอันดับต้นๆเลยเน๊าะ ขอบคุณคุณเดียร์ที่มาแชร์ข้อมูลนะคะ มาเขียนต่อนะคะๆ มีประโยชน์มากๆเลยค่ะ
Comment by ปิยนุช ทองเหมือน on September 1, 2010 at 10:09pm
ขอบคุณมากนะค่ะ ตอนนี้น้องอายุ 1 ปี 6 เดือนก็ยังไม่ยอมพูดเหมือนกันค่ะ
Comment by DaddyOnTheBus on September 1, 2010 at 8:38pm
ขอบคุณที่เอาประสบการณ์มาแชร์ครับ

อยากให้เขียนยาวๆ กว่านี้จัง... น่าอ่านมากๆ d(- _ᴖ )
Comment by อรนัย รักในหลวง on September 1, 2010 at 7:11pm
อ่านไปขนลุกไปเลยคุณเดียร์....ยังอยากอ่านต่อนะค่ะ เพราะอ๊อบว่าเป็นบล็อกที่เป็นประโยชน์ต่อคนอ่านมากๆ เขียนภาคสองต่อนะค่ะ โชคดีเนอะที่คุณเดียร์ดื้อพาลูกไปหาหมอ อ๊อบว่านั้นแหละคือสัญชาติญาณของแม่..ที่คุณเดียร์ต้องรู้สึกได้

สัญชาติญาณแม่สำคัญจริงๆค่ะ ไม่สามารถเอาเคสคนนึงไปบอกว่าเหมือนอีกคนนึงได้....

ขอบคุณที่เอามาแชร์กันนะค่ะ
Comment by แม่ แม่จูน ของน้อง mc on September 1, 2010 at 5:16pm
ดีใจด้วยนะคะทีในที่สุดทุกอย่างก็ผ่านไปด้วยดี ตอนนี้น้องอายุเท่าไหร่แล้วค่ะ แล้วสอนน้องพูดภาษาที่ 2 หรือเปล่าค่ะ

--oO--

สแกนโค้ด แอดไลน์ @2pasa แล้วลุ้นของรางวัลรวมคลิปเวิร์กช็อปทั้งหมด

Events

หนังสือในชุดเด็กสองภาษา



© 2024   Created by ผู้ใหญ่บิ๊ก.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service