เว็บทั้งหมดจะย้ายไปที่ www.2pasa.com แล้วนะครับ ตามไปที่นั่นได้เลย

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ - สองภาษาดอทคอม

ปั้นลูกเป็นอัจฉริยะ...อ่านแล้วมีสาระดีเลยนำมาฝากเพื่อนๆ สมาชิกค่ะ

ปั้นลูกให้อัจฉริยะ

อยากให้ลูกอัจฉริยะ คงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ พ่อแม่จำต้องทุ่มเท ทั้งกำลังกายและใจ เพื่อลูกรัก เพื่อนำไปสู่ความเป็นเลิศ ทางปัญญา รวมถึงความเป็นมนุษย์ ที่มีความคิดสร้างสรรค์ รักเสียงเพลง รักธรรมชาติ เอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์ แล้วเราจะปั้นลูกให้สมบูรณ์แบบ ได้จริงหรือ มีเรื่องเล่า

หากพ่อแม่ไม่รู้วิธีการเลี้ยงลูกให้ถูกทาง ไม่เข้าใจการพัฒนาแต่ละช่วงวัย หนทางความเป็นอัจฉริยะในการพัฒนา อาจเปรียบเสมือนดาบสองคม เพราะความคาดหวังได้เข้ามาสร้างความกดดัน ก่อให้เกิดความเครียดแก่เด็กๆ จนกลายเป็นว่า เด็กไม่มีความสุขในชีวิต

การสร้างสรรค์เด็กอัจฉริยะแนวทางใหม่ไม่ได้ให้ความสำคัญแค่ไอคิว ยังรวมถึงการพัฒนาด้านจิตใจควบคู่ไปด้วย เด็กฉลาดจะต้องเรียนรู้ความเอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์ ความเข้าใจผู้อื่น และอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างกลมกลืน

เด็กจะไปสู่ความเป็นเลิศและดีได้ จำต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาสมองหลายๆ ด้าน...

ความลี้ลับของสมอง

สมองมนุษย์มีความซับซ้อน ไม่ต่างจากอารมณ์มนุษย์เลยทีเดียว แม้ตำรับตำราเรื่องสมองอันลี้ลับจะออกมามากมายนับไม่ถ้วน หลายคนต่างรู้ว่า การเลี้ยงดูให้ความรักเอาใจใส่ตั้งแต่แรกเกิดเป็นเรื่องสำคัญ แต่พ่อแม่หลายต่อหลายคนก็ไม่รู้วิธีการรับมือกับลูกตัวเล็กๆ หรือวัยรุ่น

?ปัญหาหลัก คือ ครอบครัวขาดความรู้ความเข้าใจในการเลี้ยงดูลูก เพื่อพัฒนาสมองอย่างถูกต้อง เราก็พยายามให้ข้อมูลด้านนี้ เพราะเด็กแต่ละวัยจะไม่เหมือนกัน? รศ.พญ.ศันสนีย์ ฉัตรคุปต์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองและจิตเวชเด็ก ผู้อำนวยการสถาบันสร้างสรรค์ศักยภาพสมอง ครีเอทีฟเบรน เล่าให้ฟัง เพื่อโยงให้เห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาสมอง

หลายคนต่างรู้ดีว่า มนุษย์มีศักยภาพมากมาย แต่นำมาใช้ในชีวิตได้เพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์? แล้วทำไมเป็นเช่นนั้น เพราะมนุษย์ไม่ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาสมองตัวเอง หรือพูดง่ายๆ ปล่อยชีวิตตามยถากรรม

แม้ความฉลาดบางส่วน จะขึ้นอยู่กับพันธุกรรม แต่ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ หากครอบครัวเข้าใจให้การเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม และให้โอกาสเด็กๆ ได้เรียนรู้ตามศักยภาพ แม้บางครอบครัวจะไม่ได้ร่ำรวย ลูกๆ ก็สามารถเป็นเด็กฉลาดได้เพียงแค่สองมือพ่อและแม่ ค่อยๆ ช่วยกันปั้น

ก็เพราะมนุษย์สามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ก็ตาม หากมนุษย์ไม่ยอมจำนงต่อสภาพสังคม กล้าเดินออกนอกกรอบ กล้าทำในสิ่งที่ตัวเองฝัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องมาจากรากฐานที่แข็งแรงในวัยเด็ก

การพัฒนาตั้งแต่เยาว์วัย จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เด็กๆ สามารถเรียนรู้สิ่งรอบตัวได้ง่ายและรวดเร็ว โดยพ่อแม่ต้องคอยสังเกต ลองให้ทำกิจกรรมหลายๆ รูปแบบ แล้วดูว่า เด็กชอบอะไรเป็นพิเศษ

มาลองพิจารณา...ความสำคัญของสมองซึ่งประกอบไปด้วยเซลล์กว่า 1 แสนล้านเซลล์ แต่ละเซลล์จะมีส่วนยื่นเป็นเส้นใย สมองแตกแขนงมากมายเป็นพันๆ เส้นใยเชื่อมต่อกับเซลล์สมองอื่นๆ เส้นใยสมองพวกนี้เรียกว่า แอกซอน (axon) และเดนไดรท์ (dendrite) โดยมีจุดเชื่อมต่อใยสมอง เรียกว่า ซีนแนปส์ (synapses)

การเชื่อมต่อโยงใยของสมองกับส่วนต่างๆ คือ ความมหัศจรรย์ทำให้มนุษย์สามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ สมองบางส่วนยังมีหน้าที่เก็บรวบรวมความจำทั้งระยะสั้น และระยะยาว โดยมนุษย์สามารถเรียนรู้เรื่องราวมากมายในช่วงแรกเกิดจนถึง 4 ขวบ จากนั้นการเรียนรู้เรื่องราวอื่นๆ จะดำเนินต่อไปในลักษณะของการพัฒนาจากข้อมูลที่เป็นแก่นแกนนั้นๆ

?เด็กเกิดมาโดยมีรากเหง้าแห่งความเป็นอัจฉริยะอยู่ในตัวทุกคน ถ้าสภาวะของสมองเป็นปกติ ไม่มีการเสียหาย หรือถูกทำลาย? โทนี บูซาน นักจิตวิทยาชาวอังกฤษ เล่าไว้อย่างน่าสนใจ

นักจิตวิทยาคนนี้ เห็นว่า ถ้าให้เด็กฝึกฝนพัฒนาประสบการณ์ ตั้งแต่ต้นโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยให้เด็กฝึกฝนทักษะต่างๆ มากเท่าที่เขาต้องการ ด้วยสภาพร่างกายที่เป็นอิสระมากที่สุด ทั้งมือและเท้าเป็นอิสระ สามารถคลานหรือเคลื่อนไหวปีนป่ายได้มากๆ ปล่อยให้เด็กได้มีโอกาสเรียนรู้แบบลองผิดลองถูก

นั่นแหละได้กระตุ้นสมองเด็ก เพื่อนำไปสู่ความเป็นอัจฉริยะ เพราะช่วงวัยนั้นๆ สมองควรได้รับการกระตุ้นเต็มที่เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ แต่กลายเป็นว่า ช่วงวัยดังกล่าวถูกเลี้ยงดูตามมีตามเกิด ทั้งๆ ที่ช่วงอายุ 0-3 เดือน สมองของเด็กกำลังพัฒนาสร้างใยประสาทจำนวนมหาศาล ยิ่งมีใยประสาทมาก ยิ่งมีความฉลาด

คุณหมอศันสนีย์ บอกว่า ถ้าเด็กได้รับข้อมูลจากโลกภายนอก มีการกระตุ้นได้เห็น ได้ยินเสียง จะทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าในใยประสาท แต่ถ้าไม่มีการกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง 5 ใยประสาทก็ไม่มีข้อมูล พอเด็กโตขึ้นเรื่อยๆ ใยประสาทก็จะค่อยๆ สลายตัว เพราะสมองมีใยประสาทน้อยสติปัญญาก็จะไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร

?จริงๆ แล้ว พื้นฐานการเลี้ยงลูกให้เป็นอัจฉริยะ ควรเริ่มตั้งแต่ในท้องแม่ ดูแลตั้งแต่เรื่องอาหารและจิตใจของแม่ เรื่องนี้สำคัญมาก อย่างคุณแม่คนหนึ่งเลี้ยงลูกโดยไม่ให้ดูทีวีเลย เธอจะพูดคุยกับลูกตลอดเวลา พออายุลูกได้ 2 ปีให้ดูวิดีโอสอนภาษาอังกฤษเพียงวันละ 15 นาที เวลาพาลูกไปไหน คุณแม่ก็จะชี้ชวนให้ลูกดูนั่น ดูนี่ คุณแม่รายนี้มีปฏิสัมพันธ์กับลูกตลอดเวลา เด็กก็พูดภาษาอังกฤษได้ และมีงานวิจัยบางส่วนเขียนไว้ว่า การที่คุณแม่มีปฏิสัมพันธ์กับลูก เด็กจะฉลาด ได้เรียนรู้เรื่องต่างๆ รวมถึงเรื่องจริยธรรมด้วย?

อัจฉริยะเริ่มตั้งแต่ทารก

การพัฒนาให้เด็กฉลาดตามขั้นตอน ไม่จำเป็นต้องยัดเยียดความรู้ ควรให้เรียนรู้ในช่วงวัยอันเหมาะสม เด็กแรกเกิดจนถึง 4 ปี ควรปล่อยให้เรียนรู้ตามธรรมชาติ โดยมีพ่อแม่ช่วยกระตุ้นพัฒนาสมอง ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของชีวิตที่หลายคนอาจมองข้าม

?จริงๆ แล้วไอคิว หรือความฉลาดสร้างได้ แต่ฉลาดอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีบุคลิกภาพและมนุษยสัมพันธ์ แก้ปัญหาได้ และต่อสู้กับอุปสรรคในชีวิตได้ เป็นที่รู้กันว่า ความฉลาดก็มีหลายด้าน ทั้งเรื่องความคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ ดนตรี ศิลปะ?

ความฉลาดสร้างได้ในความหมายของคุณหมออารมณ์ดี ก็คือ เด็กปกติก็สามารถพัฒนาให้ฉลาด หรือเด็กอัจฉริยะอยู่แล้ว ก็ควรได้รับการส่งเสริมกระตุ้นให้เรียนรู้มากขึ้น

คุณหมอยกตัวอย่างเด็กวัย 4 เดือนแรก จะสามารถมองเห็นได้ระยะสั้นๆ เพียง 6-12 นิ้ว เวลาคุณแม่ให้นมลูกมักจะอุ้มไว้ทางซ้ายมือ เพราะหัวใจคุณแม่อยู่ด้านซ้าย การที่ลูกได้ยิน ได้ฟัง การเต้นของหัวใจแม่ ก็เป็นสัญชาตญาณแสดงความรักความอบอุ่น ยิ่งเวลาให้นมลูกคุณแม่ควรจ้องตาลูกแล้วยิ้ม สายตาลูกก็จะเบิกบานตามไปด้วย

"การได้เห็น ได้ฟังเสียงหัวใจแม่ เด็กได้สัมผัสไออุ่นจากแม่ ก็เป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นสมองในการสร้างใยประสาทในช่วงวัยแรกๆ ของชีวิต อย่างเด็กสองขวบ เริ่มเรียนรู้ภาษา เราต้องเลือกโปรแกรมดูทีวีให้ลูกๆ ถ้าจะให้ลูกๆ ดูทีวีควรสอนไปด้วย ไม่ควรปล่อยเด็กไว้กับทีวี ถ้าเลี้ยงมาดี ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 3-4 ขวบ พอเด็กเข้าโรงเรียน ก็จะต่อยอดได้เลย?

กระบวนการเลี้ยงลูกให้ฉลาด จำต้องเข้าใจวิธีการสัมผัสกระตุ้นเด็กอย่างถูกวิธี ไม่ต้องดูอื่นไกลเสียงพูดของคุณแม่ หรือคนรอบข้าง ก็สามารถทำให้ก้านใยประสาทของเด็กทำงานเก็บข้อมูลเรียนรู้ไว้ในสมอง เด็กจะจำใบหน้าและกลิ่นของแม่ได้เสมอ

เรื่องง่ายๆ ที่คุณแม่บางคนอาจละเลย บางครอบครัวพยายามบังคับให้เด็กเขียนตัวหนังสือในช่วงวัยที่ไม่เหมาะ อย่างเด็กอายุ 2-3 ปียังไม่สามารถบังคับมือได้ ซึ่งบางครั้งพ่อแม่ไม่เข้าใจ อยากให้เรียนรู้เร็วๆ จึงก่อให้เกิดความเครียดกับเด็กๆ

?พ่อแม่บางคนไม่เข้าใจลูก ลูกถามนั่น ถามนี่ ก็ไม่อธิบาย ไม่ตอบลูก ทั้งๆ ที่ลูกกำลังเรียนรู้ เรื่องแบบนี้ต้องอธิบายให้เด็กเข้าใจด้วยภาษาง่ายๆ ถ้าไม่บอกเด็ก เด็กก็ไม่รู้ หรืออาจใช้วิธีการตั้งคำถามกระตุ้นให้เด็กคิด? คุณหมอ ย้ำถึงวิธีการกระตุ้นสมอง

รู้ไหม...ลูกอัจฉริยะ

บางคนอาจไม่รู้ว่า ลูกเป็นอัจฉริยะ จึงไม่ได้รับการส่งเสริมให้เรียนรู้ตามความสนใจของเขา การตรวจไอคิวก็เป็นส่วนหนึ่ง เพื่อจะได้รู้ว่า เด็กมีความฉลาดหรือไม่ เด็กอัจฉริยะมักมีไอคิวมากกว่า 100 ซึ่งพ่อแม่หรือคุณครูบางคนอาจไม่เข้าใจความอัจฉริยะของเด็ก กลายเป็นว่าเด็กมีปัญหาในการอยู่ร่วมกับสังคม

ยกตัวอย่างเด็กไอคิวสูงสองคน คุณแม่ไม่ขอเปิดเผยชื่อ เพราะเกรงว่า เด็กจะมีปัญหาในการอยู่ร่วมกับสังคม เธออยากให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตเหมือนเด็กปกติทั่วไป

เธอเล่าถึงลูกสาววัย 5 ขวบ และ 3 ขวบ คนโตชอบวาดรูปและดนตรี เราก็สนับสนุนด้านนี้ ลูกสาวคนโตความจำดีมาก แค่เห็นรุ่นพี่เล่นเกมครั้งเดียว ก็กลับมาเล่นที่บ้านได้ หรือเพลงเก่าๆ ที่เขาได้ยินเวลาคุณยายเปิดให้ฟังไม่กี่ครั้ง ก็สามารถร้องตามได้เลย

?ลูกสาวคนโต แค่ได้ฟังคนอื่นเล่าเรื่องครั้งหรือสองครั้งก็จำได้ หรือน้องคนเล็กจะบวกเลขสองหลักได้ทันที เคยพาลูกมาให้คุณหมอทดสอบไอคิว คุณหมอบอกให้ลูกเขียนอะไรก็ได้ในกระดาษ ลูกก็เขียนคำพูดที่คุณหมอพูดไปแล้ว หรือคุณหมอบอกให้บวกเลข ลูกคนเล็กจะขอตั้งโจทย์เอง เวลาไปไหนด้วยกัน ถ้าคุณแม่มีเวลา ลูกก็จะให้คุณแม่ตั้งโจทย์เลขให้ แต่คนเล็กจะแปลก คือ ไม่ชอบเล่นกับเด็กวัยเดียวกัน?

ระหว่างการพูดคุย เด็กทั้งสองกำลังวิ่งเล่นอย่างสนุกสนาน คุณแม่เล่าต่อว่า ลูกสาวสองคนส่อแววอัจฉริยะ ลูกคนเล็กจะอ่านหนังสือได้แล้ว เราจะไม่เลี้ยงตามใจเกินไป จะไม่ดุลูกเราจะพูดคุยด้วยเหตุผล ถ้าลูกไม่ฟัง ร้องไห้ก็จะเดินหนี ถ้าลูกทำผิด จะตีลูกในบางครั้ง และบอกเหตุผลว่า ตีเขาเพราะอะไร ไม่อยากให้ลูกเอาไปคิดมาก

คุณหมอศันสนีย์ เล่าถึงเด็กอัจฉริยะรายอื่นๆ ให้ฟังว่า บางคนพอรู้ว่าเป็นเด็กอัจฉริยะ มักจะมีความคาดหวัง เราอยากให้เด็กอยู่ร่วมกับสังคมอย่างปกติ เพราะคุณครูบางคน พอรู้ว่าเป็นเด็กอัจฉริยะ มักจะไม่ค่อยกล้าสอน เราไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นอีก

?เด็กบางคนมีความเป็นอัจฉริยะ แต่พ่อแม่ไม่เข้าใจ จึงไม่มีโอกาสในการเรียนรู้ พ่อแม่สมัยนี้ชอบปล่อยลูกไว้กับทีวี หรือวิดีโอ เด็กอัจฉริยะบางคนเบื่อโรงเรียน พอมาตรวจสอบและพูดคุย คุณหมอก็เลยรู้ว่า เด็กบางคนไม่อยากไปโรงเรียน เพราะไม่อยากแค่ลากเส้นต่อจุด กิจกรรมแบบนี้เด็กทำได้แล้ว เขาอยากทำอย่างอื่นมากกว่า?

ยิ่งปัจจุบันมีงานวิจัย เผยว่า เด็กไทยส่วนใหญ่ไอคิวต่ำ คุณหมออธิบายถึงสาเหตุ เพราะครอบครัวไม่เข้าใจการพัฒนาสมองและอารมณ์ รวมถึงกระบวนการเรียนรู้ในระบบโรงเรียน ไม่ได้ช่วยให้เด็กเกิดความคิดสร้างสรรค์ เด็กๆ ถูกสอนให้จำเหมือนซีดี-รอม เขามีข้อมูลจำนวนมากแต่ไม่สามารถนำไปใช้ได้ เด็กๆ วิเคราะห์ไม่เป็น ทั้งๆ ที่เด็กไทยมียีนดีๆ อยู่ในตัว แต่ขาดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

?บางคนไม่รู้ว่า การทิ้งลูกไว้กับทีวีทั้งวัน โดยไม่พูดคุย หรือกระตุ้นลูกเลยจะมีผลต่อไอคิว หมอคิดว่าพ่อแม่ยังขาดความเข้าใจเรื่องนี้ พ่อแม่รักลูกทุกคน แต่ไม่รู้จะเลี้ยงลูกอย่างไร ถ้ารู้คงไม่ทำแบบนี้ ปัญหาคือ ไม่มีความรู้ หมออยากยกตัวอย่าง เด็กคนหนึ่งอายุ 4 ขวบเรียนอิเล็กโทนไม่กี่ครั้ง ก็เล่นได้เหมือนมืออาชีพ แบบนี้เรียกพรสวรรค์

หมอคิดว่า ควรให้เขาทำในสิ่งที่เขาชอบ ไม่ควรกดดันเด็ก ถ้าเด็กถูกกดดัน จะไม่มีความสุข อีกอย่างเด็กอัจฉริยะไม่ได้จำกัดเฉพาะพ่อแม่ที่มีคนมีฐานะ หมอเคยเจอเด็กชนบทอายุ 2-3 ปี คุณแม่คุณพ่อไม่ได้สนับสนุนเท่าไหร่ แต่อ่านภาษาอังกฤษได้หมด ที่สำคัญคือ เห็นแววแล้วต้องรีบส่งเสริมและให้โอกาส"

โอกาสง่ายๆ ในการสนับสนุนเมื่อเห็นแววฉลาดทางดนตรีของลูก คุณหมออธิบายว่า ถ้าพ่อแม่มีรายได้จำกัด อาจให้ลูกเล่นดนตรีพื้นบ้าน ถ้าเป็นเด็กเล็กก็ใช้วิธีหาอุปกรณ์ในครัวเรือนง่ายๆ มาทำเสียงดนตรีให้เล่น ไม่ต้องซื้อหาเครื่องดนตรีราคาแพงๆ ก็ได้

ไม่ต้องดูอื่นไกล งานวิจัยชิ้นหนึ่งรายงานผลการศึกษาการทำงานของสมองเด็กอัจฉริยะทางดนตรีกับสมองเด็กทั่วไป ใช้วิธีศึกษาการไหลเวียนของเลือดที่หล่อเลี้ยงสมอง ให้นักดนตรีอัจฉริยะบรรเลงตามอารมณ์ของเพลง โดยไม่ใช้นิ้วแตะเครื่องดนตรีเลย หลังจากถ่ายรูปสมองออกมา ปรากฏว่า สมองส่วนที่สั่งให้นิ้วขยับกับสมองส่วนการได้ยินเสียงเพลงมีเลือดไหลเวียนทั้งสองส่วน

ต่างจากสมองของนักดนตรีธรรมดาๆ สมองส่วนที่สั่งให้นิ้วขยับ เลือดมีการไหลเวียน แต่เลือดไม่ได้ไหลเวียนในสมองส่วนการได้ยินเสียงเพลง เพราะเขาไม่ได้ยินเสียงเพลงในสมองเหมือนนักดนตรีอัจฉริยะ

เลี้ยงลูกให้ฉลาดและดี

เป็นที่น่าสังเกตว่า คนฉลาดใช่ว่าจะทำงานได้ดี บางคนมีความเก่งและฉลาดเชี่ยวชาญในบางเรื่อง แต่ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน หรือคนรอบข้างอาจเป็นได้ว่า ชีวิตถูกพัฒนามาเฉพาะสมองอย่างเดียว ทั้งๆ ที่การพัฒนาอารมณ์และสังคมเป็นเรื่องสำคัญ แต่ไม่ได้รับการเหลี่ยวแล

คุณหมอศันสนีย์ บอกว่า ถ้าฉลาดและเก่งอย่างเดียว แต่เห็นแก่ตัว เข้ากับคนอื่นไม่ได้ ก็ไม่สามารถก้าวหน้าเท่าที่ควร บางคนประสบความสำเร็จ แล้วทำประโยชน์ให้สังคม โดยไม่หวังประโยชน์ใดๆ นั่นเป็นเรื่องดี

ดังนั้น ควรสอนให้เด็กรับผิดชอบงานบ้านในครอบครัวจนกลายเป็นหน้าที่ เพื่อให้เขารู้จักความรับผิดชอบส่วนอื่นๆ ในชีวิตมากกว่าตัวเอง ไม่ว่าจะการล้างจาน เก็บขยะ รดน้ำต้นไม้และให้อาหารสุนัข ฯลฯ

?ถ้าจะให้ลูกๆ ทำงานบ้าน พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่าง ชักชวนให้ทำด้วย ต้องเริ่มจากความคิดแง่บวก พอเริ่มให้เด็กรับผิดชอบบางอย่าง ถ้าเขายังเด็กมากๆ เรารู้อยู่แก่ใจว่า เด็กๆ ยังทำงานบ้านไม่ดีนัก ก็ไม่ควรตำหนิ ไม่ควรคาดหวังว่าจะทำได้ดีเหมือนผู้ใหญ่ ถึงเด็กจะทำออกมาไม่ดีก็ชมบ้าง เพื่อให้เด็กรู้จักความรับผิดชอบ ไม่ใช่พูดไปก่อนว่า ห้ามทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ไม่บอกเหตุผลว่า ห้ามทำเพราะอะไร ถ้าติเด็กมากๆ เด็กจะไม่ค่อยอยากทำอะไรเลย เด็กจะขาดความมั่นใจ"

ดูเหมือนว่า การปรับพฤติกรรมเพื่อให้เข้ากับสังคม มีความรับผิดชอบส่วนอื่นๆ ในครอบครัว กลายเป็นรายละเอียดที่บางครอบครัวมองข้าม บางครอบครัวให้เด็กๆ มีหน้าที่เรียนหนังสืออย่างเดียว หากไม่สอนให้รู้จักชีวิตหลายๆ ด้าน ถ้าฉลาดอย่างเดียว เขามักจะนึกว่า ตัวเองเลิศกว่าคนอื่น และเติบโตเป็นเด็กที่คิดว่า ตัวเองเก่ง ไม่ฟังความคิดเห็นคนอื่น ดูถูกคนอื่น พฤติกรรมที่แสดงออกมาก็ไม่น่ารัก ไม่มีใครอยากเข้าใกล้

?ในห้องเรียน หมอไม่อยากให้จัดอันดับว่า ใครได้ที่หนึ่ง หรืออันดับสุดท้าย จริงๆ แล้วเรื่องการวัดคะแนนก็ควรมี เราควรให้คนเรียนเก่งช่วยเหลือคนเรียนอ่อน และควรมีคะแนนมนุษยสัมพันธ์ ส่วนการติวเพื่อสอบอย่างเดียว หมอไม่เห็นด้วย เพราะเท่าที่เห็นคนที่มีความสามารถ ส่วนใหญ่มักเป็นพวกนอกกรอบ?

การคิดนอกกรอบ นั่นไม่ได้หมายถึงว่า เขาผิดปกติจากเด็กคนอื่นๆ ในเมื่อมนุษย์สามารถคิดต่าง คิดแปลก และคิดหลุดโลกได้ เพียงแต่เขาต้องคิดอย่างสร้างสรรค์

?บางครั้งต้องให้เด็กคิดออกนอกตำราบ้าง คุณครูควรเอาสถานการณ์จริงในปัจจุบันมาพูดคุยให้เด็กวิเคราะห์ ไม่ใช่ให้แค่ความรู้ในกรอบ เพราะโลกเดี๋ยวนี้ไปถึงไหนแล้ว?

เด็กจะฉลาดและดีได้ มีหลายปัจจัยที่สำคัญทั้งพื้นฐานครอบครัว ระบบการศึกษา รวมถึงสื่อเทคโนโลยีก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ในสังคมบ้านเรา ยังไม่มีการจัดเรทติ้งว่า รายการไหนไม่เหมาะกับเด็ก คุณหมออยากให้สอนการวิเคราะห์การดูสื่อให้แก่เด็กๆ

"ครูและเด็กมีเวลานั่งชมหนัง ละคร การ์ตูน หรือข่าวสาร อย่างใดอย่างหนึ่งด้วยกัน จากนั้นนำเรื่องราวที่ชมมาวิเคราะห์ว่า ส่วนหนึ่งดีหรือไม่ดี ไม่เหมาะสมอย่างไร ส่วนไหนสอนจริยธรรม เด็กๆ ควรได้คิดและไตร่ตรองโดยมีผู้ใหญ่เป็นผู้ชี้แนะ"

Views: 18373

Reply to This

Replies to This Discussion

ขอบคุณสำหรับสิ่งดีๆ ที่นำมาแบ่งปันนะคะ
น่าสนใจจริง ๆ

ขอบคุณสำหรับสิ่งดี ๆ ครับ
ขอบคุณสำหรับสิ่งดีที่นำมาฝากค่ะ

ประโยชน์มากเลย
ขอบคุณมากครับ ผมได้ประโยชน์และความรู้มากมายจริงๆ
ช่วยเตือนสติได้มากค่ะ
ขอบคุณค่ะ
โห ... ยาวซะ ... แต่ก็อ่านจบจนได้

ขอบคุณบทความดี ๆ ที่นำมาแบ่งปันกันครับ
ขอบคุณสำหรับบทความดี - ดี ค่ะ
อืม..ยาวดี และมีประโยชน์จริงๆ ค่ะ ขอบคุณค่ะ

RSS

--oO--

สแกนโค้ด แอดไลน์ @2pasa แล้วลุ้นของรางวัลรวมคลิปเวิร์กช็อปทั้งหมด

Events

หนังสือในชุดเด็กสองภาษา



© 2024   Created by ผู้ใหญ่บิ๊ก.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service