เว็บทั้งหมดจะย้ายไปที่ www.2pasa.com แล้วนะครับ ตามไปที่นั่นได้เลย

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ - สองภาษาดอทคอม


แม่น้องพลอยชมพูได้เคยเปิดประเด็น Home School ในห้องโรงเรียนของลูก ผมคิดว่าแนวคิด Home School เป็นแนวคิดที่น่าสนใจมากๆ ตราบใดที่โรงเรียนยังประเมินนักเรียนฝ่ายเดียว แต่อ้ำอึ้งที่จะให้ผู้ปกครองประเมินโรงเรียนกลับบ้าง ไม่ว่าสาเหตุของการอ้ำอึ้งนี้มาจากขยะใต้พรมหรือเหตุอื่นก็ตาม ผมคิดว่าทางเลือกในการให้การศึกษา ควรจะมีหลายๆทางเลือก


ผมอยากจะหยั่งเสียงความคิดเห็นเรื่องนี้หน่อยครับ อยากให้สมาชิกคลิกโหวต แล้วให้เหตุผลต่อท้ายกระทู้ตรง "ตอบกลับกระทู้นี้" ด้วยครับ



บทความ Home School
อ้างอิงจากที่นี่ค่ะ http://www.elib-online.com/doctors2/child_homeschool02.html
" พ่อแม่ก็เป็นครูได้ บ้านก็กลายเป็นโรงเรียนได้ " นี่เป็นแนวคิดใหม่ ที่กำลังเป็นที่กล่าวถึงกันมากในขณะนี้

Home School หรือการสอนลูกเองอยู่กับบ้านโดยไม่ส่งเข้าโรงเรียน ปกตินับเป็นการศึกษาทางเลือกที่ฮือฮามาพร้อมกับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 ซึ่งเปิดโอกาสให้พ่อแม่มีสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานแก่ลูกได้

คุณพ่อคุณแม่หลายท่านคงเคยได้ยินเรื่องนี้กันมาแล้ว แต่อาจยังไม่เข้าใจถึงรูปแบบ ที่แท้จริงของโฮมสคูล รวมถึงบางท่านแม้ทราบแล้วแต่ก็ยังรีๆ รอๆ ไม่กล้าทำจริงทั้งที่อยากจะสร้าง "บ้านแห่งการเรียนรู้" นี้เหลือเกิน

อยากให้ติดตามคอลัมน์นี้กันต่อๆ ไปนะคะ เพราะเราจะนำทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับโฮมสคูล มาเล่าสู่กันฟังเพื่อเป็นความรู้และเป็นแนวทางเลือกให้สำหรับคุณพ่อคุณแม่ ที่สนใจ

โฮมสคูลคืออะไร

โฮมสคูล (Home School) เป็นแนวคิดและรูปแบบการศึกษาทางเลือกที่ให้สิทธิพ่อแแม่ จัดการศึกษาให้ลูกได้ด้วยตนเองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โฮมสคูลเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศตะวันตก จนแพร่หลายและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ โดยมีการประมาณการว่าปัจจุบันมีเด็ก ที่เรียนอยู่กับบ้านทั่วโลกราว 2-3 ล้านคน โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกามีมากถึง 1.23 ล้านคน และคาดว่าในปี 2008 คืออีก 8 ปี นับจากนี้จะมีเด็กอเมริกันที่เรียนอยู่กับบ้านเป็นจำนวนถึง 6.87 ล้านคนทีเดียว

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้โฮมสคูลเป็นที่นิยมในหมู่พ่อแม่

คำตอบก็คือ พ่อแม่เริ่มไม่มั่นใจในระบบการศึกษาในโรงเรียนห่วงว่าครูจะสอนลูกได้ไม่ดี โรงเรียนไม่มีคุณภาพหรือไม่มีความสามารถพอที่จะพัฒนาศักยภาพของลูกได้ มิหนำซ้ำสารพัดปัญหาสังคม ที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นไม่น้อยที่เกิดจากโรงเรียนทั้ง ปัญหายาเสพติด การทำร้ายร่างกาย แม้แต่อาชญากรรมในเด็กด้วยกันเอง

ในอเมริกามีดัชนีที่น่าตกใจมากมายเกี่ยวกับเด็กอเมริกัน เช่น มีเด็กพกปืนไปโรงเรียนวันนึงๆ ร่วมแสนคน มีทารกซึ่งคลอดจากแม่วัยรุ่นที่อยู่ในวัยเรียนปีนึงถึงห้าแสนคน นี่เป็นปัญหาซึ่งใครเป็นพ่อแม่ก็หนาว

บ้านเราก็ดัชนีที่น่าตกใจมากมายไม่แพ้กัน ที่เห็นและเป็นข่าวกันครึกโครมก็คือ เรื่องของยาบ้าและการพนัน แทบไม่น่าเชื่อแม้แต่เด็กประถม 4 ก็เล่นพนันบอลเป็นแล้ว

ปัญหาเล่านี้คือ สาเหตุที่ทำให้พ่อแม่ที่วิตกกังวลและกล้าลองของใหม่เลือกโฮมสคูลให้กับลูก

ข้อได้เปรียบของ Home School ที่มักจะถูกอ้างอิง
พ่อแม่ผู้ปกครองมีเวลาอยู่กับลูกเต็มที่ ความผูกพันอบอุ่นระหว่างพ่อแม่ลูกย่อมแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
พ่อแม่ผู้ปกครองมีโอกาส "เลือก" และ "ปรับ" แนวทางการจัดหลักสูตร และการสอนให้เหมาะกับแบบแผนชีวิต ความเชื่อตลอดจนความต้องการ และความพร้อมของลูกได้อย่างยืดหยุ่นแทนการส่งลูกไปรับการศึกษาแบบ "เหมาโหล" ที่บังคับให้ลูกต้องเรียนทุกอย่างเหมือนๆ และพร้อมๆ กับเด็กอื่นๆ ในขณะที่ลูกยังอาจไม่สนใจหรือไม่พร้อมที่จะเรียนเรื่องนั้นๆ
เด็กได้รับการปฏิบัติในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจและสิทธิเสรีภาพของ ตนเอง ไม่มีพ่อแม่คนใด "ตีตรา" ลูกว่าเป็น "เด็กเรียนช้า" หรือ "เด็กมีปัญหา" เหมือนในโรงเรียน
การเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ต่อเนื่องตลอดเวลาโดยไม่มี "เปิดเทอม" หรือ "ปิดเทอม" ที่ชัดเจน การเรียนรู้อย่างสนุกสนานต่อเนื่องจะค่อยๆ ปลูกฝังจิตวิญญาณ แห่งการเรียนรู้อยู่เสมอเช่นกัน
และในชีวิตจริงการเรียนรู้และพัฒนาตนเองก็ไม่มีเปิดเทอมหรือปิดเทอมเช่นกัน การเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ลงมือปฏิบัติจริงเป็นได้ง่ายขึ้นในบรรยากาศของครอบครัว ที่สามารถจัดกิจกรรมเสริมการเรียนรู้ทั้งในบ้านนอกบ้านได้มากมาย แทนที่จะให้เด็กเรียนแต่จาก "หนังสือ" และ "คำบรรยาย" เท่านั้น

โฮมสคูล ทำอย่างไร

ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ทำการศึกษาวิจัยเรื่องการจัดการศึกษาโดยครอบครัว หรือ Home School ได้บอกถึงหัวใจหลักของโฮมสคูลว่า

" โฮมสคูล จริงๆ มันก็คือโรงเรียนแบบหนึ่งโดยนิยามของมัน ประการแรก การสอนในบ้าน ก็ต้องถูกวางแผนอย่างตั้งใจ แปลว่าคุณจะต้องมีแผน ส่วนจะยืดหยุ่นแค่ไหนแล้วแต่ความเหมาะสม ประการที่สอง โดยที่กิจกรรมการเรียนรู้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในบ้าน คำว่า "ส่วนใหญ่" แปลว่า พ่อแม่ไม่ต้องสอนในบ้านก็ได้ หลายคนที่ชอบกล่าวหาว่า โฮมสคูลเป็นการเอาลูกไปขังไว้ในบ้าน ลูกไม่ได้มีสังคม ไม่ได้เจอโลกภายนอก ไม่จำเป็น พ่อแม่อาจจะพาลูกไปโรงเรียนร่วมกับเด็กที่อื่นก็ได้ หรืออาจมีกิจกรรมบางอย่างร่วมกับโรงเรียนก็ได้ ประการที่สาม พ่อแม่เป็นคนสอนหรือควบคุมดูแลการสอน บางเรื่องที่พ่อแม่ไม่ถนัดอาจจ้างครูมาสอนก็ได้ "

ฟังดูแล้ว โฮมสคูลก็ไม่น่าจะใช่เรื่องใหม่อะไร เพราะแต่ไหนแต่ไรมาพ่อแม่ก็ทำหน้าที่ครูของลูกอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้ทำจริงจังและไม่มีกฎกติกาที่แน่นอนเท่านั้นเอง

รูปแบบของโฮมสคูลนั้น อาจจัดหลักสูตรที่ไม่มีโครงสร้างตายตัวแต่เน้นความหลากหลาย ให้ลูกเรียนรู้คู่ไปกับการสัมผัสชีวิต นั่นก็คือเป็นไปตามธรรมชาติของวิถีชีวิตในแต่ละครอบครัว ในแต่ละวันนั่นเอง

คุณแม่ท่านหนึ่งในประเทศอังกฤษเล่าถึงประสบการณ์การทำโฮมสคูลว่า

…ฉันเริ่มต้นด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ที่เหมือนโรงเรียนจริงๆ มีทั้งโต๊ะ กระดานดำ ปากกา หนังสือเรียน ฉันคิดว่าฉันพร้อมและกำลังจะเริ่มต้นให้การศึกษาแก่ลูกอย่างเป็นเรื่องเป็น ราว แต่เมื่อสิ้นสุดเย็นวันแรก ฉันกลับพบว่าทั้งฉันและลูกแทบจะประสาทเสียไปพร้อมๆ กัน เพราะเด็กๆ ไม่ได้ทำอะไรตามหลักสูตร ที่เตรียมไว้แม้แต่อย่างเดียว และฉันก็ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการว๊ากพวกเขา ฉันรู้ในบัดนั้นว่า ฉันเดินมาผิดทางแล้ว ฉันกำลังพยายามที่จะทำตัวเป็นโรงเรียนเสียเอง ฉันกำลังพยายามจะทำ ในสิ่งที่ฉันเองคัดค้านก็เพราะความเป็นโรงเรียนมิใช่หรือที่ทำให้ฉันเอาลูก ออกมา…

…วันรุ่งขึ้นท่ามกลางความประหลาดใจของเด็กๆ ฉันพาพวกเขาไปปิคนิคเราไปเก็บดอกไม้ ก้อนหิน เดินดูนกและแมลงด้วยกัน แล้วก็พูดคุยกับใครต่อใครในหมู่บ้านไปตลอดทั้งวันนั้น คืนนั้นหลังจากเด็กๆ เข้านอนแล้วฉันจึงจดบันทึกการสอนของฉันในวันนั้นลงไปว่า …เนื้อหารายวิชาที่ครอบคลุมในวันนี้ ได้แก่พลศึกษา ประวัติศาสตร์ชุมชน ธรรมชาติวิทยา ภูมิศาสตร์และทักษะทางสังคม… เป็นไงล่ะ หลักสูตรของฉัน ต่อมาไม่นานหลักสูตรของฉันก็เริ่มเข้าที่ ถึงแม้ฉันกับลูกจะเห็นพ้องต้องกันว่าเราต้องเรียน อ่าน เขียน เรียนคณิตศาสตร์อย่างเด็กตามโรงเรียนทั่วไปบ้าง แต่เราก็ไม่เคยลืมที่จะสนุกกับการเรียนรู้ จากทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวในชีวิตประจำวันของเรา ตั้งแต่การทำกับข้าว ซ่อมจักรยาน ทำสวน แต่งบ้าน เยี่ยมญาติ เล่นเกม ฟังเพลง…และทุกสิ่งทุกอย่างเป็นการเรียนรู้จากชีวิตจริง…

คุณสมบัติของพ่อแม่โฮมสคูล

พ่อแม่แบบไหนที่สามารถทำโฮมสคูลได้ คำตอบนี้ไม่ยากขอเพียงให้มีความพร้อมทั้งสถานะทางเศรษฐกิจ สังคมและการศึกษา ไม่จำเป็นว่าจะต้องร่ำรวยหรือเรียนสูงระดับดอกเตอร์

จากการศึกษาภูมิหลังของพ่อแม่กลุ่มที่ทำโฮมสคูล พบว่าส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลาง มีรายได้พอกินพอใช้ถึงมากเล็กน้อย และมักมีการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งระดับการศึกษาเพียงเท่านี้หากบวกกับประสบการณ์ชีวิตอีกส่วนหนึ่งก็เพียง พอแล้วสำหรับการทำโฮมสคูล

หัวใจของความสำเร็จของโฮมสคูล

หัวใจของความสำเร็จของโฮมสคูลคือ ความเอาจริงเอาจังและความเอาใจใส่ของพ่อแม่ ที่สำคัญคือความสัมพันธ์ที่อบอุ่นในครอบครัวและสิ่งแวดล้อมในบ้านต้องมี ลักษณะกระตุ้นการเรียนรู้ เช่น บ้านต้องเงียบสงบพอที่เด็กจะมีสมาธิในการเรียน หรืออ่านหนังสือ มีหนังสือประเภทต่างๆ ที่หลากหลาย มีสิ่งแวดล้อมที่สร้างความอยากรู้อยากเห็นในเชิงสร้างสรรค์ เป็นต้น

พ่อแม่ต้องมีระเบียบวินัยในตนเอง ยอมปฏิเสธภาระอื่นที่มารบกวนหรือขัดจังหวะการเรียนรู้ของลูก เพื่อให้มีเวลาสอนลูกได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้พ่อแม่ควรขยันหมั่นหาความรู้ใส่ตัวอยู่เสมอ โดยเฉพาะในเรื่องที่จะนำมาสอนลูก

ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงรอบข้างก็ควรต้องเห็นด้วย และคอยสนับสนุนเป็นกำลังใจ เพื่อที่พ่อแม่จะได้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวจนท้อแท้ เพราะการทำโฮมสคูลถือเป็นภาระหนักระยะยาว ที่มีอนาคตของลูกเป็นเดิมพัน

เด็กโฮมสคูลมีพัฒนาการด้านต่างๆ ดีกว่าเด็กที่เรียนในโรงเรียน ?

น่าทึ่งที่ผลงานวิจัยในต่างประเทศหลายชิ้นชี้ว่า เด็กโฮมสคูลมีพัฒนาการและความสามารถ ทั้งในด้านวิชาการ บุคลิกภาพ และพัฒนาการทางอารมณ์ดีกว่าเด็กที่เรียนในโรงเรียน และเด็กโฮมสคูลไม่มีปัญหาในการเข้าสังคมอย่างที่หลายคนห่วงเรื่องนี้ ดร.อมรวิชช์ อธิบายว่า

" ในห้องเรียนเราเรียน 1 ต่อ 40 พออยู่บ้าน เราเรียนตัวต่อตัว หรือ 1 ต่อ 2 เพราะฉะนั้น เรื่องคุณภาพ ความเอาใจใส่มันก็ต่างกัน อีกประการพ่อแม่รักลูก การเรียนส่วนนึงที่มันไม่บรรลุผล เพราะเราบังคับให้เด็กเรียนในเวลาที่เด็กไม่อยากเรียน แต่พออยู่กับพ่อแม่เบื่อแล้วเหรอ อ้าวออกไปเดินเล่น ไป ชอปปิ้ง ไปขี่จักรยานเล่น ฉะนั้นความเบื่อหน่ายซึ่งเป็นศัตรูตัวฉกาจของเด็กเนี่ย มันก็น้อยลงในรูปแบบโฮมสคูล
แต่ก็มีงานวิจัยบางชิ้นที่พูดถึงเรื่องทักษะทางสังคม บอกว่าเด็กเก็บตัวซึ่งผมเองมองว่า เรื่องนี้มันแล้วแต่พ่อแม่ ถ้าพ่อแม่เป็นคนเก็บตัวแนวโน้มที่ลูกจะปั้นออกมาเป็นเด็กซึ่งเก็บตัวก็เป็น ไปได้ "

และประการสำคัญคือ เด็กโฮมสคูลดูจะมีความสุขกับการเรียนมากกว่าเด็กที่เรียนในโรงเรียน คำอธิบายที่ยืนยันได้ก็คือความแตกต่างของบรรยากาศของการเรียนรู้นั่นเอง ในขณะที่ในโรงเรียนครูผู้สอน จะยืนเผชิญหน้ากับเด็กอยู่หน้าชั้น แต่บรรยากาศโฮมสคูลครูผู้สอนคือพ่อแม่ไม่ใช่ครูที่ยืนอยู่หน้าชั้น แต่คือคนที่นั่งอยู่ข้างๆ ลูก

Views: 5117

Reply to This

Replies to This Discussion

เห็นด้วยค่ะ หากรวมกลุ่มได้เรื่องอื่นๆ ไม่ใช่เรื่องยาก
รวมกลุ่ม กลุ่มหนึ่งๆ ไม่เกิน 10 สมาชิก
ผู้ปกครอบเด็กต้องมาแชร์กัน ว่าใครถนัดสอนอะไร แล้วมาแลกเปลี่ยนความรู้กันให้แก่เด็กๆ ในกลุ่ม
ใครถนัดอังกฤษ ก็สอนให้ลุกตนเองพร้อมๆ เด็กทุกคนในกลุ่ม ใครถนัดคณิตฯ ก็สอนไป สลับกันไป แบบนี้ไม่ต้องเสียเงินจ้างครูพิเศษมาสอนลูกเราในวิชาที่เราไม่ถนัด ย้ายสถานทีบ้านตนเองบ้าง บ้านสมาชิกบ้าง วนกันไปตามความพร้อมของบ้านนั้นๆ หากิจกรรมให้เด็กทำหลังเรียนเสร็จ มีการพบปะแลกเปลี่ยนกับเด็กบ้านเรียนกลุ่มอื่นๆ ด้วยค่ะ

เห็นด้วยกับแนวความคิดนี้มากๆครับ

การเรียนรู้ตลอดชีวิตและการแบ่งปันเป็นสิ่งดีครับ

ถ้าเป็นระบบ โฮมสคูล เราสอนที่บ้านแล้วพาออกนอกบ้างเพื่อทำกิจกรรมหรือเข้าสังคมไม่เป็นคนเก็บตัวจะพอให้เด็กรู้จักการอยู่ร่วมกับผู้อื่นเหมือนในห้องเรียนหรอ
พอเข้ามัธยมเข้ามหาลัยทำงาน เจอเพื่อน เจอครู เจอเพื่อนร่วมงานคิดว่าเค้าจะปรับตัวทันไหมหรือให้เค้าเจอเอาตอนโตเเล้วค่อยสั่งสมประสบการณ์ปรับจิตใจให้รับ
ความคิดของเพื่อน ครู หัวหน้างาน เพื่อนร่วมงานเอาตอนนั้น คิดว่าสอนเองโดยพ่อแม่สอนดีกว่าครูเพราะลูกเราเราต้องให้สิ่งดีๆกับเค้าอยู่แล้วเด็กก็รับรู้ได้เช่นกัน
ว่านี่คือพ่อเเม่ นี่คือคุณครู นี่คือเพื่อน นี่คือคนอื่นการปฎิบัติตัวของเค้ากับคนเป็นพ่อเเม่เค้าจะเป็นอีกอย่าง ถ้าเป็นกับคุณครู เค้าจะเป็นอีกอย่างเค้าปรับตัวเป็นตั้งแต่เด็กถ้าเค้าได้ไปโรงเรียนแต่ถ้าเราสอนเอง ความรู้สึกของลูกกับเราก็เป็นพ่อเเม่ที่รักเค้าอยู่ดี อย่างไรก็รักอย่างไรก็ให้อภัย สอนดีให้เต็มที่ดีกว่าที่โรงเรียนแต่เด็กจะรู้จักอีกฟากหนี่งเหมือนในห้องเรียนไหม แต่ถ้าให้เค้าไปโรงเรียน 3 โมงเลิกแล้วพ่อแม่ที่คิดจะทุ่มเทให้ลูก 4 โมงถึงบ้าน และเวลาที่เหลือนั่นคือสิ่งที่เราต้องให้ลูกยันเข้านอนไม่มีงานบ้านไม่มีเวลาของตัวเอง เสาร์อาทิตย์ไม่มีเรียนพิเศษ คิดว่านั่นน่าจะพอแล้ว ขอให้ทุ่มเทเต็มที่ ยิ่งไม่ต้องทำงานด้วยคิดว่ายิ่งได้ดีอีกต่างหาก ได้ทั้งที่บ้าน และได้ที่โรงเรียนด้วย
ผมไม่เห็นด้วย คิดว่าการที่เด็กได้ไปโรงเรียน จะทำให้ได้รู้จักการใช้ชีวิตในสังคม และการปรับตัวกับสถานการณ์ต่างๆ ในแต่ละช่วงวัย การรู้จักการคบเพื่อนทำกิจกรรมรวมกับคนอื่น มันจะส่งผลต่อการทำงานในอนาคต และการอยู่ร่วมกับคนอื่นๆในสังคมได้ด้วย ถ้าพ่อแม่ ต้องการจะสอนจริงๆ ก็มีวันเสาร์อาทิตย์ หรือวันหยุดที่จะได้พูดคุย หรือทำกิจกรรมร่วมกัน หรืออาจจะสอนวิชาต่างๆเพิ่มเติมได้ถ้าคิดว่าเด็กยังอ่อนในส่วนไหน เป็นการเสริมเพิ่มเติมเข้าไป โดยส่วนใหญ่คนทำงานจะทำงานช่วงเวลา 8.30-4.30 หรือ 5.00 ถ้าเป็นในเมืองหลวงการเดินทางจะเพิ่มเวลาเข้าไปอีกหลายชั่วโมง ดังนั้นการที่จะมีเวลามาสอนลูกด้วยระบบHome School มันจะไม่ได้ผล ระบบแนวคิดจากต่างประเทศบางอย่างก็ไม่สามารถนำมาใช้ได้ เนื่องจากการใช้ชีวิตประจำวันในแต่ละประเทศ มันแตกต่างกันมากๆ
เห็นด้วยกับความคิดของคุณประวิทย์ค่ะ
เป็นแม่คนหนึ่งที่เริ่มทำโฮมสคูลให้ลูกเฉพาะช่วงวันหยุด มาได้ราวๆสองปีแล้วค่ะ (เป็นแม่ทำงานเต็มเวลา)...เหตุเกิดจากได้อ่านเจอเรื่องราวเกี่ยวกับคุณแม่บางท่านที่มีลูกวัยใกล้เคียงกัน และทำโฮมสคูลแบบเต็มเวลาให้ลูก...ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

ทำโฮมสคูลเฉพาะช่วงวันหยุด ทำอย่างไร...

ส่วนตัวจะจัดโปรแกรมว่า แต่ละวันจะสอนอะไรแก่ลูก...ช่วงไหน พยายามจัดให้มี balance ที่ดีระหว่างการสอนวิชาการ การออกกำลังกาย พักผ่อน และการเล่น-ทำกิจกรรม (มีทั้งเล่นแบบ structured play, free play และ learn through play) นอกเหนือจากเวลาทำงานและเวลาส่วนตัวอันน้อยนิดที่มี...พยายามให้ลูกทั้งหมดค่ะ

วันธรรมดา..ลูกไปโรงเรียนแนวเตรียมความพร้อม เน้นเล่นและกิจกรรมเสียมากกว่า...ตอนลูกกลับมาบ้าน จะมีคุณครูมาสอนพิเศษในแต่ละวันๆละ ๑ ชม. อาทิ ภาษาไทย (ลูกเรียนนานาชาติ) ศิลปะ...และจะฝากการบ้านไว้ให้ทำ ส่วนใหญ่เป็นการบ้านแนววิชาการ ทั้งเชาว์ ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์

กิจกรรมเสริมช่วงเสาร์-อาทิตย์ เหนือคำบรรยายค่ะ ตารางแน่นเอาการ...นอกจากไปเที่ยวในที่ต่างๆที่น่าจะเหมาะกับเด็กแล้ว ที่เรียนเสริมก็มีดนตรีเด็ก (JMC) Piano โยคะ ว่ายน้ำ และเพิ่งมาเริ่มภาษาจีนเพียงสัปดาห์ละ ๑ ชม.ได้ไม่นาน ซึ่งแม่จะพยายามทบทวนให้ ผ่านตารางโฮมสคูล...คุณตาตุณยายบ่นว่า จะบ้าหรือเปล่า เด็กอายุแค่นี้ ให้เรียนนั่นเรียนนี่ แต่ดิฉันมีความเชื่อส่วนตัวว่า การเริ่มสอนอะไรให้ลูกตั้งแต่ยังเด็ก..แบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ต้องเร่งรัด ดีกว่ามาเริ่มสอนเอาตอนโต ซึ่งเด็กจะมีความเป็นตัวตนของตัวเองมากแล้ว...ความสนใจก็จะหลากหลายกว่า...สอนยาก...

อีกอย่าง คือเชื่อเรื่องการทำงานของสมองที่ได้อ่านจากหลายที่ว่า สมองคนเรา พัฒนาไปถึง 60% ก่อนสามขวบ 90% ก่อนสิบขวบ ที่เหลืออีก 10% ไปถึงอายุ ๒๐ ปี...ถ้าสมองได้รับการกระตุ้นและพัฒนาส่วนใดมากๆในวัยเด็ก จะสร้างเซลส์และเส้นใยที่เชื่อมต่อกันมากในเรื่องที่ถูกกระตุ้นมาก เด็กจะมีข้อมูลมาก เป็นเหตุผลว่าทำไมเด็กถึงความจำดีกว่าผู้ใหญ่ และอะไรก็ตาม ที่เรารับรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้าตั้งแต่วัยเด็ก เรามักจะจำติดตัวไปจนแก่

ผลที่ได้จากการทำโฮมสคูลแบบพาร์ทไทม์.....ค่อนข้างพอใจกับลูกชายค่ะ (ตอนนี้ ๕ ขวบ) ส่วนเด่นของลูก คือสมาธิในการทำงานดีขึ้นเป็นลำดับ ร้องเพลงได้ดี(หูไม่บอด) จินตนาการดี กล้าแสดงออก ชอบอ่านหนังสือ วาดรูปและระบายสีเก่ง พูดได้คล่องทั้งภาษาไทย-อังกฤษ (เหมือนเด็กๆหลายคนในหมู่บ้านแห่งนี้ค่ะ)

ส่วนด้อยของลูก คือเป็นเด็กใจร้อน ถ้าเป็นสิ่งใหม่ๆที่ยากและยังไม่เคยทำ จะไม่ค่อยกล้าลอง ช่างโต้เถียง-ดื้อ (บางครั้ง) บางครั้งบอกอะไรไม่ยอมเชื่อ ต้องให้เกิดอุบัติเหตุเสียก่อนถึงจะยอมฟัง

ไว้มาต่อค่ะ
มารอฟังต่อนะคะ
ถ้าจะทำโฮมสคูล พ่อแม่ต้องทำการบ้านหนักเชียวค่ะ นอกจากจะต้องมีความรู้ในเรื่องที่จะเรียนแล้วยังต้องรู้เรื่องจิตวิทยาการเรียนรู้แต่ละช่วงวัยอีกด้วย ถ้าทำได้ผลที่ได้รับก็น่าจะคุ้มเหนื่อย ส่วนตัวแล้วคิดว่าถึงเราจะส่งลูกเข้าโรงเรียน (ซึ่งเดี๋ยวนี้นอกจากจะมีรร.ในระบบแล้วยังมีรร.ทางเลือกอีกหลายแห่ง) แต่เราก็สามารถทำโฮมสคูลกับลูกๆ ในวันเสาร์-อาทิตย์ได้ พ่อแม่ก็ไม่เหนื่อยหรือเครียดเกินไปด้วยค่ะ แถมยังสนุกและสร้างความตื่นเต้นให้เราในวันหยุดว่า เอ...เสาร์อาทิตย์นี้เราจะสอนอะไรลูกดีน้า.....
ได้อ่านแล้วคิดตาม เกือบทุกข้อความคิดเห็น .. ระบบมันดีมาก ๆ ทำให้ลูกได้อยู่ในความดูแลของพ่อแม่ .. ปัจจุบันลูกเรียนที่โรงเรียน เราเองก็ไม่ได้มีโอกาสรู้เลยว่า จำนวนชั่วโมง ๆ ที่ลูกได้เรียนนั้นมันเท่าไหร่ .. แล้วลูกเราได้เรียนเรื่องอะไรมาบ้าง .. ไม่มีรายงานจากโรงเรียน.. ไม่มีผลงานกลับบ้าน .. ก็เลย งง ๆ (ลูกชายวัย 3 ขวบเรียนเทอมนี้เป็นเทอมที่ 2)

ที่ว่าไม่แน่ใจ ก็คือว่าระบบมันดี .. แต่ไม่แน่ใจว่าเราจะทำได้มาตรฐานหรือเปล่าค่ะ ..
เห็นด้วยว่าเป็นแนวคิดที่ดีมากๆ ถ้าสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ส่วนตัวไม่เคยคิดให้ลูกเรียนระบบนี้ค่ะ เพราะต้องการให้ลูกได้อยู่ในสังคมอื่นนอกเหนือจากที่บ้าน อยู่กับคนอื่นได้เมื่อไม่มีพ่อแม่อยู่ด้วย รู้จักปรับตัวให้ได้เมื่ออยู่ในสถานการณ์ต่างๆ
การทำโฮมสคูลจะให้ประสบผลสำเร็จ เรื่องวินัยของพ่อหรือแม่ที่ทำ ต้องมีมาก..."ท้อแท้"ได้แต่ห้าม"ท้อถอย"...และพ่อแม่ต้องอ่านมาก-ฟังมาก เพื่อพัฒนาการตัวเองให้ก้าวทันโลก และสามารถนำทฤษฏีต่างๆมาปรับใช้กับลูกตัวเองได้อย่างเหมาะสม (เพราเด็กแต่ละคนแตกต่างกัน)...เพื่อให้ลูก มีพัฒนาการที่ดี อย่างน้อยก็เท่าเทียมกับเด็กๆที่เข้าศึกษาในระบบโรงเรียน ในทุกๆด้านที่สำคัญ

ดิฉันมีเพื่อนคนหนึ่งที่ทำโฮมสคูลให้ลูกเต็มเวลา เป็นแม่ที่ทุ่มเทมาก...ลูกสาวเป็นเด็กที่มีพัฒนาการดี (ปัจจุบันอายุแค่ ๔ ขวบ) อ่านหนังสือภาษาอังกฤษได้คล่อง กล้าแสดงออก ดูเป็นเด็กฉลาดและคล่องตัว เล่นไวโอลินเก่งมาก ฯลฯ...ล่าสุด ได้รางวัลชนะเลิศการประกวดเจ้าหญิงดิสนีย์ที่เพิ่งผ่านไปเมื่อเร็วๆนี้ด้วยค่ะ...ดูเป็นเด็กที่มีความฉลาดทางอารมณ์อย่างมาก

ในอีกมุมหนึ่ง เคยเจอเด็กฝรั่งผู้ชายสองคนอายุ ๗-๘ ขวบ เป็นพี่น้องกัน อาศัยอยู่ในเมืองไทย แม่เลือกทำโฮมสคูลเพราะหารร.ที่ถูกใจไม่ได้ แม้แต่รร.นานาชาติ (เพราะต้องย้ายไปต่างปท.ทุกๆ ๓-๔ ปี) ก็ดูเป็นเด็กใสๆดี กระตือรือล้น แต่ค่อนข้างจะขาดการรู้จักกาละเทศะในบางเรื่อง เช่นอะไรควรทำ ไม่ควรทำ เรื่องมารยาท เป็นต้น...ทั้งนี้ จากที่ได้พูดคุยกัน เขาบอกดิฉันว่า แม่ไม่ได้เน้นสอนเรื่องการอ่าน-เขียนมากนัก (วันเกิดของตัวเองยังจำไม่ได้เลย) มีเรียนเลข เน้นการอ่าน แต่ยังเขียนไม่คล่อง ประมาณนี้

เลยสรุปเอาเองว่า ถ้าเป็นวัยอนุบาล การทำโฮมสคูลอย่างเดียว แบบมีประสิทธิภาพ (ดูจากตย.ของเพื่อน) สามารถทำได้ แต่คนทำต้องมี commitment อย่างมากค่ะ...ส่วนประถมและตอนโต...ยังติดเครื่องหมายคำถามอยู่เช่นเดียวกัน
เห็นด้วยระบบแบบHome school อย่างมากคะ แต่ในเมืองไทยจะน้อย เคยได้ยินเหมือนกันมีพ่อแม่บางคนทำในกล่มเล็กๆ 2-3 คนไปเรื่อยๆ เค้าเห็นว่าระบบโรงเรียนไม่ได้ทำให้ลูกของเค้าอยากเรียนเลย และมาสอนลูกโดยแบบธรรมชาติต่างๆ เด็กปรับตัวเข้าสังคมได้ดีกว่าด้วย แต่ภาวะในเศรฐกิจแบบนี้น้อยที่จะทำจริงจัง เพราะว่าพ่อแม่ส่วนใหญ่ทำงานประจำมากกว่าเป็นส่วนใหญ่ ยากที่จะวางแผนสอนลูกอยู่กับบ้านนอกจากเสาร์-อาทิตย์หรือวันหยุดต่างๆ แต่ในความคิดน่าจะเป็นไปได้คะ ส่วนตัวเคยคิดจะทำเอง โดยวิธีช่วงหลังกลับมาจากทำงาน เล่นกับลูกสอนนับเลข ไม่ต้องวางแบบตายตัวต่อวันเด็กเครียดไม่ชอบ บางวันชอบร้องเพลงส่วนใหญ่ร้องเพลงทุกวัน เสาร์-อาทิตย์ให้เล่นกับเพื่อนบ้าน เล่นไปเล่นมา ก็เปลี่ยนมาปั้นดินน้ำมัน ช่วงนี้อายุได้2.1 ขวบคะ เล่นตัวต่อต่างๆ คุยเรื่องต่างรอบตัว พาไปช๊อปปิง หัดระบานสี หัดเขียนหนังสือเองหรือเล่นเกมกับลูกที่ไม่เป็นภัย เป็นต้นตามพัฒนาการของเขาไปเรื่อย ยกเว้นเกมในคอมฯห้ามเล่นให้ลูกดูเป็นอันขาด จำได้ว่าตอนน้องกุน 1 ขวบกว่าเห็นเพื่อนๆแฟนที่ทำงานแฟนว่างๆก็เปิดคอมฯเล่นเกมน้องกุนเห็นก็เลยอยากเล่นบ้าง บอกปะป๊า เกมๆๆ ต้องควบคุมบอกลูกๆเล่นแล้วสายตาเสียคะ จากนั้นลืมไปเลย เปลี่ยนบรรยากาศพาลูกไปเล่นเต้นออกกำลังกายแทน มีอีกหลายอย่าง ยอมรับว่าแบบHom school น่าจะเหมาะมากกว่ายุคปัจจุบัน แถมประหยัดค่าใช้จ่ายแต่ละเทอมอีกด้วย อีกอย่างสร้างความสัมพันธ์พ่อแม่ลูกในครอบครัวได้ดีกว่า
ที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง อยากให้โรงเรียนยอมรับความจริงให้ผู้ปกครองประเมินโรงเรียนและตัวครูทุกคนที่มาสอนหรือประจำชั้น จะได้มีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงทั้งโรงเรียนและคัวครูด้วยคะ

RSS

--oO--

สแกนโค้ด แอดไลน์ @2pasa แล้วลุ้นของรางวัลรวมคลิปเวิร์กช็อปทั้งหมด

Events

หนังสือในชุดเด็กสองภาษา



© 2024   Created by ผู้ใหญ่บิ๊ก.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service